x close

11 โรคผิวหนังหน้าร้อนต้องระวัง คันตามตัวในฤดูนี้ประจำ ทำยังไงดี

          โรคผิวหนังหน้าร้อน มักมีอาการคันตามตัว ก่อให้เกิดความไม่สบายกาย ลองเช็กดูไหมว่าเป็นโรคอะไร จะได้รักษาถูกจุด

โรคผิวหนัง

          ฤดูร้อนจริง ๆ ก็ไม่ได้แย่เท่าไร แต่ที่รู้สึกขัดใจคือพออากาศร้อนปั๊บ เหมือนจะเป็นโรคผิวหนังอะไรสักอย่างตลอดเลย บางทีก็มีอาการคันตามตัว ซึ่งจะใช่อาการแพ้เหงื่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือลูบที่ผิวก็เจอว่าผดผื่นขึ้นไปอีก โอย...โรคผิวหนังหน้าร้อนมีอะไรบ้างล่ะเนี่ย แล้วที่เราเป็นอยู่ตรงกับโรคไหน ลองเช็กให้รู้ชัดกันไปเลย

โรคผิวหนังหน้าร้อน มีอะไรบ้าง


          ถ้ามีอาการคันตามตัว มีผดผื่นขึ้น ผิวหนังแสบ แดง ลองเช็กเลยว่าตรงกับโรคไหน

1. กลิ่นตัว


          กลิ่นตัวเกิดจากแบคทีเรียที่ผิวหนังทำปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงสารบางอย่างในเหงื่อของคนเรา จนเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ขึ้นมา และเมื่ออากาศร้อนมาก เหงื่อออกมาก กลิ่นตัวก็จะแรงขึ้น

          - กลิ่นเต่าเหม็น รับมืออย่างไร ไม่ให้เสียบุคลิก 

2. ผดร้อน


โรคผิวหนัง

          ผดร้อนเป็นโรคผิวหนังยอดฮิต ดูจากชื่อก็คงพอรู้ ซึ่งจะเกิดได้บ่อยกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนเจ้าเนื้อ หรือคนที่ใส่เสื้อผ้ารัดแน่นมาก ๆ จนเกิดการสะสมของเหงื่อ โดยจะมีอาการเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสเม็ดเล็ก ๆ บริเวณซอกต่าง ๆ ของร่างกายที่เสียดสีกัน รวมทั้งหน้าอก คอ และหลัง

          - ผดร้อน อาการทางผิวหนังจากอากาศร้อน รู้จักไว้ป้องกันได้

3. ผิวไหม้แดด


          ต้องยอมรับว่าแดดเมืองไทยร้อนแรงดั่งไฟแผดเผาจริง ๆ ดังนั้นหากทำกิจกรรมกลางแจ้งติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีอาการผิวไหม้แดด เปลี่ยนจากสีผิวปกติเป็นสีแดงกร่ำ พร้อมอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง จากนั้นผิวจะเริ่มคล้ำและหลุดลอกเป็นขุย ๆ ซึ่งหากเกิดอาการผิวไหม้แดดแล้ว ควรรีบบรรเทาอาการให้ไว

          - 7 สูตรรักษาผิวไหม้แดด ด้วยวิธีง่าย ๆ แต่เวิร์ก ! 

          แต่หากถูกแดดนาน ๆ จนผิวกลายเป็นแผลพุพองรุนแรง รู้สึกมีไข้ หนาวสั่น หน้าบวม เวียนหัว สับสนมึนงง หรือมีภาวะขาดน้ำ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

4. กลาก


          กลาก เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา ซึ่งมักจะเกิดในร่มผ้า ซอกพับที่อับชื้นจากเหงื่อหรือสภาพอากาศชื้น ๆ ลักษณะจะเป็นตุ่มแดง ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายออกไปเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน ตุ่มมีลักษณะนูน แดง และมีสะเก็ด ขอบผื่นอาจมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มน้ำหนอง แล้วแต่ความรุนแรงของอาการในแต่ละบุคคล

