สรุปทุกประเด็นคำถาม โรค COVID-19 เคลียร์ให้หายข้องใจจะได้ไม่สับสน

          COVID-19 ป้องกันได้ด้วยหน้ากากอนามัยจริงไหม ป่วยแล้วอาการจะเป็นยังไง กรณีไหนเข้าข่ายที่ต้องกักตัว อัปเดตประเด็นโรค COVID-19 ต่าง ๆ ได้เลย
          ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ก็มีประเด็นสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับโรค COVID-19 เกิดขึ้นมากมาย และนำไปสู่การหาคำตอบแบบที่เป็นข่าวปลอมบ้าง ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนมาบ้าง ดังนั้น เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะไปกันใหญ่ เราได้รวบรวมคำถามยอดฮิต พร้อมคำตอบมาให้ตรงนี้แล้ว
โควิด

ข้อมูลทั่วไปของ COVID-19

1. ไวรัสโคโรนา คืออะไร

          ไวรัสโคโรนา เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจในคน โดยไวรัสชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเป็นเชื้อที่มีมานานกว่า 50-60 ปีแล้ว เชื้อไวรัสโคโรนามีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรง เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา แต่ก็มีไวรัสโคโรนาบางสายพันธุ์ที่ก่ออาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้ เช่น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส หรือไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ที่เคยเป็นโรคระบาดมาก่อน

          จนกระทั่งในปลายปี 2019 ก็เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้พบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบการระบาดมาก่อน จึงมีการเรียกชื่อไวรัสตัวนี้ว่า ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยภายหลังก็ได้มีการเรียกชื่อไวรัสตัวนี้ใหม่อย่างเป็นทางการ ว่า SARS-CoV-2  หรือ 2019-nCoV และทาง WHO ก็ได้ประกาศชื่อโรคอย่างเป็นทางการ ว่า COVID-19 ซึ่งย่อมาจาก CO : Corona, VI : Virus, D : Disease และ 19 ซึ่งก็คือปี 2019 ปีที่เริ่มต้นระบาดนั่นเอง
ไวรัสโคโรน่า

2. COVID-19 ต่างจาก โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส อย่างไร

          จริง ๆ แล้ว ทั้ง 3 โรคเกิดจากไวรัสโคโรนาเหมือนกัน อาการจึงจะเกิดในระบบทางเดินหายใจคล้าย ๆ กัน แต่ถึงแม้จะเป็นไวรัสตัวเดียวกัน ทว่าก็เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ ดังนั้น ความรุนแรงของโรคก็จะต่างกัน

          โดยความรุนแรงของโรคซาร์สทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10% โรคเมอร์ส อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 30% ส่วนโรค COVID-19 เป็นโรคใหม่ที่ยังควบคุมไม่ได้ในตอนนี้ จึงยังไม่ทราบข้อมูลความรุนแรงของโรคที่แน่ชัด แต่จากสถิติผู้เสียชีวิตจนถึงเดือนธันวาคม 2020 ก็พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2-3% โดยประมาณ

3. COVID-19 ระบาดมาจากไหน

ไวรัสโคโรน่า

         ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 น่าจะเกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์ในตลาดสดอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งจากพฤติกรรมของไวรัส คาดว่าน่าจะเกิดมาจากงู โดยเชื้อส่งผ่านจากค้างคาวมาสู่งู และงูไปยังมนุษย์ ทั้งนี้ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ เกิดตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2019 เป็นต้นมา แต่วินิจฉัยโรคได้หลังปีใหม่ ก่อนจะถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จในวันที่ 11 มกราคม 2020

4. ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ติดต่อทางไหน แพร่จากคนสู่คนได้อย่างไร

          เกิดจากการสูดดมเอาละอองฝอยในอากาศที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป กล่าวคือ หากร่างกายสูดดมเอาละอองฝอยจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อก็จะสามารถรับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายได้ เช่นเดียวกันกับการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ อุจจาระ หรือไปสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ แล้วเอามือมาจับของกินเข้าปาก ถูหน้า ขยี้ตา ก็อาจจะติดเชื้อไวรัสก่อโรค COVID 19 ได้เหมือนกัน

          ทั้งนี้ อัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ พบว่า ผู้ติดเชื้อ 1 ราย สามารถแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้อีก 2-6 ราย โดยเฉลี่ย

