x close

เจาะลึก วัคซีนหวัด 2009 ฝีมือคนไทย เข็มแรก 5 ธันวาคม

วัคซีนหวัด 2009


เจาะลึก "วัคซีนหวัด 2009"  ฝีมือคนไทยเข็มแรก5ธันวา (มติชน)

          ช่วงเวลา 4 - 5 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังไม่ลดละ แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อ ล่าสุดที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน - 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 6,776 ราย เสียชีวิตสะสม 44 ราย ในจำนวนนี้หายแล้ว 6,697 ราย ยังพักรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 35 ราย อาการหนัก 7 ราย ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ชุมชน หรือการใช้เจลทำความสะอาด ภายใต้สโลแกนที่ระบุว่า "กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือบ่อยๆ" พร้อมใจจดใจจ่อรอวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 

          "ขณะนี้ประเทศไทยได้รับเชื้อต้นแบบชนิดเป็นจากประเทศรัสเซีย เพื่อนำมาทดลองผลิตวัคซีนป้องกัน ไข้หวัดใหญ่2009 ที่โรงงานนำร่องของคณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม มีผู้เชี่ยวชาญทั้งของรัสเซีย และขององค์การอนามัยโลกมากำกับการผลิต รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ขณะนี้ อภ.อยู่ระหว่างทดสอบการเลี้ยงเชื้อในไข่ไก่ในระยะแรก ก่อนจะทำการเลี้ยงเชื้อเต็มรูปแบบในระยะที่สอง คืออีกประมาณ 1 สัปดาห์ข้างหน้า จะทราบผลชัดเจนประมาณช่วงวันที่ 6 - 7 สิงหาคมนี้ ก่อนจะนำไปทดสอบในอาสาสมัครต่อไป เนื่องจากการผลิตเชื้อต้นแบบดังกล่าวได้ผ่านการทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำการทดลองซ้ำ" นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุ 

          สำหรับเชื้อที่ได้มาจากรัสเซียเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอช1 เอ็น1 ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือ "ไวรัสเชื้อเป็น" ที่ต้องใช้วิธีพ่นใส่โพรงจมูก โดยนักวิทยาศาสตร์จากรัสเซียได้ทำให้ไวรัสอยู่ได้ในอุณหภูมิต่ำกว่า -10 องศาเซลเซียส และนำมาผ่านกระบวนการทำให้ไวรัสไม่ก่อโรค ซึ่งวิธีการทำนี้เป็นองค์ความรู้เฉพาะและเป็นลิขสิทธิ์ของแต่ละองค์กร มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถทำได้ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้รับองค์ความรู้ดังกล่าวในการผลิตก่อนจะนำไปใช้ในมนุษย์จริงๆ โดย อภ.คาดการณ์ว่า เมื่อวัคซีนดังกล่าวสำเร็จจะสามารถผลิตได้ประมาณเดือนละ 2.5 ล้านโด๊ส ซึ่งรองรับคนได้ประมาณ 2.5 ล้านคนด้วย 

          ในส่วนของการทดลองในมนุษย์นั้น เบื้องต้น นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคน บอกว่า หลังจาก อภ.สามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ทางคณะกรรมการก็จะดำเนินการให้ทดสอบในอาสาสมัครจำนวน 424 คน โดยจะติดตามประสิทธิภาพหลังการรับวัคซีนภายใน 120 วัน หากผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ไม่มีผลข้างเคียง ก็จะแจกจ่ายวัคซีนดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ภายในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งตั้งเป้าในการให้วัคซีนครั้งแรก ในวันที่ 5 ธันวาคม เนื่องจากเป็นวันดี และถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติในคราวเดียวกัน

          "คาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเชื้อต้นแบบดังกล่าวได้ถูกทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลองทั้งในรัสเซียและเนเธอร์แลนด์ จึงไม่ต้องกังวลหากจะนำมาทดสอบในอาสาสมัครคนไทยจะเกิดผลข้างเคียงใดๆ ที่สำคัญการคัดเลือกอาสาสมัครจะมีหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว โดยได้มอบหมายให้ศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้คัดเลือก ซึ่งอาสาสมัครทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล โดยศูนย์ทดสอบวัคซีนจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าสมัครได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีระบบการคัดเลือกและทำความเข้าใจแก่ผู้สมัครทุกคน" นพ.วิชัยระบุ

          สำหรับเกณฑ์คัดเลือกอาสาสมัครที่จะมาทดลองวัคซีนดังกล่าว นพ.วิชัยบอกว่า แบ่งเกณฑ์ออกเป็น 2 แบบ คือ เกณฑ์คัดเข้าและเกณฑ์คัดออก โดยเกณฑ์คัดเข้า อาทิ บุคคลดังกล่าวต้องเป็นสัญชาติไทย มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และหากเป็นหญิงต้องไม่ตั้งครรภ์ เป็นต้น ขณะที่เกณฑ์การคัดออก อาทิ หากมีโรคประจำตัวจะไม่ได้รับการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวต้องฉีดพ่นเข้าโพรงจมูก โรคปอดเรื้อรัง และในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ ป่วยด้วยโรคเอดส์ หรือคนที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน รวมทั้งหากแพ้โปรตีนจากไข่ก็จะไม่ถูกการพิจารณา 

          ในส่วนของอาสาสมัครจำนวน 424 คน จะแบ่งเป็นกลุ่มอายุแตกต่างกันไป โดยจะแบ่งการทดสอบเป็น 2 ระยะ คือระยะแรก จะทำการทดสอบในอาสาสมัครจำนวน 24 คน ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 - 49 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนสุขภาพทั่วไปปกติ แข็งแรง ส่วนระยะที่สอง จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอายุ คือกลุ่มอายุระหว่าง 12 - 18 ปี จำนวน 100 คน กลุ่มอายุมากกว่า 18 ปี ไปจนถึง 45 ปี อีก 200 คน และกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไปอีก 100 คน ทั้งหมดจะทำการทดสอบในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยหากเดินทางไปกลับ เพื่อมาพบนักวิจัยตามที่นัดหมายจะได้ครั้งละ 500 บาท ส่วนช่วงเวลาที่พักค้างคืนที่ศูนย์ทดสอบวัคซีน ซึ่งมี 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะได้ค่าตอบแทนประมาณครั้งละ 5,000 บาท สำหรับงบประมาณในการศึกษาครั้งนี้ อภ.จะเป็นผู้รับผิดชอบประมาณ 1 ล้านบาท

          ถือเป็นความหวังของคนไทยกับการป้องกันโรค ไข้หวัดใหญ่2009 ซึ่งจะกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น 

                              เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 
                             
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะลึก วัคซีนหวัด 2009 ฝีมือคนไทย เข็มแรก 5 ธันวาคม อัปเดตล่าสุด 28 กรกฎาคม 2552 เวลา 14:27:41
TOP