x close

เตือน...วัยโจ๋ดื่มเหล้า เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ป่วยทางจิต






เตือน...วัยโจ๋ดื่มเหล้า เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ป่วยทางจิต (ไทยโพสต์)


         สุรา สิ่งเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่มีอันตรายไม่แพ้สารเสพติดชนิดอื่น เพราะผลพวงจากสุราก่อปัญหาสารพัด นอกจากมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง สร้างผลกระทบต่อสุขภาพคนดื่มแล้ว ผลกระทบต่อสังคมจากการเมาสุราก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ
 
         ที่น่าห่วงตอนนี้มีคนไทยติดเหล้ามากถึง 4.3 ล้านคน และข้อมูลจากการสำรวจระบาดวิทยาระดับชาติครั้งล่าสุด ระหว่างปี 2551-2554 ชี้ชัดถึงอัตราผู้ป่วยที่มีอาการติดเหล้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ร้อยละ 7.1 มีอาการติดเหล้าและอาการของโรคจิตเวชด้วย นอกจากนี้ภายใน 1 เดือน มีผู้ป่วยติดเหล้าและป่วยทางจิตมากถึง 20 ราย ขณะที่อายุคนติดเหล้าเฉลี่ยจาก 30-45 ปีขึ้นไป ลดเหลือเพียง 20-30 ปี กล่าวได้ว่าวัยโจ๋ดื่มเหล้ากันมากขึ้น
 
          พิษของสุรายังยืนยันได้จากการศึกษาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน เพื่อประมาณจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับสารเสพติดและผู้บริโภคน้ำเมา เมื่อ 4 ปีก่อนพบว่าทั้งชายและหญิงเคยมีปัญหาชีวิตเพราะการดื่มเหล้า ปัญหาที่ผู้ชายประสบมากสุดคือ รู้สึกผิดหลังการดื่ม มีปัญหาด้านการเงิน ส่งผลเสียต่อการทำงาน การเรียน รวมทั้งหมดโอกาสที่จะได้งานทำ กลุ่มอายุ 20-24 ปี เจอสุราเป็นต้นเหตุปัญหาชีวิตมาก สำหรับผู้หญิงปัญหาที่พบส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสุขภาพร่างกาย และเงินทองไม่พอใช้ โดยกลุ่มที่เจอปัญหาการเงินส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 12-19 ปีเท่านั้น แถมการดื่มเหล้ายังเป็นปัจจัยเสริม ที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยกระทำความผิดมากขึ้น ทั้งคดีทำร้ายร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับเพศ ไปจนถึงใช้อาวุธ วัตถุระเบิด นี่คือความจริงจากผลการศึกษาของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
 
          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนดื่มเหล้ากันมากขึ้น นั่นคือ การเข้าถึงร้านเหล้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการควบคุมร้านเหล้ารอบรั้วสถานศึกษา แต่ยังมีนักดื่มหน้าใหม่เข้าไปสู่พฤติกรรมการดื่มได้ เห็นทีรัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้ จำเป็นต้องเร่งควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายลูก ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ส่วนภาคีเครือข่ายที่รณรงค์สร้างค่านิยมการไม่ดื่มสุรา ยังต้องทำงานแข็งขันต่อไปทั้งรณรงค์สร้างกระแส และเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
 
          ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนต้องกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 แสนคนต่อปี อายุน้อยลงเรื่อยๆ อีกทั้งร้านเหล้ารอบสถานศึกษานับวันยิ่งมีเพิ่มขึ้น ส่วนสถิติการเสียชีวิตนั้นยังคงเพิ่มขึ้นทุก 20 นาทีต่อ 1 คน หรือ 26,000 คนต่อปี ในขณะที่กฎหมายลูกต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังไม่ผ่านการพิจารณาจึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดมาตรการควบคุมปัญหา ไม่ปล่อยให้สินค้าเหล่านี้ทำลายเยาวชนและสังคม

          สถานการณ์ที่น่าห่วงนี้ ผอ.สคล.เรียกร้องให้ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาเร่งผลักดันกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ห้ามขายเหล้าปั่น ควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ห้ามดื่มในรถหรือท้ายกระบะ และห้ามดื่มในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้มีผลในการบังคับใช้โดยเร็ว รวมทั้งการเร่งสร้างกลไกบำบัดรักษา เยียวยาผู้ติดสุราและผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเร่งออกมาตรการจัดสรรส่วนแบ่งค่าปรับจากความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำเมา เพื่อสนับสนุนการทำงาน และเป็นขวัญกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมาย
 
          นอกจากนี้ ฝากให้ รมว.สธ.เร่งผลักดันการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแก้ไขปัญหาตราสินค้าของน้ำดื่ม โซดา บางยี่ห้อที่คล้ายคลึงกับตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเร่งบังคับใช้กฎหมายกับกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการโฆษณาที่ผิดกฎหมายในคอนเสิร์ต 30 ปี คาราบาว และคอนเสิร์ตอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุดท้ายเร่งบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายน้ำเมา โดยเฉพาะในกิจกรรมส่งเสริมการขายของธุรกิจน้ำเมาที่จัดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ควรกำหนดเป็นตัวชี้วัดการทำงานของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และขอให้ส่งสัญญาณไปถึงคณะกรรมการควบคุมฯ จังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในการเร่งบังคับใช้กฎหมาย
 
          ด้าน ธีรภัทร์  คหะวงษ์  แกนนำเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่โดยตรง ในการเป็นตัวกลางหลักร่วมหารือกับหน่วยงานภาครัฐ ให้ออกมาตรการที่ชัดเจนแก้ไขปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะผลกระทบตกอยู่ที่ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

          "ที่ผ่านมาได้ร้องเรียนปัญหาร้านเหล้าใกล้สถานศึกษาจากประชาชน นักศึกษา ครูอาจารย์ ผ่านทางเครือข่ายองค์กรต่างๆ หลายครั้งว่า มีร้านเหล้าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และกระทำผิดกฎหมาย จัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม จูงใจ ดูดเงินจากค่าเทอมค่าเรียนมาเป็นค่าเหล้า จนนำมาสู่การทำร้ายร่างกาย ตีรันฟันแทง ความผิดทางเพศหรือก่อนวัยอันควรของนักศึกษา เกิดขึ้นถี่มาก ส่วนใหญ่พบการดื่มเหล้าก่อนก่อเหตุทั้งสิ้น ในฐานะเยาวชนอยากเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจโดยตรง เร่งออกกฎหมายเพื่อควบคุมปัญหานี้เป็นกรณีเร่งด่วน เพราะเยาวชนผลักดันเรื่องนี้มานานเกือบสามปีแล้ว ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่กล้าหาญในการปกป้องเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง" แกนนำเครือข่ายฯ ฉายให้เห็นภาพความจริงของสุรา และพฤติกรรมการดื่มสุรา ที่ก่อปัญหาให้กับสังคมมากขึ้นทุกวัน และยืนยันทุกฝ่ายต้องดำเนินมาตรการแก้ปัญหาเหล้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน...วัยโจ๋ดื่มเหล้า เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ป่วยทางจิต อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 16:33:06
TOP