x close

โรคลมชัก..รักษาได้ถ้ารู้แต่เนิ่น ๆ


โรคลมชัก


โรคลมชัก..รักษาได้ถ้ารู้แต่เนิ่น ๆ (ไทยโพสต์)

          โรคลมชักเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย และโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 1% ของประชากรในประเทศไทย หรือคิดเป็นผู้ป่วยโรคลมชักประมาณ 6-7 แสนคน

          โรคลมชักนั้นไม่ใช่โรคติดต่อแต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ซึ่งขึ้นอยู่กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและชนิดของการชัก และที่สำคัญ โรคลมชักพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่หากได้รับการรักษาที่ถูกวิธีแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

          ทั้งนี้ "อาการชัก" เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมอง ซึ่งมีการนำของกระแสไฟฟ้าที่ลัดวงจร ก่อให้เกิดอาการชักตามมา หากกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองเป็นบางส่วน จะทำให้เกิดอาการชักเฉพาะที่ในขณะที่ยังรู้ตัวอยู่ แต่ถ้าหากมีเหม่อลอยหมดสติทำอะไรไม่รู้ตัว จะเรียกว่าอาการชักแบบเหม่อ ขณะเดียวกันหากกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองทั้งสองข้าง จะทำให้เกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หรือชักแบบแน่นิ่งที่พบบ่อยในเด็กนั่นเอง

สาเหตุของโรคลมชัก

          1.เกิดจากแผลเป็นในสมอง เช่น การติดเชื้อในสมอง อุบัติเหตุต่อสมอง หรือการชักในขณะไข้สูงในวัยเด็กที่ชักนาน หรือชักติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง สมองจะขาดออกซิเจน สมองถูกกระทบกระเทือน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในระหว่างมารดาตั้งครรภ์และแรกคลอด

          2.เกิดจากโรคทางพันธุกรรม

          3.เกิดจากภาวะมีก้อนในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง

          4.โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ แตกหรือตีบตัน

          5.โรคทางกาย เช่น ภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูงหรือต่ำ น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ รวมถึงโรคตับโรคไต
         
          6.การดื่มเหล้า การกินยาบ้า เสพยาเสพติด หรือได้รับสารพิษ เป็นต้น 

การวินิจฉัยโรคลมชัก

          แพทย์จะอาศัยข้อมูลจากลักษณะการชักที่ได้จากคนไข้และผู้พบเห็นผู้ป่วยในขณะชัก (ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ปัจจุบัน ประวัติครอบครัว) การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจคลื่นสมอง บางครั้งอาจใช้การวินิจฉัยอี่น ๆ ซึ่งอาจมีความจำเป็น เช่น การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กสมอง การตรวจคลื่นสมองพร้อมวิดีโอ 24 ชั่วโมง การตรวจสมองโดยใช้สารกัมมันตรังสี เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพในสมอง

การรักษาโรคลมชัก

          ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง คลินิกลมชัก Epilepsy Clinic ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า มีหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็น

          1.การใช้ยา ยังเป็นการรักษาหลักที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กและผู้ใหญ่ การรักษาโดยการใช้ยาเพื่อช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ แพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดและขนาดยาที่เหมาะสมกับอาการชักของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งจะใช้เวลาในการทานยาประมาณ 2-5 ปี แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาหยุดยาได้ โดยที่ผู้ป่วย 60-70% สามารถหายขาดจากโรคลมชักด้วยยา

          2.การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ในต่างประเทศ และนิยมทำในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักที่ดื้อต่อยา และไม่สามารถจะรักษาโดยการผ่าตัดได้ วิธีการโดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปในร่างกาย และกระตุ้นผ่านเส้นประสาทบริเวณคอ

          3.การควบคุมอาหารเพื่อรักษาโรคลมชักในเด็ก เป็นการรักษาทางโภชนบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีระดับ ketone ในร่างกายสูง ลักษณะอาหารจะมีไขมันค่อนข้างสูงและมีโปรตีนต่ำ วิธีการนี้จึงเหมาะสมกับเด็ก เนื่องจากพ่อแม่สามารถควบคุมเรื่องอาหารและตรวจปัสสาวะได้ตลอดเวลา โดยจะทำให้มีสาร ketone และสารดังกล่าวจะใช้ได้ผลในผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง ซึ่งมีอาการชักค่อนข้างรุนแรง จะทำให้อาการชักดีขึ้นประมาณ 60-70% และจะพบคนไข้ที่ไม่มีอาการชักเลยในระหว่างที่มีการให้อาหารชนิดนี้ประมาณ 30% สำหรับโรคลมชักในผู้ใหญ่จะไม่นิยมวิธี ketogenic diet เนื่องจากอาหารประเภทนี้มีไขมันค่อนข้างสูง

          4.การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่ดื้อยาหรือมีพยาธิสภาพในสมองที่ชัดเจน แพทย์พิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดสมอง โดยจะวิเคราะห์ผู้ป่วยอย่างละเอียดจากทีมสหสาขา และกระบวนการตรวจที่ทันสมัยพร้อมเทคนิคใหม่ ๆ ทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายจากชักสูงมาก โดยที่ไม่มีผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ในรายที่การรักษาทางยาไม่ได้ผลหรือผ่าตัดรักษาไม่ได้ ก็อาจจะใช้วิธีการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า

          พร้อมกันนี้ คุณหมอยังได้แนะนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโรคชักว่า เมื่อพบผู้ป่วยที่กำลังชัก ตั้งสติให้ดีอย่าตกใจ หลังจากนั้นให้จับผู้ป่วยนอนตะแคงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลักและลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ แล้วคลายเสื้อผ้าให้หลวม และห้ามใช้นิ้วหรือสิ่งของใด ๆ งัดปากผู้ป่วยขณะชัก เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือได้ หลังชักผู้ป่วยอาจมีอาการงงและยังไม่รู้สติ ห้ามยึดจับผู้ป่วยเพราะจะกระตุ้นผู้ป่วยให้ทำการต่อสู้รุนแรงได้

          ในกรณีที่ผู้ป่วยหลับหลังชักควรปล่อยให้หลับต่อ ห้ามป้อนอาหารหรือยาจนกว่าจะฟื้นเป็นปกติเพราะอาจสำลักได้ ที่สำคัญหากผู้ป่วยชักนานกว่าปกติหรือชักซ้ำขณะที่ยังไม่ฟื้นเป็นปกติ ควรนำส่งโรงพยาบาล เพราะการชักบ่อย ๆ อาจทำให้การทำงานของสมองบกพร่องได้


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคลมชัก..รักษาได้ถ้ารู้แต่เนิ่น ๆ อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 11:25:29 2,419 อ่าน
TOP