ศิริราชแถลงผลิตแอนติบอดีรักษาอีโบลาสำเร็จ จดสิทธิบัตรแล้ว


แอนติบอดีรักษาอีโบลา
ศิริราช ผลิต แอนติบอดีรักษาอีโบลาสำเร็จ


ศิริราชแถลงผลิตแอนติบอดีรักษาอีโบลา จดสิทธิบัตรแล้ว (ไอเอ็นเอ็น)

          คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช เผย ผลิตแอนติบอดี รักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาได้แล้ว หวังช่วยเหลือคน ระบุ จดสิทธิบัตรแล้ว เตรียมผลิตเพิ่มตามมาตรฐาน GMP พร้อมขอจดทะเบียนยาใหม่ต่อไป

          ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช มี ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาสำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย กล่าวว่า แอนติบอดีคือโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีการสร้างจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ ซึ่งจะสร้างขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย แอนติบอดีจะถูกผลิตออกมาจากเม็ดเลือดเรียกว่า ลิมโฟชับท์บี

          ทั้งนี้ปกติแล้วร่างกายจะใช้เวลา 7-10 วัน ในการผลิตแอนติบอดี ซึ่งถือว่าล่าช้าสำหรับการสร้างการป้องกันดังกล่าว ผู้ป่วยจึงมักจะเสียชีวิตก่อน แต่ทางโรงพยาบาลสามารถสร้างแอนติบอดีจำเพาะขึ้นมาเพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัสอีโบลา พร้อมกับเตรียมไว้ใช้แก่ผู้ป่วยได้ทันที เรียกว่า ภูมิคุ้มกันพร้อมใช้ หรือ แอนติบอดีรักษา

          โดยแอนติบอดีจำเพาะที่คณะแพทย์วิจัยผลิตขึ้นนั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่มีขนาดเล็กกว่าแอนติบอดีตามปกติ เรียกว่า แอนติบอดีสายเดี่ยว สามารถเข้าไปในเซลล์ที่ติดเชื้อได้ และมีความจำเป็นต่อโปรตีนของไวรัสอีโบลา ชนิดจีพีหนึ่ง-จีพีสอง นิวคลีโอโปรตีน ไวรัสโปรตีน 40 35 โดยจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของไวรัสอีโบลาได้

          สำหรับต้นแบบแอนติบอดีที่คณะแพทย์ได้วิจัยศึกษาคิดค้นขึ้นนี้ ได้ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งสิทธิทั้งหมดเป็นของคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนี้ คณะแพทย์ได้ร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซเอ็นซ์ ในการร่วมมือผลิตแอนติบอดีในการรักษา และผลิตในปริมาณมากขึ้นเป็นไปตามมาตรฐาน GMP พร้อมขอจดทะเบียนยาใหม่ต่อไป

          ด้าน ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาระบาด ว่า คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไม่ได้นิ่งนอนใจถึงสถานการณ์ โดยทีมวิจัยของทางศิริราชทำการศึกษาคว้าทางการรักษามาโดยตลอด ในที่สุดเราสามารถผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นผลมาจากการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีใหม่แบบครบวงจร ทำให้เกิดความรู้ใหม่ นำมาซึ่งการใช้ประโยชน์ในการบริการรักษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล

          ทั้งนี้การดำเนินการวิจัยเป็นการดำเนินการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะแพทย์ ที่เป็นสถาบันแพทย์ของแผ่นดิน มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศระดับสากล สามารถให้บริการรักษาระดับมาตรฐานโลก โดยได้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าทำได้ชัดเห็นเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมา ทางศิริราชก็ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ครั้งที่ 4 ตามมาตรฐานขั้นก้าวหน้าและเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรอง





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศิริราชแถลงผลิตแอนติบอดีรักษาอีโบลาสำเร็จ จดสิทธิบัตรแล้ว อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2557 เวลา 18:51:28 1,484 อ่าน
TOP
x close