5. COVID-19 รับเชื้อแล้วป่วยทันทีเลยไหม

          ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสโคโรนาจะอยู่ที่ประมาณ 14 วัน แต่มีช่วงเวลาแสดงอาการระหว่าง 0-24 วัน และก็มีบางเคสที่ใช้เวลาถึง 27 วัน ในการแสดงอาการป่วย อย่างไรก็ตาม ในบางคนที่ภูมิต้านทานแข็งแรง แม้รับเชื้อไปแล้วก็อาจไม่มีอาการป่วยเลย
ไวรัสโคโรน่า

6. COVID-19 อาการเป็นอย่างไร

          อาการโคโรนาไวรัสจะคล้าย ๆ กับไข้หวัดทั่วไป โดยจะมีไข้สูง ไอ จาม มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย สูญเสียการได้กลิ่นและรับรสชั่วคราว แต่หากเป็นมากก็อาจมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ท้องเสีย อาเจียน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการปอดอักเสบ (Pneumonia) ซึ่งความรุนแรงของอาการก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย เช่น ความแข็งแรงของภูมิต้านทานโรค จำนวนเชื้อที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย รวมไปถึงระยะเวลาที่ได้รับเชื้อไวรัส

          อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 อาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการชัดเจนเลยก็ได้ ซึ่งในเคสนี้ก็ถือว่าเป็นพาหะของโรค ฉะนั้นหากคนที่เป็นพาหะไปไอ จาม หรือละอองฝอยจากน้ำลายกระเด็นไปติดตามวัตถุต่าง ๆ เช่น ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟต์ หรือพื้นผิวอื่น ๆ ที่ง่ายต่อการสัมผัสต่อ ก็อาจส่งเชื้อให้คนอื่น ๆ ได้

7. ติดเชื้อไวรัสโคโรนา จำเป็นต้องมีไข้เสมอไปหรือไม่ ?

          ไม่จำเป็น ผู้ติดเชื้อบางคนอาจไม่มีไข้ในช่วงแรก ดังนั้นจึงควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการทางเดินหายใจอื่น ๆ และไปพื้นที่เสี่ยง หรือสัมผัสบุคคลกลุ่มเสี่ยงมาก่อนหรือไม่

8. COVID-19 อันตรายแค่ไหน ป่วยแล้วเสียชีวิตไหม

          อย่างที่บอกว่าความรุนแรงของโรค COVID-19 ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยจากสถิติแล้ว พบว่า ผู้ติดเชื้อประมาณ 80-95% จะมีอาการไม่รุนแรง ส่วนอีก 5-20% พบว่ามีอาการปอดอักเสบ ไข้ ไอ หอบเหนื่อย และอีกประมาณ 2-3% ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่มีผู้รักษาหายแล้วเฉลี่ย 56% ดังนั้น เมื่อติดเชื้อแล้วจึงมีโอกาสหายสูงกว่าเสียชีวิต

9. ติดเชื้อแล้วเป็นอันตรายต่อปอดแค่ไหน ?

          จริง ๆ แล้วโรคนี้มีผู้ติดเชื้อประมาณ 80% ที่เชื้อไม่ลงปอด เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น แพทย์จะรักษาตามอาการ และมีโอกาสหายป่วยสูง

        ส่วนผู้ป่วยที่มีเชื้อลงปอด จะมีประมาณ 20% แต่เมื่อลงปอดไปแล้วจะก่อความรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานร่างกายของแต่ละคนด้วย ไม่ใช่ทุกคนที่เชื้อลงปอดแล้วจะมีอาการหนัก โดยจากข้อมูลผู้ป่วยทั่วโลกพบว่า มีผู้ป่วยเพียง 5% เท่านั้นที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง แพทย์อาจต้องใช้เครื่อง ECMO หรือเครื่องหัวใจ-ปอดเทียมแบบเคลื่อนย้าย มาทำงานแทนหัวใจและปอดของผู้ป่วย เพื่อรักษาชีวิต

10. COVID-19 มียารักษาไหม

          ยารักษา COVID-19 ที่ได้การรับรองจากประเทศจีน มีชื่อยาว่า Favilavir นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้ยาหลายขนานในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ (Lopinavir ร่วมกับ Ritonavir) ใช้ร่วมกับยาต้านไข้หวัดใหญ่ และยาต้านไข้มาลาเรีย (คลอโรควิน) ซึ่งยาทั้งหมดนี้ยังต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลในการรักษาที่เชื่อถือได้

