x close

แพทย์รุมถล่มกฎหมายขอใช้สิทธิ์ตาย


แพทย์


แพทย์รุมถล่มกฎหมายขอใช้สิทธิ์ตาย (ไทยโพสต์)

          เวทีสัมมนากฎหมายขอใช้สิทธิ์การตาย แพทย์รุมถล่ม สช.อ่วม ชี้ต้องยกเลิกกฎหมายเพราะมีช่องโหว่เพียบ นิยามการใช้สิทธิ์ขอตายไม่ชัด และใครจะชี้ขาดการคาดการณ์การตายได้ ด้านแพทยสภาออกโรงไม่เห็นด้วย เหตุกลัวหมอโดนฟ้อง แนะแนวทางปฏิบัติ 6 ข้อ คณะที่กรรมการสิทธิ์ชี้ต้องติดตามการดำเนินการ 1-2 ปี

          ที่รัฐสภามีการสัมมนาเรื่อง "เจตนารมณ์การขอใช้สิทธิ์การตายในวาระสุดท้ายของชีวิต : ผลกระทบต่อผู้ป่วยและแพทย์" ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการใช้บังคับกฎหมายในวิชาชีพเวชกรรม กล่าวว่า การใช้สิทธิ์ปฏิเสธการรักษาตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ยังมีความสับสนหลายประการ ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนไม่เข้าใจจึงเป็นที่มาของการสัมมนาในวันนี้

          โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สิทธิ์ในการปฏิเสธการรักษาทุกคนมีอยู่แล้ว ก่อนที่จะมีมาตรา 12 การเขียนหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการจะเขียนอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องมีแบบฟอร์ม เขียนที่ไหนก็ได้ และแพทย์ไม่ต้องไปพิสูจน์ว่าปลอมหรือไม่ปลอม เพราะไม่ใช่พินัยกรรม

          ด้าน ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเขียนหนังสือแสดงเจตนาเป็นพินัยกรรมชีวิตไม่ได้เป็นส่วนที่กังวลว่าถ้าเป็นหนังสือแสดงเจตนาปลอม ขอเรียนว่าถ้าแพทย์ไม่รู้ว่าเป็นหนังสือปลอมย่อมไม่ผิด และแม้จะมีหนังสือแสดงเจตนา แต่แพทย์ พยาบาลก็ยังต้องพูดคุยกับญาติคนไข้ว่าจะยืนยันตามนั้นหรือไม่

          ขณะที่ นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า อยากถามว่าใครเคยตาย และใครเคยพูดคุยกับคนที่ตายไปแล้วบ้าง ถ้าไม่เคยแล้วทำไมจึงรู้จักจิตใจคนไข้ก่อนตายว่าจะต้องตายอย่างมีศักดิ์ศรี แล้วมาออกกฎหมายในสิ่งที่ไม่รู้จริง ขัดหลักกฎหมาย อันตรายมาก เพราะจะนำมาซึ่งการทำหนังสือโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงทั้งที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะตายอย่างไร แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีปัจจัยเสี่ยงทั้งสิ้น เรื่องนี้เป็นการุณยฆาตอย่างชัดเจน

          "กฎหมายฉบับนี้ไม่มีสภาพบังคับ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากจะให้เดินหน้าต่อไป ต้องมีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบ คือ สช. รวมทั้ง สช.ต้องเก็บรวบรวมหนังสือแสดงเจตนาด้วย" นพ.วิสุทธิ์กล่าว

          ส่วนนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เราเขียนกฎหมายบนข้อเท็จจริงที่ไม่แน่นอน ขอยกตัวอย่างหลานไปเรียนที่ออสเตรเลีย แพทย์บอกว่ารักษาไม่ได้แล้ว จะถอดเครื่องช่วยหายใจออก แต่น้องสาวตน แม่ของเด็กไม่อยากเสียลูกไป ก็เลยบินไปรับตัวมารักษาในประเทศไทยโดยเช่าเครื่องบิน 7.5 แสนบาทกลับมา ณ วันนี้หลานตนสามารถเดินได้ ดังนั้นกรณีนี้อยากถามว่าวาระสุดท้ายของชีวิตคืออะไร เพราะในกว่า 100 ประเทศไม่มีใครกล้านิยามเรื่องนี้ อีกทั้งบิดาของตนนอนรักษาใน รพ.ตัวดำแล้ว ลูกสาวที่เป็นแพทย์บอกว่าตัวดำไม่ไหวแล้ว ตนก็ได้เรียกพี่น้องทั้งหมดมาพร้อมหน้ากัน และในฐานะพี่คนโตเป็นคนกดเครื่องช่วยหายใจให้หยุดทำงาน แต่ถ้าเป็นแพทย์คนไหนไม่มีใครกล้าทำ

          ด้าน ศ.นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาได้ออกแนวทางปฏิบัติของแพทย์ เมื่อได้รับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนี้

          1.เมื่อได้รับหนังสือแสดงเจตนาฯ แพทย์ผู้เกี่ยวข้องต้องแน่ใจว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่กระทำโดยผู้ป่วยขณะมีสติสัมปชัญญะ เช่น หนังสือแสดงเจตนาฯ ที่กระทำโดยอยู่ในความรู้เห็นของแพทย์ เช่นนี้แล้วให้ปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ป่วย ยกเว้นกรณีข้อ 6

