x close

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยหมอแมว

ไข้หวัดใหญ่ 2009


ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยหมอแมว (Pantip)

          ช่วงนี้กระแสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มาแรง ผม (หมอแมว) เลยโหนกระแสครับ โดยเมื่อ 4 วัน ก่อนเพิ่งทำ Nasopharyngeal swab ตรวจเด็กโรงเรียนเซนต์คาเบรียลไปคนหนึ่ง (เอาไม้จิ้มจมูก) เมื่อคืนวานซืนตรวจ Pharyngeal swab ตรวจไปอีกคน (เอาไม้จิ้มคอแล้วกวาดๆ) แล้วก็ตรวจอีก 20 กว่าคน ที่มาด้วยความกลัวไข้หวัดใหญ่ 2009 (ส่วนคนอื่นอยู่เวรกลางวันก็โดนไปคนละ 40-50 คน) และตอนนี้ผมกำลังมีไข้ 38 องศาเซลเซียส นิดๆ ตอนนี้เริ่มไอแล้ว และคนที่บ้านก็เริ่มติดกันไปแล้ว

          เนื่องจากช่วงนี้เห็นว่า โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ได้รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับไข้หวัดนี้มากมาย หากแต่ว่าการรายงานข่าวที่ออกมาก็ไม่ครบถ้วนพอที่จะทำให้คนเข้าใจได้ ประกอบกับบางสื่อยิ่งรายงานคนยิ่งตื่นตระหนก ผมเลยลองพยายามเอาเรื่องไข้หวัดนี้มาอธิบายครับ เอาเป็นว่านี่คือการพูดคุยสบายๆ เรื่องข้อเท็จจริงแบบที่จะอิงภาษาวิชาการให้น้อยที่สุดครับ เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจให้ตรงกัน…

 1. เชื้อ H1N1 มันใหม่ยังไง เห็นใน wiki ว่าเป็นตัวที่ฆ่าคนตายเป็นล้านๆ เมื่อก่อนก็คือ H1N1 นี่นา

          Spanish flu เป็นไข้หวัดใหญ่ ที่ฆ่าพลเมืองของโลกไปประมาณ 5% หรือประมาณ 50 - 100 ล้านคน ในช่วงปี ค.ศ.1918 – ค.ศ.1919 ไข้หวัดใหญ่ตัวนี้คือ เชื้อ Influenza A H1N1 ซึ่งบางคนสังเกตว่า มันคือเชื้อเดียวกันกับเชื้อที่ออกข่าวในตอนนี้ เลยกังวลว่า มันจะร้ายแรงและน่ากลัวมากจริงๆ หรือ? ผมขอบอกว่ามันคือเชื้อคนละตัวกับตอนนั้นครับ

          คำว่า Influenza A หมายถึง เชื้อไวรัสในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งมีโครงสร้างหลักทั่วไปเหมือนกัน

          ความแตกต่างของแต่ละตัวจะอยู่ที่ส่วนที่เรียกว่า H hemagglutinin และ N neuraminidase

          โดยรูปแบบของ H ในไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีอยู่ 16 แบบ และรูปแบบของ N จะมีอยู่ 9 แบบ ถ้าพูดแบบหยาบๆ ตัวเลขของ H และ N เป็นการจำแนกตามแบบอย่างหยาบๆ ครับ ดังนั้นไวรัสเมื่อร้อยปีก่อนกับตัวปัจจุบัน แม้ว่าจะมีชื่อที่เหมือนกัน แต่ก็เป็นความเหมือนที่ภายนอกเท่านั้น คุณสมบัติด้านความร้ายแรงไม่สามารถนำมาเทียบกันได้แบบ 100% 

          ถ้าจะให้เปรียบก็เหมือนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นนักเรียนมัธยม H1 ก็คือกางเกงน้ำตาล ส่วน H2 คือกางเกงดำ H3 คือกางเกงแดง และ N1 คือรองเท้าหนังสีดำ ส่วน N2 คือรองเท้าผ้าใบสีดำ ฯลฯ ดังนั้น ไข้หวัดสเปน H1N1  ก็คือเด็กนักเรียนกางเกงขาสั้นน้ำตาลใส่รองเท้าหนังสีดำ และไข้หวัด 2009 ก็คือเด็กนักเรียนกางเกงขาสั้นน้ำตาลใส่รองเท้าหนังสีดำเหมือนกัน ต่างกันที่ว่าเจ้าไข้หวัดสเปน เป็นเด็กนักเรียนที่พกปืนในกระเป๋า ส่วนไข้หวัด 2009 มันแค่พกสนับมือเท่านั้น

 2. องค์การอนามัยโลกประกาศระดับ pandemic ขั้นที่ 6 หมายความว่า มันเป็นโรคที่ร้ายแรงอันตรายถึงตายใช่ไหม?

          ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่ได้ยินบ่อยคือ การที่ออกมาประกาศขั้นที่ 6 คือการบอกว่าโรคนี้เป็นโรคที่รุนแรงถึงตาย อันตรายมากๆ โดยคำว่า Pandemic คือ การที่ 1. มีโรคเกิดขึ้นใหม่ในประชากร 2. เป็นโรคในมนุษย์และสามารถก่อโรคที่รุนแรงได้ และ 3. เป็นโรค "ติดต่อ" ที่กระจายไปในประชากรต่อไปได้เรื่อยๆ

          ที่ผ่านมาไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เราเจอกันคือสายพันธุ์เก่า ที่ประชากรส่วนหนึ่งมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ดังนั้น มันจึงไม่ "ใหม่" กับประชากร และเมื่อมันติดต่อไปได้สักพักแล้วไปเจอคนที่มีภูมิคุ้มกัน มันก็ "ไม่กระจายต่อ" ดังนั้น มันก็ไม่ถือเป็น Pandemic

          ในทางทฤษฎีไข้หวัดใหญ่ที่เรากลัวกันก็ คือ ไข้หวัดใหญ่ที่มาจากสัตว์ครับ เพราะว่าพวกนี้มีองค์ประกอบครบ คือ...

           1. มันเป็นของสัตว์ จึงใหม่ต่อมนุษย์

           2. ไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อที่สามารถทำให้คนตายได้ แต่จะมากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง

           3. ถ้ามันติดต่อจากคนสู่คนได้เมื่อไหร่ มันก็จะแพร่กระจายได้


ไข้หวัดใหญ่ 2009



          Pandemic Alert ขององค์การอนามัยโลก เลยประกอบไปในส่วนการเฝ้าระวังทั้ง 6 ระดับนั่นคือ...

           Phase 1 no viruses circulating among animals have been reported to cause infections in humans : เจอไวรัสที่เป็นชนิดใหม่ๆ แต่ไม่สามารถติดมาคนได้ อย่างกรณีไข้หวัดนกที่ผ่านมา มีการระวังและเสนอการทำลายนกและไก่ตั้งแต่ยังไม่มีการติดต่อมาสู่คน

           Phase 2 an animal influenza virus circulating among domesticated or wild animals is known to have caused infection in humans : พบคนที่ติดเชื้อจากสัตว์ การที่เชื้อมันข้ามมาคนได้ แปลว่า มันมีความสามารถในการก่อโรคในคน ดังนั้น มันมีความเสี่ยงที่จะกระจายจากคนสู่คน

           Phase 3 an animal or human-animal influenza reassortant virus has caused sporadic cases or small clusters of disease in people, but has not resulted in human-to-human transmission sufficient to sustain community-level outbreaks : เกิดการติดต่อในกลุ่มประชากรเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อจากสัตว์มาคนเดี่ยวๆ หรือจากคนสู่คนที่สามารถคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ ระดับนี้คือระดับที่จะต้องระวัง เพราะขั้นนี้แปลว่าเชื้อนี้มีความสามารถในการแพร่กระจายได้หากไม่ควบคุมให้ดี

           Phase 4 is characterized by verified human-to-human transmission of an animal or human-animal influenza reassortant virus able to cause community-level outbreaks : เกิดการแพร่กระจายในระดับชุมชน เช่น เจอว่าเป็นกันทั้งหมู่บ้าน หรือมีการระบาดในเมือง หรือแม้แต่การระบาดในประเทศหนึ่ง ถ้าจะปรับเป็นภาษาไทยก็อาจจะแปลว่า "โรคระบาด" หรือเท่าๆ กับคำว่า "Epidemic" ในภาษาอังกฤษ