11. ผู้ป่วยโรค COVID-19 รักษาหายแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม

          แม้ผลเลือดของผู้ป่วยที่หายจากโรค COVID-19 จะพบว่า มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้อยู่ในตัว แต่ก็มีเคสผู้ป่วยที่รักษาหาย แล้วกลับมาป่วย COVID-19 ซ้ำอีกครั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่า โรคนี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกนะ
ไวรัสโคโรน่า

12. มีวัคซีนป้องกัน COVID-19 หรือยัง

          จากข้อมูลเดือนธันวาคม 2563 มีวัคซีนป้องกันโรคของ 4 บริษัทที่อยู่ในการทดลองขั้นที่ 3 และเริ่มฉีดให้กับประชาชนบางส่วนแล้ว ได้แก่

1. วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ร่วมกับไบออนเทค ประสิทธิภาพประมาณ 95% 

          มีฐานการผลิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เบลเยียม และเยอรมนี เป็นวัคซีนชนิด RNA ซึ่งผลิตจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ถือเป็นวัคซีน RNA ชนิดแรกที่นำมาใช้ป้องกันโควิด 19 ในมนุษย์ โดยต้องฉีด 2 โดส ในระยะเวลาห่างกัน 21 วัน แต่มีข้อจำกัดคือต้องเก็บวัคซีนไว้ในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส

2. วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา ประสิทธิภาพประมาณ 94% 

          มีฐานการผลิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นวัคซีนชนิด RNA เช่นเดียวกับของไฟเซอร์ โดยต้องเก็บในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส

3. วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ ประสิทธิภาพประมาณ 92%

          เป็นวัคซีนของรัสเซีย ซึ่งใช้ไวรัสเป็นพาหะ โดยการทดลองเบื้องต้นพบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้ 92% และต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 21 วัน

4. วัคซีนของบริษัทแอสตรา เซเนกา ประสิทธิภาพประมาณ 70%

          เป็นวัคซีนที่บริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยใช้ไวรัสเป็นพาหะ พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโรคอยู่ประมาณ 70% แต่มีข้อดีตรงที่สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็น คือ 2-8 องศาเซลเซียส

13. ระยะแพร่ระบาด เฟสต่าง ๆ หมายถึงอะไร

  • เฟส 1 คือ พบการติดเชื้อเฉพาะผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด แต่ยังไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทย
  • เฟส 2 คือ พบคนไทยติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว หรือติดเชื้อมาจากคนไทยที่เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น กรณีคนไทยติดเชื้อจากญาติที่เดินทางไปเมืองอู่ฮั่น หรือพนักงานขายของติดเชื้อมาจากนักท่องเที่ยว
  • เฟส 3 คือ พบการติดเชื้อระหว่างคนในประเทศด้วยกันเอง แม้จะไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นช่วงที่ระบาดอย่างรวดเร็ว เช่น สถานการณ์การระบาดในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากหญิงชราคนหนึ่ง
การติดต่อ-แพร่เชื้อ

1. ยืนใกล้คนติดเชื้อ-เดินสวนกัน เสี่ยงติดเชื้อหรือไม่

          ไม่ต้องกลัวว่าการเดินสวนกันหรือการสัมผัสตัวผู้ติดเชื้อจะทำให้เราป่วยเป็นโรค COVID-19 ตราบใดที่เราไม่ได้รับละอองฝอยจากการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วยแล้วเอามือที่สัมผัสเชื้อนั้นมาหยิบของกินเข้าปาก หรือขยี้ตา เพราะเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ จะติดต่อได้ก็ต่อเมื่อเรารับเชื้อเข้าสู่เยื่อบุในร่างกายเรานั่นเอง แค่เดินสวนกันหรือจับมือกันแต่ไม่ได้โดนสารคัดหลั่งใด ๆ จากผู้ป่วยก็ไม่ติดค่ะ
ไวรัสโคโรน่า