          2.หนังสือแสดงเจตนาฯ นอกจากจากข้อ 1 ควรได้รับการพิสูจน์ว่ากระทำโดยผู้ป่วยจริง

          3.ในกรณีที่ยังพิสูจน์ไม่ถึง "ความจริงแท้ของหนังสือแสดงเจตนาฯ" นี้ ให้ดำเนินการรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม

          4.การวินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิตให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ที่เกี่ยวข้องในภาวะวิสัยและพฤติการณ์ในขณะนั้น

          5.ไม่แนะนำให้มีการถอดถอน ( withdraw) การรักษาที่ได้ดำเนินอยู่ก่อนแล้ว

          6.ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งกับญาติผู้ป่วย เกี่ยวกับเรื่อง "ความจริงแท้ของหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าว แนะนำให้ญาติผู้ป่วยใช้สิทธิ์ทางศาล

          จากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ รองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ได้สอบถามที่ประชุมว่ามีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้และต้องการยกเลิกบ้าง และต้องการให้นำผลจากที่ประชุมไปเสนอผู้เกี่ยวข้อง ปรากฏว่ามีแพทย์หลายคนยกมือไม่เห็นด้วยจำนวนมาก

          โดย นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า ควรมี รพ.ที่รองรับเฉพาะคนตาย ตนจึงเสนอให้มีการตั้ง รพ.ขนาด 30 เตียงทั่วประเทศใกล้กับวัด และใช้ชื่อว่า รพ.สช. มาตรา 12 ซึ่งรับประกันว่าคนที่มาใช้บริการคงจะตายแน่ ตายสบาย ตายสะดวก

          ด้าน พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า หนังสือแสดงเจตนาฯ ถือเป็นพยานในคดีหากมีการฟ้องร้อง ถ้าไม่มีหนังสือดังกล่าวอาจใช้อ้างอิงอะไรไม่ได้ และบุคคลที่จะใช้สิทธิ์ต้องเป็นเจ้าตัวที่มีหลักฐาน ลายมือ และทำตามขึ้นตอนที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น ผู้อื่นจะมาแสดงเจตนาฯ แทนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในกฎหมายมีส่วนที่น่ากังวลเกี่ยวกับนิยามของการไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งวาระสุดท้ายของชีวิตนั้นเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าที่อาจไม่เป็นเช่นนั้นได้ เมื่อถึงเวลาจริง คนที่จะมาชี้ขาดวาระตรงนี้ได้ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่าการยื่นหนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นการยื่นก่อนรักษาหรือเข้ารับการรักษาแล้วค่อยยื่น

          "การดำเนินงานเรื่องนี้ควรมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อระดมสมองโดยเฉพาะด้านกฎหมาย ควรมีการติดตามการดำเนินงานเรื่องนี้ต่อไปอีก 1-2 ปี ส่วนที่กังวลเรื่อง ม.12 นั้น ผมเห็นว่าถ้าหากการดำเนินการไม่ได้เป็นการยืดเวลา เป็นวาระสุดท้ายของชีวิต และหนังสือแสดงเจตนาถูกต้อง แพทย์ก็จะได้รับการคุ้มครอง"

รักษาพยาบาล


[25 พฤษภาคม] เคาะแล้ว! ผู้ป่วยหนักขอใช้สิทธิไม่ยื้อชีวิตได้ 

         คสช.ไฟเขียวให้ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถใช้สิทธิปฏิเสธการรักษาพยาบาลเพื่อยื้อชีวิตต่อไปได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องทนทุกข์จากอาการเจ็บป่วย โดยมีผลตั้งแต่ 20พ.ค.ที่ผ่านมา

         ก่อนหน้านี้ประเด็นที่ผู้ป่วยวาระสุดท้ายขอปฏิเสธไม่เข้ารับการรักษาพยาบาลเพื่อยื้อชีวิตต่อไปนั้น กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมากเพราะมีประเด็นทางคุณธรรม จริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง หลังจากมีพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ระบุว่าบุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ก็ได้ประสานกับหน่วยงานสุขภาพที่เกี่ยวข้องเพื่อยกร่างกฏกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้

         และความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นนี้ เมื่อวันที่24 พฤษภาคม น.พ.อำพล จินดาวัฒนะเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)มีมติเห็นชอบตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยพ.ศ.2553 ซึ่งเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 แล้ว โดยให้ผู้ป่วยมีสิทธิร้องขอที่จะปฏิเสธการรักษา เพื่อยุติความทรมานจากอาการเจ็บป่วยได้

         ทั้งนี้ น.พ.อำพล ยังกล่าวต่อว่าเรื่องดังกล่าวได้ดำเนินการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลไปตั้งแต่วันที่20 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์สามารถปฏิเสธการรักษาพยาบาลโดยทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข เพื่อยื้อชีวิตต่อไปได้เพื่อเป็นการยุติความทรมานจากอาการเจ็บป่วยที่ได้รับ อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่สามารถบังคับได้

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์รุมถล่มกฎหมายขอใช้สิทธิ์ตาย อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 10:26:54 2,007 อ่าน
TOP