5. เกลื้อน


โรคผิวหนัง

          โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อราที่พบได้บ่อยในหน้าร้อนอีกหนึ่งโรค คือ เกลื้อน ที่มักจะขึ้นตามคาง ใบหน้า หู หน้าอก หลัง ไหล่ ต้นคอ และแขน ลักษณะเป็นผื่นวงเล็ก ๆ สีแดง สีขาว หรือสีน้ำตาล โดยวิธีรักษาเกลื้อนส่วนใหญ่จะรักษาด้วยแชมพูกำจัดเชื้อรา ในลักษณะทาและพอกทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จากนั้นก็ล้างออก เพราะแชมพูกำจัดเชื้อรามีฤทธิ์ค่อนข้างแรง หากพอกทิ้งไว้นานอาจระคายเคืองต่อผิวหนังได้

          - 10 สมุนไพรรักษากลากเกลื้อน หาง่าย ใช้ดี ไม่ต้องง้อยา ! 

6. ภูมิแพ้ผิวหนัง


          ในคนที่มีผิวแพ้ง่าย มีโรคภูมิแพ้ผิวหนังอยู่เดิม หรือมีโรคแพ้ภูมิตัวเอง อย่าง SLE เมื่อเจออากาศร้อน เหงื่อเยอะ ก็อาจเกิดการสะสมของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ทำให้มีอาการผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง และมีผื่นคัน แดง ตามผิวหนังเพิ่มขึ้น หรือกระตุ้นอาการผื่นคันในโรคที่เป็นอยู่ให้มีอาการมากขึ้นในช่วงหน้าร้อน

7. โรคแพ้แสงแดด (Chronic Actinic Dermatisis)


          เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณนอกร่มผ้า หรือในบางรายพบว่าเกิดปฏิกิริยากับแสงที่เรามองเห็นด้วย กล่าวคือมีอาการแพ้แสง ดวงตาสู้แสงไม่ได้ โดยโรคนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ เพศชาย อาการแพ้แดดก็จะมีอาการคันบริเวณที่โดนแดด และอาจลุกลามเป็นผื่นนูนคัน บางครั้งอาจเป็นตุ่มน้ำ ตั้งแต่ศีรษะจนไปถึงข้อเท้า มีลักษณะคล้ายผิวคางคกและบางทีมีน้ำเหลืองด้วย ซึ่งร่างกายจะแสดงอาการเมื่อมีการสะสมพลังงานสมควร แต่มักจะไม่พบผื่นบริเวณที่ไม่สัมผัสแสงแดด เช่น หลังหู ใต้คาง ต้นแขนด้านใน

          ส่วนการรักษาหลัก ๆ จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือใช้ยาชนิดรับประทานและยาทา เมื่อมีอาการ แต่ในเคสที่อาการหนักอาจรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียม

8. โรคแพ้เหงื่อตัวเอง


โรคผิวหนัง

          โรคแพ้เหงื่อตัวเองก็เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ที่มักจะเกิดกับผู้ที่มีความไวต่อสิ่งเร้าทางผิวหนังมาก จนก่อให้เกิดภาวะแพ้ได้ โดยอาการแพ้มักจะแสดงออกมาในรูปผื่นคัน หรืออาการแดงที่ผิวหนัง เมื่อมีเหงื่อออก โดยเฉพาะในหน้าร้อน ที่เรามักจะเหงื่อซึมกันอยู่ตลอด

          - โรคแพ้เหงื่อตัวเอง เป็นตุ่มคันคล้ายสิว เช็กเลยเราเป็นไหม 

9. โรครูขุมขนอักเสบ (Folliculitis)


         
เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง จากการหมักหมมของเหงื่อ ไคล เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยอาการส่วนใหญ่จะมีผื่นแดงบริเวณรูขุมขนในจุดที่มีขนเยอะ เช่น หนวด เครา รักแร้ แต่จะไม่คัน ทว่าถ้ามีการอักเสบรุนแรงอาจจะเป็นตุ่มหนอง แดง และเจ็บ หรือที่เรียกกันว่าฝี และหากฝีแตกก็จะมีหนองไหลออกมา มีอาการไข้ จากการอักเสบของผิวหนัง