2. สั่งซื้อของจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะติดเชื้อไหม

          ตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 คนที่ชอบซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคอยู่ ก็ชักจะหวั่นใจ เกรงว่าจะได้รับเชื้อผ่านพัสดุที่ส่งมาจากต่างประเทศหรือไม่ ประเด็นนี้อยากเตือนให้ปลอดภัยไว้ก่อนค่ะ เพราะข้อมูลจาก ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา บอกไว้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนา สาเหตุของโรค COVID-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวได้นานถึง 20 วัน ในสภาพอากาศเย็น และในสภาพอากาศร้อน เชื้อไวรัสจะอยู่ได้ 3-9 วัน

          ทั้งนี้ อุณหภูมิที่เชื้อไวรัสโคโรนาจะมีชีวิตอยู่ได้ก็คือ 20-40 องศาเซลเซียส ดังนั้น เมื่อได้รับพัสดุจากไหนก็ตาม ควรฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคทิ้งไว้สักพัก และอย่าลืมล้างมือหลังจับพัสดุทุกครั้ง

3. เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานแค่ไหน

          เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว เผยข้อมูลว่า จากการศึกษาไวรัสที่มีลักษณะคล้ายกัน พบว่าสามารถอยู่บนพื้นผิวโลหะ แก้ว ไม้ หรือพลาสติก ประมาณ 4-5 วัน ณ อุณหภูมิห้อง แต่ในสภาพภูมิอากาศประมาณ 4 องศาเซลเซียส เชื้อจะอยู่ได้ราว ๆ 28 วัน ในกรณีอุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส อายุเชื้อไวรัสจะสั้นลง และในสภาพความชื้นที่มากกว่า 50% เชื้อไวรัสจะอยู่ได้นานกว่าสภาพความชื้นที่ 30% 

4. จับธนบัตร-เหรียญมีโอกาสติดเชื้อหรือไม่ ?

          สามารถติดเชื้อได้หากบนธนบัตรและเหรียญมีเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ แล้วนำมือมาสัมผัสใบหน้า ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ หลังจับธนบัตรและเหรียญแล้ว ควรล้างมือทุกครั้ง หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

5. ว่ายน้ำในสระเดียวกัน จะติด COVID-19 ไหม

          ประเด็นนี้ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากสระว่ายน้ำ ดังนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าสารคลอรีนน่าจะพอฆ่าเชื้อไวรัสได้อยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ก็อยากเตือนให้ระมัดระวังไว้ก่อน โดยเฉพาะการว่ายน้ำในที่ที่มีคนแออัด หรือว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้มาตรฐาน

6. ติด COVID-19 ทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม

          ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่ติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ทั้งนี้ก็ไม่น่าวางใจ เพราะการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ยิ่งหากมีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิด มีโอกาสในการสัมผัสน้ำลายจากการจูบกัน โอกาสที่จะเสี่ยงติดโรค COVID-19 ก็ย่อมมีอยู่แล้ว

7. สุนัขและแมวแพร่เชื้อได้ไหม

          ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า สัตว์เลี้ยงยอดนิยมอย่างสุนัขและแมว สามารถแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาได้ แต่เพื่อความสะอาดและปลอดภัย ก็ควรล้างมือทุกครั้งหลังจับสัตว์เลี้ยง

8. ไวรัสโคโรนา สามารถติดต่อผ่านทางอุจจาระได้หรือไม่

          มีรายงานพบเชื้อในอุจจาระ จึงมีโอกาสแพร่จากอุจจาระได้ ดังนั้น เวลากดชักโครก ให้ปิดฝาและล้างมือทุกครั้ง

9. ไวรัสโคโรนา ทนความร้อนได้นานแค่ไหน

          เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถทนความร้อนได้ถึง 70 องศาเซลเซียส นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรกินอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ และหลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบทุกประเภท

10. แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา ได้ไหม

          เอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70-90% (โดยปริมาตรน้ำ) สามารถทำลายไขมันที่หุ้มไวรัสตัวนี้ได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเกิน 95% เพราะมีปริมาณแอลกอฮอล์มาก แต่มีปริมาณน้ำน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะดูดซึมผ่านเยื่อหุ้มผนังเซลล์ของเชื้อโรค

