x close

สธ.หวั่นอีโคไล ระบาดในไทย สั่งจับตา 13 สายการบิน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          สธ. หวั่นอีโคไล ระบาดในไทย สั่งด่านสุวรรณภฺูมิ จับตา 13 สายการบินจากยุโรป พร้อมทั้งจัดทำเอกสารแนะนำแจกทั่วประเทศ

            วานนี้ (7 มิถุนายน) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย โอ 104 หรืออีโคไลชนิดรุนแรง ว่า จากรายงานยังพบว่ามีการระบาด 12 ประเทศเท่าเดิม ซึ่งนักระบาดวิทยากำลังตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงอย่างเร่งด่วน โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้จัดทำเอกสารข้อมูลเพื่อแนะนำประชาชนให้รู้จักเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว

            ทั้งนี้ ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ประสานกับ 13 สายบินที่มากจากยุโรป ได้แก่ ประเทศเยอรมัน ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ค เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และประเทศลักแซมเบิร์ก ให้แจ้งให้ทราบอย่างทันท่วงที ถ้าหากพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าว

           สำหรับเอกสารเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรีย โอ 104 หรืออีโคไลชนิดรุนแรง นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกจะเป็นคำแนะนำให้ผู้มีอาการผิดปกติ ภายใน 7 วัน ได้แก่ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือมีเลือดปน หรือมีมูกเลือดปน หรือสงสัยภาวะไตวาย เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปริมาณปัสสาวะน้อยลงอย่างทันทีทันใด ให้รีบไปพบแพทย์ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่

          ส่วนที่ 2 จะเป็นคำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว และข้อมูลสำหรับดูแลสุขภาพ  โดยให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และหลีกเลี่ยงการนำพืชผักผลไม้จากประเทศยุโรปติดตัวมาบริโภคในประเทศไทย ซึ่งกรมควบคุมโรคได้จัดส่งเอกสารคำแนะนำดังกล่าวไปให้ 13 สายการบินแล้วเป็นทีเรียบร้อย

         ทางด้าน นายแพทย์ ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งให้นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด และขอความร่วมมือเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคอีโคไล ดังนี้

         1.เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง  โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางจากทวีปยุโรปหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
         2.เร่งรัดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผู้ที่เดินทางไป-กลับยุโรป ประชาชนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข                
         3.กำชับให้แพทย์ดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสม

         พร้อมกันนี้  นายแพทย์ สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ได้จัดทำแผ่นพับ 1 แสนชุด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน แจกจ่ายให้กับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ อีกด้วย

         อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรค ได้เปิดสายด่วนให้บริการประชาชนในเรื่องโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการติด เชื้อแบคที่เรีย อี.โคไล สายพันธุ์ โอ 104 ตลอด 24 ชั่วโมง หมายเลข 0-2590-3333 และ 1422






[7 มิถุนายน] ผลการทดลองชี้ ถั่วงอกไม่ใช่ต้นตอเชื้ออีโคไล

        กำลังกลายเป็นปัญหาระดับโลกอีกเรื่อง สำหรับกรณีเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ระบาด  เพราะหลังจากที่เชื้อโรคนี้เริ่มต้นระบาดจากเมืองฮัมบูร์ก ทางตอนเหนือของเยอรมนี ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อกระจายไปในอีก 11 ประเทศใกล้เคียง ได้แก่ ออสเตรีย, อังกฤษ, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้มียอดรวมผู้ติดเชื้อ 2,265 คน โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีประวัติเคยเดินทางมาที่เยอรมนี และมียอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อนี้แล้ว 22 ราย เป็นชาวเยอรมนี 21 ราย และสวีเดนอีก 1 ราย

        ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของเยอรมัน ยังคงพยายามตรวจหาแหล่งที่มาของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ซึ่งผลจากการตรวจถั่วงอกจากฟาร์มทางตอนเหนือของประเทศ ที่คาดว่าน่าจะเป็นแหล่งที่มาของเชื้ออีโคไล แต่ผลกลับพบว่าไม่มีการปนเปื้อนใด ๆ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังคงรอผลทดสอบอื่นจากอีก 17 ตัวอย่าง ในตอนนี้เยอรมนีจึงยังคงอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

        และในบ่ายวันนี้ (7 มิถุนายน)  เวลา 14.00 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรของสหภาพยุโรป หรืออียู ที่กรุงลักเซมเบิร์ก เยอรมนี เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่เชื้อและผลกระทบที่เกิดขึ้น

        ในส่วนของประเทศไทย นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแถลงการณ์เตรียมรับมือกับเชื้ออีโคไลระบาด 4 มาตรการ ดังนี้

        1. ทำเอกสารให้ความรู้แจกให้กับนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะ 12 ประเทศ ที่มีการระบาดรุนแรง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษาประจำที่สนามบินนานาชาติทุกแห่งในไทย

        2. ให้องค์การอาหารและยาสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่นำเข้ามาจากสหภาพยุโรปอย่างจริงจัง

        3. ย้ำทุกโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน จริงจังในการตรวจรักษาผู้ที่เข้าพบแพทย์ด้วยอาการป่วย 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีปัญหาถ่ายเป็นมูกเลือด และกลุ่มที่มีปัญหาท้องเสียและอาการไตวายเฉียบพลัน แพทย์ต้องทำการตรวจรักษาโดยละเอียด เก็บตัวอย่างส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และติดตามโรคอย่างต่อเนื่อง

        4. ให้กรมควบคุมโรคเป็นกลไกหลักในการเฝ้าระวังเชื้ออีโคไลอย่างเข้มงวด

        พร้อมกันนี้ นายจุรินทร์ยังได้กล่าวถึงเชื้ออีโคไลที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นสายพันธุ์ที่ 5 ซึ่งมีความร้ายแรงและยังไม่เคยมีการระบาดมาก่อน เชื้อจะเข้าทำลายเม็ดเลือดแดงจนแตกและทำให้ไตวายในที่สุด ต้องรักษาโดยการถ่ายเลือดเท่านั้น แม้จะยังไม่มีการระบาดในเมืองไทย แต่ทุกครัวเรือนก็ต้องเฝ้าระวังความสะอาดของอาหารที่บริโภคเข้าไป โดยกินอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังทานอาหาร

 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ.หวั่นอีโคไล ระบาดในไทย สั่งจับตา 13 สายการบิน อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 09:59:47
TOP