           Phase 5 is characterized by human-to-human spread of the virus into at least two countries in one WHO region : เกิดการระบาดข้ามประเทศ แต่เป็นประเทศในเขต WHO เดียวกัน โดยถือกันว่าพรมแดนประเทศ คือส่วนที่มีการควบคุมการข้ามผ่านที่เข้มงวดมากกว่าภายในประเทศ ดังนั้น ถ้ามันข้ามพรมแดนได้ก็มีความเสี่ยงที่ประเทศนั้นจะติดเชื้อโรคนี้ทั้งประเทศได้

           Phase 6 the pandemic phase, is characterized by community level outbreaks in at least one other country in a different WHO region : WHO region ถูกแบ่งได้คร่าวๆ ด้วยพรมแดนตามธรรมชาติ ดังนั้น หากมีประเทศที่อยู่กันคนละเขต (คนละทวีป) ติดต่อเชื้อนี้ได้ ก็มีความเสี่ยงที่มันจะกระจายในทวีปนั้นๆ และถ้ามันข้ามไปได้ 1 เขต ก็มีความเสี่ยงที่มันจะกระจายไปเขตอื่นที่ไม่ติดได้ นั่นแปลว่ามันมีความเสี่ยงที่จะติดต่อกระจายไปทั่วโลก

 3. ไหนหนังสือพิมพ์ออกข่าวว่าหวัดมรณะ ถ้าบอกว่าของ WHO ไม่ได้บอกความรุนแรง แล้วอันไหนล่ะที่บอก  

          ในขณะที่ของ WHO บอกความเสี่ยงเรื่องการแพร่กระจาย ทาง CDC หรือหน่วยควบคุมโรคของอเมริกา ก็มีเกณฑ์ความรุนแรงครับ โดยใช้ค่า CFR Case fatality ratio หรือค่าที่บอกว่า หากมีคนไข้ที่ได้รับรายงานจำนวนเท่านี้ จะมีคนตายกี่เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่ทั่วๆ ไปอยู่ในระดับ 1 คือหากรายงานว่าเป็นไปสัก 1,000 คน จะมีคนตายน้อยกว่า 1 คน (น้อยกว่า0.1%) โดยไข้หวัดสเปนอยู่ในระดับ 5 คือ หากรายงานว่าเป็น 1,000 คน จะมีคนตายมากกว่า 20 คน (มากกว่า 2%)

          จริงๆ คำว่า CFR ก็คล้ายๆ กับอัตราตายครับ แต่อาจจะไม่ตรงกันสักทีเดียว ถ้าลองคิดคำนวณคร่าวๆ จากข้อมูลจาก WHO มีคนติดเชื้อตัวนี้ 29,669 คน ซึ่งตายไป 145 คน จะอยู่ที่ 0.48% จัดอยู่ในความรุนแรงระดับ 2 ซึ่งมีคนเสนอว่าเม็กซิโกตายเยอะผิดปกติ ดังนั้น หากตัดค่าที่รายงานจากเม็กซิโกไป มีคนติดเชื้อตัวนี้ 23,428 คน ซึ่งตายไป 37 คน จะอยู่ที่ 0.15 % ก็จัดอยู่ในความรุนแรงระดับที่ 2 อยู่ดี ก็ต้องไปดูที่มาของค่าตัวเลขครับ

          Influenza หรือ ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในอเมริกา จะมีการทำ Throat Swab ตรวจกันบ่อยๆ ใครไข้สูงครั่นเนื้อตัวเยอะๆ หมอก็จับส่งตรวจ บางคนอาการไม่หนักมากก็ส่งตรวจ แต่ไข้หวัด 2009 ในตอนนี้ยังเป็นระหว่างการระบาด การที่จะส่งตรวจในกรณีคนต้องสงสัย โดยเฉพาะคนที่มีอาการหนัก ส่วนคนที่มีอาการน้อยจะไม่ได้ส่งตรวจ เพราะว่าสิ้นเปลืองทรัพยากรในช่วงระบาด ดังนั้น ตัวเลขคนที่เป็นไข้หวัด 2009 จริงๆ น่าจะมากกว่านี้ครับ และหากตรวจทั้งหมด ผลที่ออกมานั้นคนที่ตายก็น่าจะมีสัดส่วนที่น้อยลงไปอีก

 4. ตกลงวางใจได้ใช่ไหม?

