x close

วิวัฒนาการ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ 2009


วิวัฒนาการเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (ไทยรัฐ)

         
ภาวะโลกร้อน และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างทุกวันนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน หลายคนคงได้ยินโรคที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ เริ่มกลายพันธุ์และแพร่ระบาดมากขึ้นไปทั่วโลก ทั้ง "ไข้หวัดนก" , "ไข้หวัดใหญ่ 2009" วันนี้เราจะไปรู้จักวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อเป็นความรู้กันดีกว่าค่ะ


 รู้จักกันก่อน

         เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จัดอยู่ในในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม โดยมีแอนติเจนที่ผิวที่สำคัญ ได้แก่ Hemagglutinin (H) มี 15 ชนิด และ Neuraminidase (N) มี 9 ชนิด สมาชิกใน family Orthomyxoviridae ประกอบด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 types คือ A, B และ C

         Type A ก่อการติดเชื้อในมนุษย์และสัตว์หลายชนิด เช่น ม้า สุกร นก ไก่ เป็นต้น โรคไข้หวัดใหญ่ที่พบในมนุษย์มีสาเหตุเกิดจาก type A ประมาณร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ทั่วโลกด้วย เป็น type ที่มีการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของฮีแมกกลูตินิน และนิวรามินิเดสไปจากเดิมมากจนกระทั่งเกิดเป็น subtype ใหม่ขึ้นอยู่เรื่อยๆ

         Type B เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบรองลงมาจาก type A ก่อการติดเชื้อเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น มักพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ type B มีการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของฮีแมกกลูตินินเช่นกัน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากพอที่จะจัดเป็น subtype ใหม่

         Type C มีรายงานการติดเชื้อในมนุษย์ และสุกร ไม่ค่อยมีความสำคัญทางคลินิก มนุษย์ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการอย่างอ่อน คุณสมบัติของไวรัส type นี้ค่อนข้างแตกต่างไปจาก type A และ B

         เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีรูปร่างหลายแบบ เช่น กลม หรือเป็นสายยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 นาโนเมตร แต่พวกที่เป็นสายยาวอาจมีความยาวหลายไมโครเมตร มีสายพันธุกรรมเป็น RNA สายเดี่ยวมี polarity เป็นลบ และแยกเป็นชิ้น โดย types A และ B มี 8 ชิ้น ส่วน type C มี 7 ชิ้น ชั้นนอกของไวรัสเป็นเปลือกหุ้ม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไขมันและไกลโคโปรตีน บนเปลือกหุ้ม มี spikes สองชนิดคือฮีแมกกลูตินิน ซึ่งมีรูปร่างเป็นแท่ง และนิวรามินิเดส ซึ่งมีรูปร่างเหมือนดอกเห็ด spikes 2 ชนิด รวมกันมีจำนวนประมาณ 500 ก้าน จำนวนของ H : N มีอัตราส่วนประมาณ 4-5 : 1

         ไวรัสสามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนได้ง่ายโดยการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย (antigenic drift) หรือมีการเปลี่ยนยีนในกรณีที่เซลล์มีการติดเชื้อ 2 subtypes ที่แตกต่างกัน กลายเป็น subtype ใหม่ (antigenic shift) ซึ่งทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ และเป็นสาเหตุที่ก่อระบาดวิทยาใหญ่ทั่วโลกบ่อยกว่าไวรัสอื่น

 การเปลี่ยนแปลงแอนติเจน

 

ไข้หวัดใหญ่ 2009


         เนื่องจากไวรัสมีจีโนมเป็น RNA และเป็นท่อน และมีการติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด เช่น สัตว์ปีก ม้า และสุกร เป็นต้น จึงทำให้จีโนมของไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุรรมได้ค่อนข้างบ่อย การเปลี่ยนแปลงจีโนมทำให้แอนติเจนซึ่งเป็นผลผลิตของยีนเปลี่ยนแปลงไปด้วย

         antigenic shift พบเฉพาะในไวรัสไข้หวัดใหญ่ type A เท่านั้น เกิดขึ้นจากขบวนการ gene reassortment คือ การที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2 ฃนิด ซึ่งเป็น type A เหมือนกับมีการติดเชื้อในเซลล์เดียวกัน ในขั้นตอน self assembly เพื่อประกอบขึ้นเป็นอนุภาค อาจมีการนำชิ้นจีโนมบางชิ้นของไวรัสชนิดหนึ่งใส่เข้าไปในอนุภาคของไวรัสอีกชนิดหนึ่ง จึงได้อนุภาคของไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งมีแอนติเจนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการเปลียน subtype ของ H และหรือ N ก็ได้ และเนื่องจากประชาชนไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดใหม่ เชื้อจึงทำให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้น

         การระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสไข้หวัดใหญ่ผ่านมาแล้วหลายครั้ง เกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อมี antigenic shift ดังกล่าว ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบใน species ต่างๆ ในปัจจุบันเชื่อว่ามีวิวัฒนาการมาจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ของนกน้ำ

         antigenic drift เป็นการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย พบได้ในไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุก type แต่ไม่มากพอที่จะเป็น H และ N subtypes ใหม่ การเปลี่ยนแปลงชนิด antigenic drift อาจทำให้เกิดการระบาดได้ในวงไม่กว้างนัก

         กลไกในการเกิด antigenic drift เชื่อว่าเกิดจากขบวนการ point mutation ภายในจีโนม เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีเอนไซม์ RNA polymerase ซึ่งไม่มี proof reading activity ความผิดพลาดในการ replicate จีโนมพบได้ในอัตรา 1/10*4 bases ในแต่ละ replication cycle จากอัตราส่วนนี้จะพบว่ามีไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้นมากมาย เพียงแต่บางอนุภาคเท่านั้นที่จะเพิ่มจำนวนได้ต่อไป

 วงจรการติดต่อข้ามชนิดสัตว์

         ตามปกติเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกจะพบ H1-H15 และ N1-9 ซึ่ง H และ N สามารถจับคู่ผสมกัน แต่ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคค่อนข้างจะจำกัดอยู่ในกลุ่มของ H5 และ H7 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรพบอยู่ในกลุ่มของ H1N1, H1N2 และ H3N2

         เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในกลุ่ม H1N1, H2N2 และ H3N2

         เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนข้ามไปมาระหว่างสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ โดยปรากฎสมมติฐานการติดต่อจากนกน้ำชนิดต่างๆ มายังเป็นหรือไก่ ผ่านสุกรที่เป็นตัวกลางผสมผสานไวรัสก่อนที่มาติดต่อถึงมนุษย์

         โดยปกติในเซลล์ของมนุษย์จะไม่ปรากฏโมเลกุลตัวรับไวรัสที่มาจากสัตว์ปีก ส่วนในสุกรจะมีตัวรับไวรัสทั้งมนุษย์ และสัตว์ปีก ตามธรรมชาติของไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้ซึ่งมีองค์ประกอบของสารพันธุกรรมซึ่งเป็น 8 ชิ้นส่วน แต่ละชิ้นส่วนเป็นรหัสควบคุมการสร้างโครงสร้างต่างๆ ของไวรัส รวมทั้ง H และ N ซึ่งมีความหลากหลาย

         สุกรจึงมีโอกาสรับเชื้อไวรัสจาก 2 แหล่งคือจากสัตว์ปีก และมนุษย์ซึ่งจะเพิ่มจำนวนอยู่ในเซลล์เดียวกัน ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการจับคู่ชิ้นส่งวนของ RNA เกิดเป็นไวรัสย่อยชนิดใหม่ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของไวรัสปรากฏเป็นคู่หมายเลขใหม่ของ H และ N หากทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในมนุษย์จะเป็นไวรัสใหม่ซึ่งมนุษย์ไม่เคยสัมผัส และไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อใหม่นั้น อาจทำให้เกิดโรครุนแรง และหากสามารถติดต่อจากมนุษย์หนึ่งไปสู่อีกมนุษย์หนึ่งได้ ก็อาจทำให้เกิดการระบาดได้ในพื้นที่กว้างออกไป


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
bangkokhospital.com
bangkokhealth.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิวัฒนาการ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2552 เวลา 21:45:36 1,221 อ่าน
TOP