x close

ฮีตสโตรก โรคที่มากับหน้าร้อน เช็กอาการเตือนก่อนอันตรายถึงช­­­­ีวิต

          โรคฮีตสโตรก หรือ โรคลมแดด ปัญหาสุขภาพที่มักเกิดขึ้นในอากาศร้อนจัด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ฮีทสโตรก โรคที่เกิดช่วงหน้าร้อน

          ปัจจุบันภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะนับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทยสภาพอากาศก็ร้อนจัดขึ้นทุกปี ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหลายโรค เช่น โรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการรับประทานอาหาร และน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ซึ่งเกิดบ่อยที่สุด แต่โรคที่มีการพูดถึงกันน้อย คนเป็นบ่อยช่วงหน้าร้อน คือ "โรคฮีตสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" (Heat Stroke) แต่บางที่ก็เรียกว่า "โรคอุณหพาต" หรือ "โรคลมเหตุร้อน" นั่นเอง

ฮีทสโตรก

ฮีตสโตรก คืออะไร อาการเป็นอย่างไร


          โรคฮีตสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกาย (core temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ทั่วร่างกาย ถือเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้

          อาการที่พบเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย

          นอกจากนี้ยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ภาวะขาดเหงื่อ, เพ้อ, ชัก, ไม่รู้สึกตัว, ไตล้มเหลว, มีการตายของเซลล์ตับ, หายใจเร็ว, มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การสลายกล้ามเนื้อลาย, ช็อก และเกิดการสะสมของ Fibrin จนไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็ก ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เสียชีวิตได้

ฮีตสโตรก เกิดจากสาเหตุอะไร


         สามารถแบ่งตามสาเหตุการเกิดโรคออกเป็น 2 ประเภท คือ

          - Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไป ส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่ มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญคือ อุณหภูมิร่างกายสูง, ไม่มีเหงื่อ

          - Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออก นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย

ใครเสี่ยงโรคฮีตสโตรก


          บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคฮีตสโตรก ได้แก่

          - ทหารที่เข้ารับการฝึก โดยปราศจากการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมในการเผชิญสภาพอากาศร้อน
          - นักกีฬาสมัครเล่น
          - ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างซ่อมหลังคา ชาวนา ชาวไร่ ตำรวจจราจร
          - ผู้สูงอายุ
          - เด็กเล็ก
          - คนอดนอน
          - คนดื่มเหล้าจัด เพราะแอลกอฮอล์จะกระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้นจนช็อกได้
          - ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน
          - ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

สัญญาณเตือนของโรคฮีตสโตรก


          สัญญาณสำคัญของโรคฮีตสโตรก คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที

ฮีตสโตรก ปฐมพยาบาลและรักษาอย่างไร


          หากพบเจอผู้เป็นโรคลมแดดสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดย

          - นำผู้มีอาการเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ถอดเสื้อผ้าออกเพื่อระบายความร้อน

          - ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน

          - หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

ฮีทสโตรก

ฮีตสโตรก ป้องกันอย่างไร


          - หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน

          - ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

          - สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี

          - ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป

          - สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เมื่อต้องอยู่กลางแดด

          - หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด

          - ไม่อยู่ในรถที่จอดตากแดด

          - อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท

          - หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกาย หรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน

          - หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ

          - ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง

บทความที่เกี่ยวข้องกับฮีตสโตรกและหน้าร้อน


         - 15 วิธีเตรียมตัวก่อนออกแดด ร้อนจัดตับแทบแตก แต่เราต้องรอด !    




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮีตสโตรก โรคที่มากับหน้าร้อน เช็กอาการเตือนก่อนอันตรายถึงช­­­­ีวิต อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2567 เวลา 11:50:10 70,705 อ่าน
TOP