ติดโควิดกินยาอะไรได้บ้าง เช็กวิธีรักษาอาการโควิด ปี 2568 สำหรับคนพักฟื้นที่บ้าน

           ติดโควิดกินยาอะไร..สำหรับคนเป็นโควิดแล้วรักษาตัวที่บ้าน ต้องกินยาอะไรให้หายดี มาเช็กข้อมูลอัปเดตล่าสุด ปี 2568 กันเลย
ติดโควิดกินยาอะไร

           โควิด 19 กลับมาอีกครั้งหลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 เห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยังไม่รวมคนที่มีอาการโควิด แต่ไม่ได้ไปหาหมอ แล้วถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่เจอ COVID-19 เล่นงานในซีซั่นนี้ และต้องการรักษาตัวที่บ้านก็อยากให้มาทบทวนข้อมูลกันอีกสักทีว่า ติดโควิดกินยาอะไรได้บ้าง ใช้ยาแก้เจ็บคอ ยาแก้ไอแบบไหนถึงช่วยรักษาให้หาย จะได้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

อาการโควิด 2568 เป็นยังไง

อาการโควิด 2568 ล่าสุด

          โควิดล่าสุดที่ระบาดในประเทศไทย ปี 2568 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอน JN.1 และกำลังเริ่มพบสายพันธุ์ XEC ที่ระบาดมากขึ้น ซึ่งแม้จะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้รวดเร็ว แต่โดยทั่วไปไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในผู้ที่มีสุขภาพดี

          สำหรับอาการโควิด ปี 2568 ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • เจ็บคอ

  • ไอ

  • คัดจมูก 

  • น้ำมูกไหล

  • มีไข้ 

  • ปวดศีรษะ

  • ปวดเมื่อยตามตัว

  • อ่อนเพลีย

  • เบื่ออาหาร 

  • ท้องเสีย 

  • คลื่นไส้ 

  • อาเจียน

  • สูญเสียการรับกลิ่น 

          หากใครมีอาการเหล่านี้สัก 2-3 อาการ อาจลองตรวจ ATK ดูก่อน ซึ่งถ้า ATK ขึ้นขีดเดียว (ผลเป็นลบ) ก็เป็นไปได้ว่าไม่ได้ป่วยโควิด หรืออาจติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่มาก ดังนั้นเพื่อความแน่ใจ ระหว่างนี้ให้ใส่หน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่น จากนั้นค่อยตรวจ ATK อีกครั้งหลังผ่านไป 4-5 วัน ในกรณีที่เราติดโควิดจริง ๆ ก็มักจะพบ ATK ขึ้น 2 ขีดในช่วงนี้

          อย่างไรก็ตาม ถ้าติดโควิดขึ้นมาแล้วมีอาการไม่รุนแรง เราสามารถไปพบแพทย์หรือกินยารักษาตัวเองที่บ้านก็ได้เช่นกัน

ติดโควิดกินยาอะไรได้บ้าง ปี 2568

ติดโควิดกินยาอะไรได้บ้าง

           การรักษาโควิดจะใช้ยารักษาตามอาการที่ป่วย คือ

เจ็บคอจากโควิด

          อาการเจ็บคอจากโควิดอาจทำให้เรารู้สึกแสบคอ คันคอตลอดเวลา บางคนก็กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ หรือเจ็บคอขณะพูด ซึ่งสามารถใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ เช่น

  • สเปรย์พ่นคอ : เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ

  • ยาอมแก้เจ็บคอ : ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอเฉพาะที่ ทำให้ชุ่มคอ โดยมีให้เลือกทั้งแบบที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อ หรือแบบที่เป็นยาอมสมุนไพร 

  • น้ำเกลือ : สามารถใช้น้ำเกลือบรรจุขวดที่ขายในร้านขายยามาบ้วนปากและกลั้วคอ เพื่อบรรเทาอาการแสบคอ ระคายคอได้เช่นกัน 
     

สเปรย์พ่นคอ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ยี่ห้อไหนดี ไอเทมที่หลายบ้านมีติดไว้

อาการไอแห้ง

  • ยาแก้ไอสมุนไพร : มีส่วนผสมของสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการไอ เช่น ยาแก้ไอมะขามป้อม มะแว้ง น้ำผึ้ง ช่วยแก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ ใช้จิบได้เมื่อมีอาการไอทั้งแบบไอแห้งและไอมีเสมหะ

  • ยาแก้ไอกลุ่มยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) : หากมีอาการไอแห้งควรใช้ยาแก้ไอกลุ่มนี้ ซึ่งจะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการไอได้
     

