x close

คำแนะนำการช่วยเหลือ-สัญญาณเตือน รู้ได้อย่างไร..ใครเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย


            เผยบทความคำแนะนำการช่วยเหลือผู้มีความ "เสี่ยง" ต่อการฆ่าตัวตาย ที่รับรองโดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย บอกถึงสัญญาณเตือน วีธีการเข้าช่วยเหลือ รวมถึงการดูแลจิตใจทั้งของคนที่พยายามฆ่าตัวตายและผู้ช่วยเหลือ เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือและป้องกันความสูญเสีย...
คำแนะนำการช่วยเหลือ-สัญญาณเตือน รู้ได้อย่างไร..ใครเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

            ปัจจุบันข่าวการฆ่าตัวตาย เกิดขึ้นในสังคมไทยแทบทุกวัน บางคนเครียดจากการเรียน บางคนผิดหวังจากความรัก หรือได้รับความกดดันจากภาระหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งปัญหาของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป สาเหตุที่ทำให้คนเราตัดสินใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าไม่มีคนเข้าใจ ไม่มีใครอยู่ข้าง ๆ ในวันที่โลกทั้งใบเหมือนจะแตกสลาย หรืออาจคิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น จึงใช้วิธีนี้จบชีวิตเพื่อตัดปัญหา...

            ทว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนรอบตัวกำลังมีความเสี่ยง แล้วจะมีวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีผู้พยายามฆ่าตัวตาย วันนี้ (18 มีนาคม 2562) กระปุกดอทคอม ขอนำเสนอบทความคำแนะนำของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล ที่รับรองโดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นบทความเกี่ยวกับแนวทางการรับมือ การช่วงเหลือเบื้องต้น รวมถึงการดูแลจิตใจของคนที่พยายามฆ่าตัวตายและของคนที่เข้าช่วยเหลือ ซึ่งประกอบด้วย

คำแนะนำการช่วยเหลือ-สัญญาณเตือน รู้ได้อย่างไร..ใครเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

            สัญญาณเตือน

            ผู้ที่มีลักษณะเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการฆ่าตัวตายแน่นอน แต่เป็นสิ่งบอกว่าเขาเหล่านี้มีความทุกข์ทรมานใจที่ต้องการความใส่ใจอย่างจริงจัง

            - มีอาการซึมเศร้า นิ่งเฉย ไม่สนใจสิ่งรอบตัว
            - แยกตัวจากเพื่อนฝูง พี่น้อง ครอบครัว
            - พูด เขียน เกี่ยวกับเรื่องความตาย
            - พูดถึงความท้อแท้สิ้นหวัง
            - พูดว่าทุกข์ทรมานมาก หรือตนเองเป็นปัญหา ภาระแก่คนอื่น
            - พูดเป็นนัย เช่น ทนไม่ไหวอีกแล้ว เดี๋ยวปัญหาก็จบแล้ว
            - เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว
            - มีการสั่งเสีย พูดลา หรือมอบสิ่งของให้ผู้อื่น

คำแนะนำการช่วยเหลือ-สัญญาณเตือน รู้ได้อย่างไร..ใครเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

            การช่วยเหลือเบื้องต้น

            1. ไม่รีบให้คำแนะนำ หรือบอกว่าอย่าคิดอย่างนี้ หรือหาเหตุผลมาแย้งว่าเขาคิดผิด ซึ่งจะยิ่งทำให้เขายิ่งไม่อยากเล่า

            2. ถามความคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย อย่ากลัวที่จะถาม การถามไม่ได้กระตุ้นให้เขาคิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ระบายความรู้สึก อาจเริ่มด้วย "เคยมีความคิดไม่อยากอยู่หรืออยากไปให้พ้น ๆ ไหม" เขาคิดบ่อยไหม คิดจะทำอย่างไร

            3. ให้เขารับรู้ว่าเราพร้อมที่จะช่วยเขาตลอดในช่วงนี้

            4. ถ้าไม่ได้อยู่กับเขา บอกเขาว่าเราจะหมั่นโทรศัพท์มาเช็ก ถ้าเขารู้สึกไม่สบายใจให้รีบโทรศัพท์มาหาเราได้ทันที

            5. หากดูเขาซึมเศร้า หรือพูดคุยแล้วยังไม่ดีขึ้น ชักชวน แนะนำให้เขาพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการช่วยเหลือต่อไป

            6. หากดูเขามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง เช่น ซึมเศร้าหมดหวัง ปัญหารุนแรง ให้โทรศัพท์ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือพาเขาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

คำแนะนำการช่วยเหลือ-สัญญาณเตือน รู้ได้อย่างไร..ใครเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย


            การดูแลจิตใจตนเองของผู้ช่วยเหลือ

            1. หลังให้การช่วยเหลือ เราอาจรู้สึกเครียด หดหู่ ท้อแท้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่พบได้ในผู้ให้การช่วยเหลือ

            2. แม้ว่าปัญหาของเขา เราอาจแก้ไขให้ไม่ได้ แต่เราช่วยคลายทุกข์เขาได้

            3. หลังการพูดคุยช่วยเหลือแล้ว หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ ไม่จมอยู่กับปัญหาของเขา

            4. หากรู้สึกตึงเครียด คิดวนอยู่กับปัญหาของเขา ให้พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือปรึกษาหน่วยบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์

            5. คนใกล้ชิดอาจรู้สึกตกใจ เสียใจ ผิดหวัง รู้สึกผิด ขุ่นเคือง ถอยห่าง ฯลฯ ให้ตระหนักถึงความรู้สึกที่เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้กระทำ ซึ่งเกิดจากความคาดหวังต่าง ๆ ของตน หากเห็นว่าไม่สามารถก้าวข้ามตรงนี้ได้ ให้ปรึกษาผู้อื่นเพื่อให้การช่วยเหลือ


            การดูแลช่วยเหลือหลังจากมีการพยายามฆ่าตัวตาย

            1. หากเขาเพิ่งทำ ควรมีคนอยู่กับเขาใกล้ชิดตลอดเวลา อย่าด่วนคลายใจเมื่อเขาบอกว่าดีแล้วไม่คิดทำอีกแล้ว พบบ่อยว่าความเสี่ยงต่อการทำซ้ำจะสูงในช่วง 2-3 วันแรกหลังทำ

            2. เก็บของมีคม หรือสิ่งของที่เห็นว่าเขาอาจใช้ทำร้ายตัวเองได้

            3. แม้การอยู่ใกล้ชิดจะไม่สามารถป้องกันการทำซ้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น เรายังสามารถช่วยเหลือเขาได้ทันท่วงที

            4. ในผู้ที่ได้พบแพทย์หรือรับการช่วยเหลือแล้ว คอยดูแลให้เขาไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการรักษา


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก บทความโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำแนะนำการช่วยเหลือ-สัญญาณเตือน รู้ได้อย่างไร..ใครเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย อัปเดตล่าสุด 16 เมษายน 2563 เวลา 11:47:32 23,679 อ่าน
TOP