          ไม่ได้ครับ ที่จริงเรามีโรคที่อาจจะถือว่าเป็น Pandemic หรือแพร่กระจายทั่วโลกหลายโรคทีเดียว ยกตัวอย่าง เช่น มาลาเรีย เอดส์ กับ วัณโรค แต่ว่าโรคเหล่านี้ถือว่าน่ากลัวน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ เพราะ 3 สาเหตุคือ...

           1. ลักษณะการติดต่อ

           2. ระยะเวลาที่ก่อโรค

           3. การกลายพันธุ์


          "มาลาเรีย" กับ "เอดส์" ไม่ได้ติดต่อทางอากาศหายใจ แต่ไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางอากาศได้ "วัณโรค" และ "เอดส์" ดำเนินโรคช้า แต่ไข้หวัดใหญ่ได้รับเชื้อแล้ว 2-3 วัน ก็ออกอาการ ที่สำคัญ "วัณโรค" และ "เอดส์" ส่วนใหญ่เวลากลายพันธุ์จะกลายพันธุ์แบบเรื่อยๆ คือ แค่ดื้อยา ไม่ทำให้คนตายมากขึ้น แต่ไข้หวัดใหญ่เวลากลายพันธุ์จะเปลี่ยนจากความน่ากลัวแบบชิสุไปเป็นน่ากลัวแบบโดเบอร์แมน!

          โรคจะน่ากลัวเมื่อมีการระบาดครับ เพราะการระบาดนั่นหมายความว่าจะเกิดโรคขึ้นพร้อมๆ กัน เกิดคนป่วยจำนวนมากขึ้นพร้อมกัน ในแง่จิตใจก็ทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่มั่นใจในสังคมได้มาก จำนวนผู้ป่วยที่มีมากและมีการออกข่าวในทำนองว่า ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้เต็มที่ จะเกิดการแก่งแย่งกันเพื่อให้ตนเองได้สิ่งที่ตนเองคิดว่าดีที่สุด รวมทั้งเกิดความขัดแย้งกดดันกับเจ้าหน้าที่ได้ รวมไปถึงขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำหน้าที่ในระบบต่างๆ ของรัฐ ที่หากมีสมาชิกในครอบครัวป่วยก็ย่อมจะต้องสนใจสมาชิกในครอบครัวก่อนงานที่ทำ ทำให้ระบบของประเทศเกิดการสั่นคลอนได้


          ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในตอนนี้อยู่ในระดับที่ก่อการระบาดได้ แต่ยังไม่มีความรุนแรงนัก ปัญหาคือเนื่องจากมันเป็นสายพันธุ์ใหม่ คนส่วนใหญ่เลยติดเชื้อนี้ได้ง่าย มีโอกาสติดต่อได้ประมาณ 22-33% ในขณะที่เชื้อเดิมอยู่ที่ 5-15% และความสามารถของไวรัสไข้หวัดใหญ่ คือ การปรับเปลี่ยนพันธุกรรม ทำให้มันกลายเป็นตัวใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม

          การปรับเปลี่ยนพันธุกรรมจะเกิดได้ ต้องมีโอกาสมากพอ หรือแปลง่ายๆ คือถ้ามันแพร่กระจายไปมากๆ มีคนติดเชื้อมากๆ มันก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะเปลี่ยนไปเป็นพันธุ์ที่ร้ายแรงได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ตอนนี้ถ้ามันระบาดมากๆ ก็เสี่ยงครับ หากมันเปลี่ยนความรุนแรงขึ้น (ซึ่งเจอได้เสมอในเชื้อกลุ่มไวรัสไข้หวัดใหญ่) มันจะเปลี่ยนจากไข้หวัด 2009 ตัวหมูๆ นี้ กลายเป็นหมูป่า Combo shot supernova ขึ้นมาทันที 


ไข้หวัดใหญ่ 2009



          มาที่เรื่องในประเทศของเราบ้างครับ เอาแบบสถานการณ์จริง ช่วงนี้ผมดูข่าวจากทีวีและหนังสือพิมพ์แล้วขัดใจมากครับ สิ่งที่ข่าวบอกกับสิ่งที่การสาธารณสุขทำ มันไปคนละทางกัน และตามความเห็นผม มันกำลังจะทำให้กระบวนการของโรคระบาดเข้าขั้น คือ เกิดความล้าในระบบให้บริการทางสาธารณสุข ประโยคหนึ่งที่ผมคิดว่าผิดอย่างมาก คือ การบอกว่า ไม่ต้องตื่นตระหนกกับโรคนี้มากนัก โรคนี้ถ้าไปพบหมอแต่เนิ่นๆ สามารถตรวจว่าเป็นหรือไม่ และหากไปเร็วทันเวลาก็รักษาหายได้ 

