รู้จัก 14 โรคติดต่ออันตราย นอกจาก COVID-19 แล้วยังมีโรคอะไรอีกบ้าง

          นอกจากโรค COVID-19 ที่ถูกยกระดับให้เป็นโรคติดต่ออันตรายล่าสุดแล้ว ยังมีโรคติดต่ออันตรายโรคไหนอีกบ้าง แล้วการเป็นโรคติดต่ออันตราย จะแตกต่างจากโรคติดต่อทั่วไปยังไงนะ

โรคติดต่ออันตราย

          ในที่สุดโรค COVID 19 ที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ก็ถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 จากโรคติดต่ออันตรายที่มีอยู่เดิม [อ่านข่าว: ประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย] ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่า เมื่อ COVID-19 กลายเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว จะต่างไปจากเดิมยังไง อีกทั้งโรคติดต่ออันตรายมีอะไรบ้าง วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย

โรคติดต่ออันตราย คืออะไร

          โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หมายถึง โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว และการประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย จะช่วยเอื้อให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคมีอำนาจในการตรวจโรค กักกันโรค และป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายได้อย่างสะดวกขึ้น เช่น มีอำนาจในการตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงอย่างเต็มที่ ซึ่งจะขัดขืนการตรวจไม่ได้ หรือสั่งปิดพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคได้ทันที เป็นต้น

โรคติดต่ออันตราย มีโรคอะไรบ้าง

          เช็กลิสต์โรคติดต่ออันตรายทั้ง 14 โรค ได้ดังต่อไปนี้

1. กาฬโรค (Plague)

กาฬโรค

          โรคติดต่อที่มีพาหะมาจากหมัดของสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู กระรอก กระแต กระต่าย ที่เมื่อเกิดการติดเชื้อ จากการที่โดนหมัดกัด จะทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ รักแร้ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และเชื้ออาจจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง จนหัวใจวาย และอาจเสียชีวิต

2. ไข้ทรพิษ (Smallpox) หรือฝีดาษ

ไข้ทรพิษ

          โรคที่เคยระบาดหนักในสมัยโบราณ ไข้ทรพิษหรือฝีดาษเกิดจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) ในกลุ่มออร์โธพ็อกซ์ไวรัส (Orthopoxvirus) ลักษณะเด่นของโรคนี้คือจะมีตุ่มขึ้นตามผิวหนังทั่วร่างกาย และหากตุ่มเหล่านี้แตกก็จะทำให้ติดต่อกันได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคนี้ แต่ก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกว่าการปลูกฝี


3. ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean - Congo hemorrhagic fever)

          ไข้เลือดออกชนิดนี้มีจุดกำเนิดอยู่ที่แหลมไครเมียและในคองโก และยังพบการระบาดในแถบแอฟริกา แถบคาบสมุทรบอลข่าน ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยมีพาหะเป็นแมลงที่มีเชื้อไนโรไวรัส (Nairovirus) ซึ่งหากได้รับเชื้อนี้เข้าร่างกาย จะมีอาการป่วยที่เฉียบพลันและรุนแรง ทั้งมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มึนงง ปวดคอร่วมกับคอแข็ง ปวดศีรษะ ใบหน้าแดง กลัวแสง และบางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน สับสน ก้าวร้าว มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดออกจากเหงือก และอาจพบภาวะตับอักเสบร่วมด้วย

4. ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever)

ไข้เวสต์ไนล์

          ไข้เวสต์ไนล์เป็นโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ แล้วนำเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์มาติดต่อสู่คน พบได้ทั่วไปในแอฟริกา เอเชียตะวันตก ตะวันออกกลาง ยุโรป และหากติดเชื้อนี้เข้าไปจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น มีเหงื่อออก มีผื่นที่ผิวหนัง อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ซึม ปวดข้อ และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือถ้ามีอาการรุนแรง จะมีอาการสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

5. ไข้เหลือง (Yellow fever)

          เป็นอีกหนึ่งโรคที่มียุงเป็นพาหะ และเกิดจากเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน ร่วมกับอาการไข้สูง ชีพจรเต้นช้าผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปวดหลัง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เบื่ออาหาร ต่อมาจะมีอาการเลือดออกปาก ออกจมูก ตา กระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการอาเจียนและถ่ายเป็นเลือด จนถึงไตวาย

6. โรคไข้ลาสซา (Lassa fever)

          ไข้ลาสซาเป็นไข้เลือดออกที่มีหนูเป็นพาหะ ติดต่อได้จากการสัมผัสละอองฝอยลมหายใจ หรืออุจจาระของหนูที่ติดเชื้อ อาการแสดงจะคล้าย ๆ อาการโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อาเจียน ท้องร่วง เจ็บหน้าอก และเป็นหนอง หากอาการหนักจะมีเลือดออก ช็อก และมีภาวะเกล็ดเลือดลดลงผิดปกติ

7. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus disease)

ไวรัสนิปาห์

          เป็นโรคติดต่อที่ระบาดครั้งแรกในหมู่บ้านสุไหงนิปาห์ ประเทศมาเลเซีย มีพาหะจากสัตว์อย่างค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า แมว แพะ หรือแกะ โดยเชื้อตัวนี้จะก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงในทางเดินระบบหายใจ เกิดภาวะสมองอักเสบ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้


8. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease)
  
          จัดเป็นหนึ่งในโรคไข้เลือดออกที่มีต้นเชื้อมาจากลิงและค้างคาว มักจะระบาดหนักในแถบอูกันดา โดยเชื้อนี้อาจมีความรุนแรงกว่าเชื้ออีโบลา อาการแสดงคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะมาก ตามมาด้วยอาการเจ็บคอ ท้องเสีย มีผื่นนูนแดงตามตัว และมีอาการเลือดออกง่าย ซึ่งมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย ช็อก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมาก

9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD)

อีโบลา

          โรคอีโบลามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมีแหล่งรังโรคอยู่ในลิงป่าและค้างคาวกินผลไม้ ส่วนการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลานั้นจะติดจากคนสู่คนโดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย และการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ โรคนี้มีความรุนแรงค่อนข้างมาก และยังแพร่กระจายได้รวดเร็ว

          - อีโบลา เจาะลึกไวรัสมรณะที่โลกหวาดกลัว

10. โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Hendra virus disease)

          พบว่ามีแหล่งกำเนิดเชื้อจากม้าและค้างคาวกินผลไม้ โดยอาการของโรคนี้จะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึม สับสน และมักจะพบอาการปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

11. โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS)


         โรคซาร์สหรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสซาร์ส สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ผ่านสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ อาการที่สามารถสังเกตได้คือ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ ไอ หายใจลำบาก ท้องเสีย (ในบางราย) ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้

          - โรคซาร์ส ไข้หวัดมรณะ รู้ทัน ป้องกันได้

12. โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome - MERS)

ไวรัสเมอร์ส

          โรคเมอร์สก็เกิดจากโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน แต่โรคนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยมีอูฐและค้างคาวเป็นพาหะของโรค ดังนั้นชื่อของโรคเมอร์สอีกชื่อหนึ่งจึงเรียกกันว่า โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางนั่นเอง ส่วนอาการแสดงของโรคนี้จะเริ่มจากอาการไข้ ไอ หอบ บางรายอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือถ้าเป็นหนักจะมีภาวะปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อวัยวะล้มเหลว ไตวาย เสี่ยงต่อการเสียชีวิต


13. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (Extensively drug - resistant tuberculosis (XDR-TB))

          โรควัณโรคที่มีการดื้อยา 4 ขนานร่วมกัน ได้แก่ ไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) กลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) และกลุ่มยาทางเลือกที่สอง ที่เป็นยาชนิดฉีด (Second-line injectable drugs) ซึ่งหมายความว่า วัณโรคชนิดนี้จะไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวรักษาให้หายได้ ดังนั้นผู้ป่วยมีโอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ได้ง่าย แถมตัวเองยังมีความเสี่ยงที่อาการป่วยจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย

14. โรค COVID-19 (Coronavirus disease 2019)

ไวรัสโคโรนา
ภาพจาก STR / AFP

          โรค COVID-19 เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 เชื่อว่ามีพาหะเป็นค้างคาว  โดยโรคนี้จะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบในคน และติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาการแสดงจะคล้าย ๆ อาการของไข้หวัด คือ มีไข้สูง ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ และหากมีอาการหนักจะมีภาวะปอดบวม เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

          - ข้อมูลเพิ่มเติมโรค COVID-19 ที่เกิดจากโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019

          ได้รู้กันแล้วว่าโรคติดต่ออันตรายมีโรคอะไรบ้าง ดังนั้นหากพบเห็นผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคติดต่ออันตรายทั้ง 14 โรคนี้ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค หรือโทร. สายด่วน 1422 ได้ทันที

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หอสมุดรัฐสภาไทย, เฟซบุ๊ก Drama-addict, ฐานข้อมูลด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, โรงพยาบาลสมิติเวช, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงสาธารณสุข, 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก 14 โรคติดต่ออันตราย นอกจาก COVID-19 แล้วยังมีโรคอะไรอีกบ้าง อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2563 เวลา 10:30:26 35,851 อ่าน
TOP