x close

จับตา! สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009

ไข้หวัดหมู


เรียงเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม   
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก อ.ส.ม.ท.

          สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้อหวัด A/H 1 N 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รายงานยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในไทยรวมทั้งสิ้น 5 คน  น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ไทย พบหญิงชาวไทย อายุ 18 ปี ที่มีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐ ป่วยติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 นับเป็น ผู้ป่วยรายที่ 5 ของประเทศ ที่พบว่า ติดเชื้อไวรัส A H1N1 จากต่างประเทศ ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งทีมสอบสวนโรค เฝ้าระวังผู้ใกล้ชิดอีก 6 ราย เป็นเวลา 7 วัน แล้วเช่นกัน ส่วนหญิงที่ป่วยแพทย์ได้ให้ยาโอเซลทามิเวีย(Oseltamivir) และยังคงพักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล ล่าสุด ไข้ลดลงอาการทั่วไปดีขึ้นแล้ว

          สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยืนยัน มีผู้ติดเชื้อใน 62 ประเทศ จำนวนกว่า 17,000 รายแล้ว ขณะที่ไทย มีผู้ติดเชื้อ 5 ราย และยังคงเฝ้าระวังอยู่อีก 3 ราย
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดของทุกภาคส่วน ด้วยการตรวจผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และแถบยุโรป ทุกคนที่ผ่านเข้าออกประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไขหวัดใหญ่ 2009 ต้องผ่านตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด หากตรวจพบว่า อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ ( 37 องศาเซลเซียส) ต้องถูกกักตัวไว้ตรวจร่างกายอย่างละเอียดว่า มีไข้ขึ้นสูง และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงผู้ติดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือไม่ หากพบว่าได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็ต้องทำการกักบริเวณเพื่อควบคุมเชื้อโรคไม่ให้แพร่ระบาดออกไปสู่ผู้อื่น ประกอบกับการรักษาเยียวยาจนผู้ป่วยหายหรือพ้นขีดอันตราย

          สำหรับการป้องกันควบคุมโรค ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 (ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก) และหน่วยงานต่างๆ กำลังดำเนินงานตามแผนเตรียมความพร้อม  มาตรการสำคัญล่าสุดในระยะนี้ ได้แก่

          1. มาตรการสกัดกั้นโรค มิให้แพร่เข้าประเทศไทย

          - เร่งรัดการเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

          - คัดกรองผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (เทอร์โมสแกน) ที่สนามบินนานาชาติทุกแห่ง

          -  แจกเอกสารคำแนะนำการดูแลตนเอง และบอกแหล่งข้อมูลในการติดต่อกับทางราชการ (Health Beware Cards)

          - ขอความร่วมมือสายการบินจากต่างประเทศแจกแบบฟอร์มให้ผู้เดินทางกรอกเพื่อการติดตามอาการ

          - ขอความร่วมมือบริษัททัวร์ โรงแรม สายการบินในการดูแล แนะนำ ป้องกันโรคในผู้เดินทางระหว่างประเทศ

           2. มาตรการค้นหาผู้ป่วยและแก้ไข หากพบผู้ป่วยในประเทศ

          - เร่งปรับระบบการเฝ้าระวังโรคค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด 

          - เร่งเพิ่มระดับความพร้อมระบบการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งจัดห้องแยกและแยกเวชภัณฑ์?

          3. มาตรการทั่วไป

          - ให้คำแนะนำ เผยแพร่ความรู้ ให้กับประชาชน แจ้งเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

          -  ประสานองค์การอนามัยโลก ขอให้ประเทศที่มีการระบาด ตรวจสอบอาการของผู้เดินทางก่อนออกเดินทาง (Exit screening)

          นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับแผนการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของโรคระบาดดังกล่าวในขณะนี้ โดยจะไม่เน้นตรวจผู้ป่วยที่เครื่องตรวจวัดเทอร์โมสแกน เนื่องจากผู้ได้รบเชื้ออาการเริ่มแรกจะมีไข้ต่ำ เครื่องเทอร์โมสแกนไม่สามารถตรวจจับได้ หากจะใช้การประชาสัมพันธ์ให้ญาติที่ร่วมเดินทางมาจากต่างประเทศ ทำการตรวจวัดสัมผัสอาการด้วยการสอบถามว่า มีอาการอ่อนเพลียหรือมีไข้หรือไม่แทน พร้อมกับการให้ความรู้กับประชาชนอย่างเต็มที่

          หลักการปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

          1. หากไม่มีความจำเป็น ควรชะลอการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดการระบาด จนกว่าสถานการณ์จะยุติลง แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่เกิดการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ  หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด  หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งติดตามข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในพื้นที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด

          2. ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ  ปวดเมื่อยเนื้อตัวมาก ฯลฯ  ภายใน 7 วัน หลังจากเดินทางกลับ ควรสวมหน้ากากอนามัย  หรือใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม  และรีบปรึกษาแพทย์  กรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อนุญาตให้รักษาตัวที่บ้าน  ควรหยุดงาน หยุดเรียน และงดไปในที่ชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น

          3.  รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้  ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้านหรือสถานที่ทำงานเดียวกัน  ต้องรีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที

          อย่างไรก็ตาม นโยบายการป้องกันโรคทั้งหมดที่ได้กล่าวมา ล้วนเป็นมาตรการในเชิงรับและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เท่านั้น เพราะผู้ได้รับเชื้อมายังมีเวลาเพียงพอสำหรับในการเดินทางเข้าประเทศ ก่อนที่จะเกิดอาการป่วย เนื่องจากเชื้อไวรัสยังอยู่ในระยะฟักตัว ประกอบกับสภาพร่างกายที่ยังแข็งแรงจึงยังไม่แสดงอาการ ดังนั้นเชื่อว่าการกลั่นกรองผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถสกัดกั้นโรคนี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะช่วงนี้เป็นฤดูฝน ทำให้มีฝนตกชุกทั่วประเทศ จึงถือเป็นสัญญาณอันตรายที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการระบาดของไข้หวัดได้ง่าย หากมีผู้ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 หลุดรอดเข้ามาในประเทศ และไม่ได้รับการรักษาพยาบาล คิดว่าป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ปล่อยให้มีการแพรเชื้อออกไปเป็นวงกว้างคงเป็นเรื่องที่น่ากลัว และอันตรายกับชีวิตคนไทยทุกคนจริงๆ ดังนั้นทุกคนจึงไม่ควรประมาท จนกว่าเจ้าเชื้อร้ายจะสิ้นสลายไป หรือมีวัคซีนรักษาที่เพียงพอไม่ใช่เรื่องที่เราจะวางใจได้ง่ายๆ 

          ติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข  http://www.moph.go.th/  และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333  และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตา! สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2552 เวลา 21:46:50
TOP