          ผมนั่งดูข่าวมา 3 ครั้ง ในรอบสัปดาห์นี้ บอกแบบนี้ทั้งนั้น และจากคนไข้ที่มาหาเมื่อวานนี้ หลายคนมาเพราะฟังข่าวและได้ยินประโยคนี้ คนที่ฟังเค้าเข้าใจว่า

           1. โรคนี้หากไปทันเวลาตั้งแต่ระยะแรกรักษาหายได้ (แปลว่าถ้าไปช้าอาจจะรักษาไม่หาย)

           2. โรคนี้หมอสามารถตรวจได้ว่าเป็นหรือไม่เป็น ถ้าไปแต่เนิ่นๆ (แปลว่าถ้าไปช้า ตรวจไม่เจอ รักษาไม่ถูก ตาย!)

           3. ถ้าทำตามสองข้อบนได้ก็ไม่ต้องตระหนก (แปลว่าถ้าไปหาหมอไม่ได้ก็ตายแน่ๆ ใช่ไหม)

          อาจจะฟังดูงี่เง่านะครับ แต่ตอนผมฟังข่าวผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ และคนไข้ที่มาตรวจกับผมหลายคนก็รู้สึกอย่างนั้น ซึ่งปัญหามันก็เกิดขึ้นเพราะคนที่บอกให้รีบไปตรวจ ดันไม่บอกว่าต้องมีอาการอย่างไรจึงควรไปตรวจ ดันไม่ยอมศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนว่าไปแล้วที่โรงพยาบาลจะตรวจอย่างไร รักษาอย่างไร หรือนักข่าวไปถามหมอ แทนที่จะถามว่า "ควรปฎิบัติตัวอย่างไร" ดันไปถามว่า "โรคนี้อาการอย่างไร" (คำถามสิ้นคิด -_-\') สุดท้ายก็ไปป้อนข้อมูลที่ก่อความตื่นตระหนกฝังใจว่า "ถ้าไปทันเวลาก็มีโอกาสหาย" เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วปรากฎว่า หมอดูแล้วว่าไม่เข้าเกณฑ์ คนไข้ก็เกิดความไม่พอใจ เพราะมั่นใจมาเต็มที่ว่าตนเองเป็นชัวร์ๆ แต่หมอไม่ตรวจ 

          ก่อนที่จะไปคุยเรื่องการระบาด ก็ต้องมาดูเรื่องความรุนแรงของโรคครับ ถ้าใครลองไปอ่านของ WHO จะพบว่าตอนนี้เค้าประมาณการณ์ว่า ครั้งนี้อย่างต่ำๆ ก็อยู่ในระดับความรุนแรงแบบ Moderate ซึ่ง Moderate คือ…

           1. คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อนี้หายเองได้ โดยไม่ต้องการการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือการรับการบริการทางสาธารณสุข

           2. ระดับความเจ็บป่วยแบบรุนแรงอยู่ในระดับเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (แม้ว่าบางที่อาจจะมากหน่อย)

           3. ระบบการรักษาพยาบาลยังรองรับได้ แม้ว่าจะแน่นไปสักหน่อย


          รวมไปถึงหลายส่วนที่บอกไว้ว่าส่วนใหญ่หายเอง สิ่งที่ผมจะบอกคือ ไข้หวัดใหญ่และไวรัสหลายชนิด มันมีระดับความรุนแรงของโรคต่างๆ กัน คนที่นอนโรงพยาบาลแบบปางตาย อาจจะมีสัก 3 คน คนที่นอนโรงพยาบาลแบบมีไข้ให้น้ำเกลือ 2-3 วัน อาจจะมีสัก 30 คน คนที่มาโรงพยาบาลด้วยไข้สูง ตรวจเจอเชื้อ จากนั้นกลับไปกินยาพาราเซตามอลกับยาแก้ไอ อาจจะมีสัก 300 คน คนที่ติดแล้วมีอาการไอ เจ็บคอนิดหน่อย เมื่อยตัวนิดนึง นอนพักคืนเดียวก็หาย อาจจะมีสัก 30,000 คน (ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็น)