11. ไวรัสโคโรนา กลัวอะไรบ้าง

          นอกจากความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เชื้อไวรัสตัวนี้ยังจะตายได้ง่าย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 70-90% (โดยปริมาตรน้ำ) และการทำความสะอาดด้วยสบู่อย่างเหมาะสม กล่าวคือ ล้างมือด้วยสบู่เป็นระยะเวลา 15-30 วินาที รวมไปถึงสารลดแรงตึงผิวต่าง ๆ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สารฟอกขาว (Sodium hypochlorite) ที่ความเข้มข้น 0.1-0.5% โพวิโดน ไอโอดีน 1% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5-7.0% เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แหละที่ไวรัสโคโรนาจะไม่ทน เพราะไวรัสชนิดนี้มีไขมันหุ้มอยู่ด้านนอก ดังนั้น หากใช้สารลดแรงตึงผิวทำลายไขมันที่หุ้มอยู่ได้ ก็จะฆ่าไวรัสได้

12. พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อมีอะไรบ้าง ?

ตัวอย่างเช่น 

  • เดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาด
  • สัมผัสสารคัดหลั่งจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อ
  • ชอบนำมือมาสัมผัสใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นขยี้ตา แคะจมูก แคะหู 
  • ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 
  • ไม่ล้างมือก่อนหยิบจับอาหารมารับประทาน
  • รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
  • อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย หรือผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง
  • อยู่ในบริเวณที่มีคนจำนวนมาก สถานที่ที่มีคนพลุกพล่านโดยไม่ป้องกันตัวเอง

13. ทำอย่างไรถ้าสงสัยว่าจะติดเชื้อ ?

          หากมีประวัติเดินทางไปบริเวณที่มีการแพร่ระบาด หรือใกล้ชิดกับบุคคลติดเชื้อ แล้วมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา แล้วเดินทางโดยรถส่วนตัวไปตรวจหาเชื้อ หรือโทร. 1422 ถ้าเข้าเกณฑ์จะมีรถพยาบาลมารับถึงที่พัก 

14. กักตัว 14 วันต้องทำอะไรบ้าง ?

          หากเป็นคนในกลุ่มเสี่ยงป่วยโรค COVID-19 และต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน นี่คือสิ่งที่ควรต้องทำในช่วงที่กักตัวรอดูอาการ
ไวรัสโคโรน่า

15. ความเสี่ยงของผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีกี่ระดับ

          แบ่งความเสี่ยงเป็น 3 ระดับ ได้แก่
          1. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ต้องเข้ารับการกักกันโรค และเข้ารับการตรวจหาเชื้อจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
          2. ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ คือ ผู้ใกล้ชิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สังเกตอาการตนเอง หลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชน และสวมหน้ากากอนามัย
          3. ไม่มีความเสี่ยง คือ ผู้ใกล้ชิดผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ

16. จากกรณีสมุทรสาคร ยังสามารถกินอาหารทะเลได้หรือไม่

          สามารถรับประทานอาหารทะเลได้ตามปกติ แต่ต้องปรุงสุก ร้อน สะอาด เพราะสามารถฆ่าเชื้อได้รวมถึงเชื้อก่อโรคโควิด 19

17. เดินทางไปเที่ยวจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อได้หรือไม่

          สามารถเดินทางไปยังจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อได้ โดยป้องกันตัวเองตามนี้

18. สูดควันบุหรี่จากคนติดเชื้อโควิด 19 เข้าไป จะติดเชื้อไหม

          ในควันและละอองไอของบุหรี่ประกอบด้วยสารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ และแบคทีเรีย ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ไกลจากการพ่นควันหรือการไอ ดังนั้น ถ้าผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด 19 ก็จะแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นได้ง่าย

19. ทำอย่างไรหากไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

          ใส่หน้ากากอนามัย แล้วเดินทางโดยรถส่วนตัวไปตรวจหาเชื้อ พยายามรักษาระยะห่างจากคนอื่นและไม่นำมือไปสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ระหว่างรอผลให้กักตัว 14 วัน 
การตรวจหาเชื้อ

1. วิธีตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทำยังไง

          เมื่อมีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยโรค COVID-19 แพทย์อาจจะทำการป้ายคอเพื่อตรวจสารพันธุกรรม (PCR) หรือเจาะเอาน้ำจากโพรงจมูกและลำคอไปตรวจหาเชื้อ หรือหากมีอาการอุจจาระร่วง ก็จะเก็บอุจจาระไปตรวจหาเชื้อด้วยเช่นกัน

