เป็นหวัดตรวจ ATK ได้ไหม จะขึ้น 2 ขีดหรือเปล่า หรือว่าเราติดโควิด ?

เป็นหวัดตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดได้ไหม ไขข้อสงสัยเราติดโควิดหรือยัง หรือป่วยแค่หวัดธรรมดา

          เพราะอาการไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ดูเผิน ๆ แล้วมีอาการใกล้เคียงกันมากจนเกือบแยกโรคไม่ออก เลยมีบางคนเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเป็นหวัดตรวจ ATK ได้ไหม แล้วจะขึ้น 2 ขีดให้ตกอกตกใจคิดว่าติดโควิดหรือเปล่า งั้นลองมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันหน่อยค่ะ

เป็นหวัดตรวจ ATK ได้ไหม
จะขึ้น 2 ขีดหรือเปล่า

เป็นหวัดตรวจ ATK ได้ไหม

          สำหรับคนที่เป็นหวัดธรรมดา หรือแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ ก็สามารถตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าตรวจแล้วจะขึ้น 2 ขีดที่แสดงว่าติดโควิด 

          เนื่องจากไข้หวัดธรรมดาส่วนใหญ่เกิดจากไรโนไวรัส (Rhinovirus) ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ต่างจากโรคโควิด 19 ที่มีต้นเหตุมาจากโคโรนาไวรัส (Coronavirus) หรือก็คือ ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เท่ากับว่าทั้ง 3 โรคนี้เป็นการติดเชื้อจากไวรัสคนละตัวกัน

          ในขณะที่ชุดตรวจ ATK และ RT-PCR ต่างออกแบบมาเพื่อตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของ COVID-19 โดยเฉพาะ ซึ่งชุดตรวจ ATK แบบ Antigen จะตรวจหาโปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้อ SARS-CoV-2  ขณะที่ RT-PCR จะตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสดังกล่าวที่ก่อให้เกิดโควิด 19

          ดังนั้น ถ้าแค่เป็นหวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่มาตรวจ ATK แบบตรวจหาแอนติเจนแล้วจะเป็นผลบวก

          กรณีที่ใครตรวจแล้วได้ผลบวก อาจแสดงว่าเราติดโควิด 19 เข้าแล้ว ไม่ใช่ไข้หวัดปกติ หรืออาจเป็นผลบวกปลอมจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาตัวอื่น ๆ รวมทั้งอาจใช้ชุดตรวจไม่ถูกวิธี มีการปนเปื้อนขณะใช้งาน หรืออ่านผลเกินเวลาที่กำหนด ทำให้ผลตรวจไม่แม่นยำได้เช่นกัน ซึ่งเพื่อความแน่ใจก็ควรตรวจซ้ำอีกครั้งค่ะ

เปรียบเทียบไข้หวัด กับ โควิด
ต่างกันยังไง

เป็นหวัดตรวจ ATK ได้ไหม

          อาการเบื้องต้นของโรคหวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ กับอาการโควิดล่าสุดสายพันธุ์โอมิครอน มีความคล้ายคลึงกันพอสมควรค่ะ ซึ่งพอจะแยกโรคได้จากลักษณะอาการเหล่านี้
  • ไข้หวัดทั่วไป : มีไข้ต่ำ ๆ ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดศีรษะเล็กน้อย แต่อาการจะค่อย ๆ เกิด ไม่ได้รุนแรง หากนอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ อาการจะดีขึ้นใน 3-4 วัน
     

  • ไข้หวัดใหญ่ : ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ เหมือนไข้หวัด แต่จะมีไข้สูงมาก 38-40 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
     

  • โควิดโอมิครอน : โดยรวมอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ (บางคนไอเล็กน้อย บางคนไอหนัก) จาม คัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ อาจมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย หรือบางคนจะรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และอาจมีเหงื่อออกตอนกลางคืนแม้อยู่ในห้องแอร์ หรือปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งไม่พบในคนที่เป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังอาจมีผื่นขึ้น หรือมีอาการเยื่อบุตาอักเสบที่ทำให้ขี้ตาเหนียว มีอาการคล้ายตาแดง
           ดังนั้นถ้ามีอาการต้องสงสัยดังที่กล่าวมา และมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยง แนะนำให้ตรวจ ATK คัดกรองตัวเองเบื้องต้นก่อน หากตรวจแล้วผลเป็นบวกก็เข้าสู่ระบบการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของตัวเองได้เลย
           ส่วนคนที่ตรวจ ATK แล้วเป็นลบ แต่มีอาการป่วย ให้เฝ้าสังเกตอาการตัวเองอีกสัก 2-3 วันแล้วตรวจ ATK ใหม่อีกครั้ง หรือถ้าอยากมั่นใจจริง ๆ อาจจะไปตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันก็ได้ เนื่องจากเป็นวิธีตรวจที่แม่นยำกว่า ATK หากเป็นผลบวกจะได้รักษาต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้องกับ ATK และโควิดโอมิครอน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เป็นหวัดตรวจ ATK ได้ไหม จะขึ้น 2 ขีดหรือเปล่า หรือว่าเราติดโควิด ? อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2567 เวลา 13:49:22 319,203 อ่าน
TOP
x close