          สิ่งที่ควรจะเป็น คือ เราอยากให้คนที่มีไข้หรือไข้สูงมาตรวจ เพราะไม่แน่ว่าอาจจะกลายไปเป็นปอดบวม ซึ่งหากอาการทำท่าดูไม่ดีเราก็จะได้ให้ยาไปก่อน กลุ่มนี้ถ้ามาตรวจอาจจะมีสัก 333 คน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอข่าวอย่างไม่ระวังของหนังสือพิมพ์และข่าวทีวีตอนก่อนหน้านี้ คือ 333 คน ที่เป็นพอประมาณถึงหนักมาโรงพยาบาล 30,000 คน ที่เป็นก็มาโรงพยาบาล อีก 300,000 คน ที่ไม่ได้เป็นหวัด  แต่เป็นภูมิแพ้ก็มาโรงพยาบาล อีก 100,000 คน เดินผ่านหน้าโรงเรียนเลยมาขอตรวจบ้าง กลายเป็นว่าคนที่เป็นจริงๆ มาที่โรงพยาบาล จากนั้นมีคนที่ไม่เป็นมารับเชื้อถึงที่ กลายเป็นว่าคนที่เป็นแบบเบาๆ ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลก็มาโรงพยาบาล เพื่อมาปล่อยเชื้อที่โรงพยาบาล สุดท้ายหมอต้องมานั่งอธิบายคนที่เป็นแค่ภูมิแพ้ว่าไม่ต้องไปตรวจก็ได้ แล้วก็ต้องทิ้งให้คนไข้ที่ป่วยจริงนอนรอตรวจต่อไป

          สำหรับตอนนี้มีเกณฑ์ในการตรวจซึ่งหลักใหญ่ๆ น่าจะเหมือนกันทั่วประเทศ  ได้แก่...

           1. มีไข้ 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ร่วมกับ…

           2. มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ, ไอ, หายใจผิดปกติ (หอบ,ลำบาก) หรือแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นปอดบวม ร่วมกับ...

           3. อาศัยอยู่หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ในระยะ 7 วัน ก่อนวันเริ่มป่วย

           4. มีผู้สัมผัสร่วมบ้านหรือในที่ทำงานป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ หรือปอดอักเสบ ภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนวันเริ่มป่วย

          ตอนนี้เข้าใจว่าตัดข้อ 3 ไปแล้วครับ เพราะว่าตอนนี้มันเข้าประเทศไทยเรียบร้อย ดังนั้น อาจจะถือไปก่อนว่าน่าจะเสี่ยงข้อนี้ไปเลย หากมีเกณฑ์ครบดังนี้ แพทย์จึงจะพิจารณาตรวจ Throat Swab เพื่อดูว่าเป็นเชื้อนี้หรือไม่ หลังจากนั้นพิจารณาอาการและความเสี่ยงว่าจำเป็นต้องได้รับยาต้านเชื้อไวรัสหรือไม่ (ถึงเป็น 2009 แต่ถ้าอาการเบาๆ ก็ไม่ให้ยาต้านเชื้อไวรัส)

ไข้หวัดใหญ่ 2009



          เมื่อนำเอาเกณฑ์เหล่านี้มามองใหม่ ผลที่ได้ก็คือ

           1. การรักษาหรือพิจารณาให้ยา Tamiflu ขึ้นกับอาการ ต่อให้เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่มีอาการของปอดบวม ก็จ่ายยาต้านไวรัส และจับนอนโรงพยาบาล

           2. ถ้าไปโรงพยาบาลแล้ววัดไข้ได้ 38 องศาเซลเซียส มีอาการของหวัดหรือสงสัย และมีอาการปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบ ก็จะทำ Throat swab และพิจารณาให้ยาตามสมควร

           3. ถ้าไปโรงพยาบาลแล้ววัดไข้ได้ 38 องศาเซลเซียส มีอาการของหวัด แต่เป็นแค่คอกับจมูก ไม่มีอาการของปอด ก็มักจะไม่ทำ Throat swab และไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส (แต่อาจารย์บางท่านบอกว่าก็ทำได้เหมือนกัน)