2. ไปต่างประเทศกลับมา ต้องตรวจ COVID-19 ไหม

ไวรัสโคโรน่า

          ปัจจุบันผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ จะต้องถูกกักตัว 14 วัน ในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ (State quarantine) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากต้องการเลือกสถานที่และเสียค่าใช้จ่ายเอง (Alternative state quarantine) ก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์ประเมินก่อน

3. ใช้สิทธิประกันสังคม-บัตรทอง ตรวจ COVID-19 ได้ไหม

          ในกรณีที่ป่วย เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง สามารถใช้ทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทองตรวจ COVID-19 ได้ฟรี แต่หากไม่มีอาการป่วยแล้วอยากตรวจ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง

- ตรวจโคโรนาไวรัส Covid 19 ใช้สิทธิประกันสังคม-บัตรทองได้ไหม ป่วยแล้วรักษาฟรีหรือเปล่า ?

4. ตรวจโควิดฟรี ใครมีสิทธิ์บ้าง

          ต้องมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น ร่วมกับประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วง 14 วัน ก่อนมีอาการ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์) ดังนี้

          1. เดินทางมาจากเขตติดโรค/พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
          2. ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค/พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
          3. สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัย/ผู้ป่วยยืนยัน
          4. เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน

5. ตรวจหา COVID-19 ที่โรงพยาบาลไหนได้บ้าง ค่าตรวจเท่าไร

          ถ้าไม่ได้มีประวัติเสี่ยง แล้วต้องการตรวจหาเชื้อเองเพื่อความชัวร์ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง โดยปัจจุบันสามารถตรวจได้ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น 

          - โรงพยาบาลรามคำแหง ค่าใช้จ่าย 3,000-5,400 บาท
          - โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
          - โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
          - โรงพยาบาลพญาไท 3 ค่าใช้จ่าย 4,000 บาท
          - โรงพยาบาลนครธน ค่าใช้จ่าย 3,740 บาท
          - โรงพยาบาลบางโพ ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท

6. ตรวจพบโควิด 19 ต้องทำอย่างไร

          ทุกรายต้องได้รับการดูแลในโรงพยาบาลก่อน 2-7 วัน โดยแพทย์จะแบ่งการรักษาออกเป็น 5 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 : ไม่มีอาการ (พบได้ 20% ของผู้ติดเชื้อ)

          ให้สังเกตอาการในโรงพยาบาล 2-7 วัน จากนั้นสังเกตอาการต่อที่หอผู้ป่วยเฉพาะ หรือโรงพยาบาลเฉพาะกิจ เช่น โรงแรมที่เป็นฮอสพิเทล (Hospitel) 14 วันนับจากตรวจพบเชื้อ เมื่อหายแล้วจะสามารถกลับบ้านได้ แต่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา อยู่ห่างจากคนอื่น 2 เมตร แยกห้องนอน ห้องทำงาน ไม่กินอาหารร่วมกับคนในบ้านจนครบ 1 เดือน

กลุ่มที่ 2 : อาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด

          แพทย์รักษาตามอาการโดยให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล 2-7 วัน แล้วสังเกตอาการต่อในฮอสพิเทลจนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากมีอาการ เมื่อหายกลับบ้านจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่ม 1

กลุ่มที่ 3 : อาการไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัด ปอดปกติ แต่มีปัจจัยเสี่ยง

          แพทย์จะให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล ติดตามปอด จากนั้นส่งเข้าสังเกตอาการต่อที่ฮอสพิเทล จนครบ 14 วันนับจากมีอาการ เมื่อหายกลับบ้านจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่ม 1 และ 2

กลุ่มที่ 4 : ปอดอักเสบไม่รุนแรง (พบผู้ป่วย 12%)

          ให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล

กลุ่มที่ 5 : ปอดอักเสบรุนแรง (พบผู้ป่วย 3%)

           ให้ยารักษาไวรัสในห้องไอซียู
 

การป้องกัน

1. ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน COVID-19 ได้ไหม

          การใส่หน้ากากอนามัยเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันไวรัสโคโรนาได้ในด่านแรก ๆ เช่น ช่วยป้องกันละอองฝอยที่มากับน้ำลายคนอื่น แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ เราต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านมือของเราที่ไปสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ แล้วนำมาขยี้ตา แคะจมูก
ไวรัสโคโรน่า

2. ควรเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบไหนดี

          กระทรวงสาธารณสุขแนะนำการเลือกใช้หน้ากากอนามัย ดังนี้ 

          คนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย หรือมีอาการทางเดินหายใจ

          สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ แม้ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อจะไม่เทียบเท่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่มีลักษณะด้านหนึ่งเป็นสีฟ้า หรือสีเขียว ส่วนอีกด้านเป็นสีขาว เพราะไม่กันชื้น แต่สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี ไม่ได้อยู่ในที่แออัด หรือไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะ ชุมชนจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เพียงแต่ต้องซักหน้ากากผ้าเป็นประจำ เว้นแต่กรณีที่ต้องเข้าพื้นที่ชุมชน ก็สามารถใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้

          คนป่วย คนที่ต้องดูแลผู้ป่วยหรือใกล้ชิดผู้ป่วย

          - สำหรับคนป่วย มีอาการไอ มีน้ำมูก ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันเชื้อโรคออกจากตัว หากไอหรือจามขึ้นมา เชื้อก็จะติดอยู่ในหน้ากาก จึงช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้

          - กรณีที่ต้องดูแลผู้ป่วย หากที่บ้านมีผู้ป่วย ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร แม้เป็นไข้หวัดธรรมดาก็ควรใช้หน้ากากอนามัย

          ในส่วนของหน้ากาก N95 ควรสงวนไว้ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่รักษาผู้ป่วย เพื่อป้องกันการฟุ้งของละอองฝอย ซึ่งคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95 เพราะใส่แล้วอึดอัด หายใจไม่ออก อีกทั้งยังมีราคาแพง

          ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใส่หน้ากากอนามัยชนิดไหนก็ควรใส่ให้ถูกวิธี และพยายามอย่าจับตรงหน้ากาก เพราะเป็นแหล่งเชื้อโรค

3. หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้หรือไม่ ควรใส่กี่วันทิ้ง

          ในช่วงที่หน้ากากอนามัยหาซื้อได้ยาก หรือมีราคาแพง การใส่หน้ากากอนามัยซ้ำจึงเป็นวิธีที่หลายคนใช้กัน ซึ่งก็สามารถใส่หน้ากากอนามัยซ้ำได้ หากเราไม่ได้ป่วย และสภาพหน้ากากอนามัยไม่ได้สกปรก หรือชำรุดจนไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ หรือถ้าไม่ได้ป่วยจะใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สามารถซักได้ก็ได้นะคะ แต่หากมีอาการป่วย ไอ จาม อยู่ แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจะดีกว่า

4. หน้ากากอนามัยทำจากทิชชูป้องกันเชื้อไวรัสได้ไหม ?

          หลายคน DIY หน้ากากอนามัยแบบใช้ทิชชูแทน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า หน้ากากอนามัยแบบทิชชู ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานทางการแพทย์ และไม่สามารถที่จะป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ การใช้ทิชชู หากมีการไอ จาม หรือหายใจเข้า-ออก ก็ทำให้กระดาษทิชชูเปื่อยยุ่ยได้แล้ว 

5. หน้ากากผ้าป้องกันเชื้อโรคได้ไหม ?

          กรมอนามัยให้ข้อมูลว่า หน้ากากผ้าเป็นทางเลือกของคนไม่ป่วยในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา โดยแนะนำให้ใช้ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าสาลู มาประดิษฐ์หน้ากากผ้า เพราะยิ่งซักยิ่งเล็ก ใยจะออกมาเหลือประมาณ 1 ไมครอน ซึ่งช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ 54-59% ถือว่าเพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่ใช้ในพื้นที่แออัด

6. หน้ากากอนามัย Non-Medical ป้องกันโควิด 19 ได้ไหม ?

          แม้จะไม่ได้มาตรฐานระดับเดียวกับหน้ากากทางการแพทย์ แต่ก็มีมาตรฐานการผลิตในระดับที่ใช้ป้องกันโควิด 19 ได้ สำหรับประชาชนทั่วไป

7. ใส่หน้ากากอนามัย แล้วรอยจีบหงายขึ้นจะรับเชื้อโรคจริงไหม ?