          ส่วนการรักษาหากอาการไม่มาก มักจะหายได้เอง หรือเบื้องต้นอาจรักษาด้วยยาทาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ แต่หากเป็นแผลอักเสบ มีฝีหนอง อาจต้องผ่าระบายหนองออก และรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

10. ฝ้า กระแดด


โรคผิวหนัง

          ภาวะนี้แม้ไม่อันตรายมาก แต่ก็ทำให้หมดสวยหมดหล่อไปได้เยอะ ซึ่งฝ้า กระแดด เกิดขึ้นจากการตากแดดแรง ๆ บ่อย ๆ จนอัลตราไวโอเลตในแสงแดดไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีเพิ่มขึ้น ทำให้ผิวหนังหมองคล้ำ และใบหน้ามีฝ้า กระแดด ได้

          - วิธีรักษาฝ้าให้หายขาด คืนความมั่นใจให้หน้าเนียนใสอีกครั้ง 

11. มะเร็งผิวหนัง


          หากต้องออกแดดบ่อย ๆ โดยไม่ปกป้องผิวด้วยสารกันแดด หรืออุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันแสงแดดก็อาจเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นได้ อันตรายไม่ใช่เล่นนะคะ

          - เช็กสัญญาณโรคร้าย เป็นแผลเรื้อรังไม่หาย ไฝเปลี่ยนไป อาจใช่มะเร็งผิวหนัง !

          นอกจากนี้อากาศร้อน ๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงโรคทางกายอีกหลายอย่าง เช่น ลมแดด ฮีตสโตรก โรคเพลียแดด หรือโรคหน้าร้อนอื่น ๆ ดังนี้

          - 11 โรคหน้าร้อนที่พบได้บ่อย รู้ไว้หน่อยจะได้ไม่ป่วย

          - เหงื่อออกเยอะเกินไป เป็นโรคอะไรหรือเปล่า 

วิธีป้องกันตัวเองจากโรคผิวหนังในหน้าร้อน


โรคผิวหนัง

          คงไม่มีใครอยากเป็นโรคหรือมีภาวะผิดปกติทางร่างกาย ดังนั้นเมื่อถึงฤดูร้อน อยากให้ดูแลตัวเองตามนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีนะคะ

          1. หลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน

          2. หากมีความจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรทาครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB ซึ่งมี SPF 30-50 บริเวณใบหน้า ลำคอ แขน ขา และผิวที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม และควรทาซ้ำทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง

          3. ควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หมวกปีกกว้าง แว่นตากันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดทำร้ายผิว

          4. เลือกใส่เสื้อผ้าที่โปร่งบาง เพื่อช่วยระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี

          5. จิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

          6. รักษาสุขอนามัย อาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด

          7. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

          8. พักผ่อนให้เพียงพอ

          9. หมั่นสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ผิวสีคล้ำขึ้นไหม ผิวหนังดูหนา ขรุขระ หรือกดแล้วเจ็บไหม ถ้าใช่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

          ฤดูร้อนบ้านเราร้อนจริงร้อนจัง ดังนั้นอยากให้ดูแลสุขภาพให้มากขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงแสงแดดให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วง 10.00-15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แสงแดดร้อนจัด อันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคหน้าร้อน


          - 11 โรคหน้าร้อนที่พบได้บ่อย รู้ไว้หน่อย จะได้ป้องกันก่อนป่วย !
          - ฮีตสโตรก โรคที่เกิดช่วงหน้าร้อน เช็กอาการเตือนก่อนอันตรายถึงชีวิต
          - 15 สมุนไพรแก้ผดผื่นคันหน้าร้อน หายได้ด้วยของดีใกล้ตัว
          - โรคแพ้เหงื่อตัวเอง เป็นตุ่มคัน คล้ายสิว เช็กเลยเราเป็นไหม
          - ร้อนในเกิดจากอะไร วิธีแก้ร้อนในในช่องปาก 



ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันโรคผิวหนัง, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โรงพยาบาลผิวหนังอโศก, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
11 โรคผิวหนังหน้าร้อนต้องระวัง คันตามตัวในฤดูนี้ประจำ ทำยังไงดี อัปเดตล่าสุด 7 เมษายน 2566 เวลา 13:25:20 93,352 อ่าน
TOP