           4. ถ้าไม่มีไข้ ไม่ให้ยาและไม่ทำ Throat swab

          หมายเหตุ : Throat swab คือการตรวจด้วยไม้พันสำลีป้ายที่คอ แล้วเอาไปตรวจว่าเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่ แต่ก่อนใช้เวลา 1 วัน รู้ผล แต่ตอนนี้มีการตรวจมาก อาจจะ 3-4 วัน ขึ้นไป

          ยกตัวอย่าง

          ถ้ามีไข้ต่ำๆ ตัวรุมๆ เดินไปเดินมาได้สบายดี ก็จะได้ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ กลับไปกินที่บ้าน

           ถ้าไม่มีไข้ แต่ไปกินข้าวกับคนที่มีเพื่อนเป็นเด็กเซนต์คาเบรียล หรือเป็นเด็กโรงเรียนที่มีนักเรียนเป็นไข้หวัด 2009 หมอก็ไม่ตรวจ

           ถ้าไม่มีไข้เลย แต่ไปกินข้าวกับคนที่เป็นเพื่อนกับคนที่ไปเดินผ่านที่หน้าโรงเรียนเซนต์คาเบรียลหรือโรงเรียนที่มีนักเรียนเป็นไข้หวัด 2009 อันนี้ก็ไม่ตรวจ

           เป็นภูมิแพ้ กินยาแก้ภูมิแพ้มาปีกว่า ตอนนี้ไม่มีไข้ แต่มีน้ำมูลไหลเหมือนทุกวัน วันนี้อยากตรวจไข้หวัด 2009 อันนี้ก็ไม่ตรวจ

           ไข้สูง 38.9 องศาเซลเซียส ไอมาก แต่ไม่ได้ไปเจอเด็กนักเรียนที่ไหนเลย อันนี้ไม่อยากตรวจก็ต้องตรวจ


          เน้นย้ำนะครับเรื่องไข้ตัวร้อน ถ้าคุณไม่มีไข้เลยแม้แต่น้อย และเดินไปเดินมาได้สบายดี ก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาลหรอกครับ คนป่วยหนักๆ หลายคนเค้าไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัย เพราะว่าเหนื่อย เค้าไอโขลกๆ อยู่ อยู่บ้านดีๆ ไม่เจอเชื้อ ดันตามมารับเชื้อที่โรงพยาบาล

          ปกติหมออยู่เวรก็ยุ่งกันมากอยู่แล้ว ลำพังปกติก็ตรวจกันไม่ทัน พอมีคนไข้ที่ให้ประวัติว่าจะป็น พยาบาลก็ให้ไปรอที่ตึกที่ห่างออกไปอีก 400 - 500 เมตร หมอก็ต้องเดินไปซักประวัติ เพื่อจะรู้ว่าจริงๆ เป็นแค่ภูมิแพ้ แล้วต้องมานั่งตอบคำถามว่าทำไมหมอพูดไม่ตรงกับนักข่าวในทีวี เสร็จแล้วเดินกลับมาอีก 400 - 500 เมตร เพื่อจะมาฟังพยาบาลบอกอีกว่า "หมอส่งอีกคนไปที่ตึกแล้ว หมอเดินไปตรวจหน่อยนะ"

          เมื่อวานซืนคุยกับหมอแผนกเด็กคนหนึ่ง เค้าบอกว่า เค้าต้องเดินวนไปวนมาเพื่อตรวจคนที่ถูกคัดกรองมาประมาณ 10 - 20 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีไข้ และหมอคนนี้ต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมง คิดว่าเมื่อวานนี้เค้าคงต้องเดินราวๆ 7 - 8 กิโลเมตร วนไปวนมาในโรงพยาบาล ดังนั้น ถ้าไม่มีไข้อยู่บ้านเถอะครับ หรือถ้าคุณไม่แน่ใจว่าควรไปหรือไม่ คำแนะนำที่นำไปใช้ได้จริงคือ ให้ลองลืมๆ ไปว่าตอนนี้มีไข้หวัดใหญ่ 2009 ครับ ดูอาการตนเองเป็นหลัก ถ้าอาการน้อยแบบที่แต่ก่อนพอเป็นประมาณนี้แล้วก็กินยานอนอยู่บ้าน ก็ไม่ต้องไป ถ้าอาการเยอะแบบที่แต่ก่อนพอเป็นประมาณนี้ก็จะไปหาหมอ ก็ไป



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เขียนโดย : หมอแมว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยหมอแมว อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2552 เวลา 14:19:39 2,244 อ่าน
TOP