          ถ้ามีคนไอ จามใส่เรา เชื้อจะติดอยู่ในจีบหน้ากากอนามัยที่หงายขึ้น แต่หากใส่หน้ากากอนามัยให้รอยจีบคว่ำลง สารคัดหลั่ง ละอองฝอย น้ำมูก น้ำลาย จะไหลลงด้านล่าง ปลอดภัยกับเรามากกว่า

8. ใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือ ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้จริงไหม ?

          หากแอลกอฮอล์เจลมีความเข้มข้น 70-90% (โดยปริมาตรน้ำ) สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้ แต่การล้างมือด้วยน้ำสะอาดและถูสบู่อย่างถูกวิธี เป็นวิธีทำความสะอาดมือที่ดีที่สุด

9. ทำไมต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ 20 วินาทีขึ้นไป ?

          การล้างมือด้วยน้ำเปล่าอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ จึงต้องใช้สบู่ร่วมด้วย และต้องถูสบู่ 20 วินาทีขึ้นไป เพราะผิวหนังบนมือเต็มไปด้วยรอยย่น รอยพับ กว่าสบู่จะซึมเข้าไปยังซอกเหล่านั้นและกำจัดเชื้อโรคที่ซุกซ่อนอยู่ได้จึงต้องใช้เวลา

10. ล้างมือแล้วไม่เช็ดให้แห้ง เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือไม่ ?

        เสี่ยง เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจายบนผิวที่เปียกง่ายกว่าผิวที่แห้ง ดังนั้นจึงควรเช็ดมือให้แห้งหลังล้างมือ

11. การล้างจมูก หรือบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อได้ไหม ?

          ไม่สามารถป้องกันได้ 

12. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่-ปอดอักเสบ ช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ไหม ?

          ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะโรค COVID-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบเกิดจากเชื้อชนิดอื่น

13. เครื่องฟอกอากาศป้องกันไวรัสโคโรนาได้ไหม ?

          การใช้เครื่องฟอกอากาศไม่สามารถช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ เพราะไวรัสตัวนี้ มีอนุภาคที่เล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเครื่องฟอกอากาศไม่สามารถดักจับได้

14. ฟ้าทะลายโจรรักษา-ป้องกันการติดเชื้อได้ไหม

          ประเด็นนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรในการต้านไวรัสโคโรนา ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยอีกพอสมควร แต่ทั้งนี้ฟ้าทะลายโจรเคยเป็นสมุนไพรที่ถูกศึกษาในพรีคลินิก และพบว่า สารในฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณฆ่าเชื้อไวรัสโรคซาร์สได้ นอกจากนี้สรรพคุณของฟ้าทะลายโจรยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้อีกด้วย

15. เก็บเจลแอลกอฮอล์ไว้ในรถได้ไหม ?

          การเก็บเจลแอลกอฮอล์ไว้ในรถอาจลดประสิทธิภาพของเจล เพราะความร้อนในรถทำให้แอลกอฮอล์
ระเหยจนความเข้มข้นลดลง ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้

16. จอดรถตากแดดช่วยฆ่าไวรัสโคโรนาได้จริงไหม ?

          การจอดรถตากแดดและเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ ทำให้ความร้อนและอากาศถ่ายเท ช่วยลดการสะสมของเชื้อได้ แต่ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อ ดังนั้นต้องหมั่นทำความสะอาดรถอยู่เสมอ เพราะเชื้อที่ติดอยู่บนผิวโลหะหรือพลาสติก อาจอยู่ได้นานหลายวัน

17. วิธีป้องกัน COVID-19 ทำยังไงได้บ้าง

          นอกจากการใส่หน้ากากอนามัยแล้ว วิธีป้องกัน COVID-19 ก็ควรกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารปรุงสุก รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด หรือหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกที่มีคนพลุกพล่าน ก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และพกเจลล้างมือติดตัวเอาไว้ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ด้วย

          หรือหากจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ก็ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม พยายามรักษาระยะห่างที่ประมาณ 2 เมตร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปทุกประเด็นคำถาม โรค COVID-19 เคลียร์ให้หายข้องใจจะได้ไม่สับสน อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2563 เวลา 07:08:20 194,450 อ่าน
TOP