รวมยาแก้ไอสมุนไพร ช่วยบรรเทาอาการไอ ลดอาการระคายคอ ที่ต้องมีติดบ้าน

อาการไอมีเสมหะ

  • ยาขับเสมหะ : เช่น ตัวยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเสมหะมากขึ้นและขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น  

  • ยาละลายเสมหะ : เช่น เอ็น-อะซีติลซิสเทอีน (N-acetylcysteine หรือ NAC), คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) หรือบรอมเฮกซีน (Bromhexine) เป็นยาที่ช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ ทำให้เสมหะเหลวลงและขับออกได้ง่ายขึ้น มีทั้งแบบยาเม็ด ยาน้ำ ยาผงชงกับน้ำ และแบบเม็ดฟู่
     

เม็ดฟู่ละลายเสมหะ ตัวช่วยกำจัดเสมหะที่เหนียวข้น กินยังไง มียี่ห้อไหนบ้าง

คัดจมูก

  • ยาทาชนิดขี้ผึ้ง : มักมีส่วนผสมของเมนทอล ยูคาลิปตัสออยล์ และการบูร เมื่อทาบริเวณหน้าอก คอ หลัง ไอระเหยของยาจะช่วยให้รู้สึกโล่งจมูกและหายใจสะดวกขึ้น

  • ยาแก้คัดจมูก : ตัวยาที่นิยมใช้คือ ฟีนิลเอฟรีน จะช่วยให้หลอดเลือดในโพรงจมูกหดตัว ทำให้อาการคัดจมูกดีขึ้น 

  • ยาพ่นจมูก : เช่น ออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) หรือ ไซโลเมตาโซลีน (Xylometazoline) แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3-5 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งของน้ำมูกหลังหยุดใช้ยา

  • สุมยาสมุนไพร : คือการนำสมุนไพรไทย เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า หอมแดง  ใบโหระพา ใบกะเพรา สะระแหน่ ผิวมะนาว ผิวมะกรูด ผิวส้ม ฯลฯ มาต้มในน้ำ แล้วสูดดมกลิ่นของสมุนไพรที่ลอยออกมา จะช่วยเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง บรรเทาอาการหายใจไม่สะดวก
     

วิธีสุมยาสมุนไพร สูดดมไอระเหยบรรเทาอาการไม่สบายจากหวัดและโควิด 19

น้ำมูกไหล

  • ยาแก้แพ้ : ช่วยลดการหลั่งสารฮิสตามีน ทำให้น้ำมูกแห้ง มีให้เลือกทั้งชนิดที่ทำให้ง่วง เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) และยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงหรือง่วงน้อย เช่น ลอราทาดีน (Loratadine), เซทิริซีน (Cetirizine) เป็นต้น 
ติดโควิดกินยาอะไรถึงหาย

มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว

  • ยาพาราเซตามอล : หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส สามารถกินยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม เพื่อลดไข้ และบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ได้เมื่อมีอาการหรือทุก 4-6 ชั่วโมง

รักษาอาการโควิด

  • ฟ้าทะลายโจร : ช่วยลดอาการโควิด เช่น อาการหวัด เจ็บคอ ไอ มีไข้ เหมาะกับคนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ก่อนรับประทานควรอ่านฉลากยาให้ชัดเจนว่า 1 แคปซูลให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ปริมาณเท่าไร โดยในการใช้รักษาโควิดสำหรับผู้ใหญ่ ควรใช้สารแอนโดรกราโฟไลด์ขนาด 60-180 มิลลิกรัม/วัน แบ่งกินวันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน

          ข้อควรระวังคือ ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยตับอักเสบ

ท้องเสีย

  • ยาบรรเทาอาการท้องเสีย : เช่น ยาธาตุน้ำขาว ผงคาร์บอน 

  • น้ำเกลือแร่ ORS : ใช้จิบบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากอาการท้องเสีย

ติดโควิดกินยาฟาวิพิราเวียร์ไหม

           ในผู้ป่วยที่มีอาการโควิดไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส อย่างฟาวิพิราเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งยาต้านไวรัสเหล่านี้ แพทย์จะจ่ายให้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก มีอาการทางปอด หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องคอยเฝ้าระวังเท่านั้น
           อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่รักษาตัวที่บ้านแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แต่กลับปรากฏอาการอื่น ๆ เช่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก สับสน ซึมลง ริมฝีปากคล้ำ ผิวหนังมีสีซีด เช่นนี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจแสดงถึงอาการโควิดลงปอดที่ต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติดโควิดกินยาอะไรได้บ้าง เช็กวิธีรักษาอาการโควิด ปี 2568 สำหรับคนพักฟื้นที่บ้าน โพสต์เมื่อ 9 พฤษภาคม 2568 เวลา 18:21:24
TOP
x close