x close

ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดจาง ๆ ติดโควิดแล้วหรือยัง ต้องตรวจซ้ำอีกไหม

          ลองตรวจ ATK เพื่อความแน่ใจว่าเราปลอดเชื้อหรือเสี่ยงไหม แล้ว ATK ขึ้น 2 ขีดจาง ๆ ติดโควิด 19 แล้วหรือยังนะ
          ATK เหมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันกันไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงที่โควิดยังไม่หมดไป หลายคนเลยต้องตรวจ ATK กันเป็นประจำ ทว่าหากผลตรวจขึ้น 2 ขีดจาง ๆ มีเส้นแดงบาง ๆ ที่แถบตัว T แบบนี้เราติดโควิดแล้วหรือยัง ต้องตรวจซ้ำไหม หรือควรทำยังไงต่อ ลองมาเช็กกันเลย

ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดจาง ๆ ติดโควิดแล้วยังนะ

ATK

         สำหรับใครที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดจาง ๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะพบเชื้อโควิด 19 ในร่างกาย จึงต้องสงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะติดเชื้อ แต่ทั้งนี้ก็ต้องแน่ใจด้วยว่าเราใช้ชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐานไหม ตรวจถูกวิธีตามคู่มือหรือเปล่า และอ่านผลตามกำหนดเวลาที่ระบุในฉลากชุดตรวจหรือไม่

         เช่น หากชุดตรวจให้อ่านผลภายใน 10 นาที ก็ต้องอ่านในเวลานี้ ห้ามอ่านเกิน 10 นาที เพราะอาจให้ผลบวกลวงได้ ซึ่งก็ต้องอ่านคู่มือการใช้ชุดตรวจ ATK ที่นำมาตรวจอย่างละเอียดทุกครั้งนะคะ เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะระบุระยะเวลาอ่านผลที่ต่างกันอยู่บ้าง โดยส่วนมากจะอยู่ในช่วง 10-15 นาที

ATK

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดจาง ๆ ทำยังไงดี

สำหรับคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง

          ในกรณีที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่ได้มีอาการป่วยที่ต้องสงสัย แต่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดจาง ๆ แนะนำให้ตรวจ ATK ด้วยตัวเองซ้ำอีกรอบทันที เพราะอาจเป็นไปได้ว่าตอนตรวจ ATK ครั้งแรก เกิดการปนเปื้อนเชื้อจากพื้นผิวที่วางชุดตรวจ หรือมีเชื้อปนเปื้อนจากมือที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดก่อนตรวจก็เป็นได้

          แต่อย่างไรก็ดี หากตรวจ ATK ครั้งที่ 2 แล้วผลเป็นลบ ขึ้นขีดเดียว ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีการติดเชื้อแล้ว แต่ปริมาณเชื้อในร่างกายยังน้อย ซึ่งก็อาจให้ผลลบปลอมได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ไม่เสี่ยงแพร่กระจายเชื้อให้ใคร ควรระมัดระวังตัวเองและรอตรวจ ATK ซ้ำในอีก 3-5 วันถัดมาด้วย

สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

           ส่วนในเคสคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแน่ ๆ เนื่องจากมีคนใกล้ตัวติดเชื้อไปแล้ว หรือไปในสถานที่เสี่ยงสูงมา และมีอาการป่วยที่ต้องสงสัย แม้จะเป็นเพียงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดจาง ๆ ก็ให้คิดว่าติดโควิดแล้วแน่ ๆ สามารถไปรักษาและพบแพทย์ตามสิทธิได้เลย

          แต่ถ้าต้องการให้แน่ใจจริง ๆ ว่าติดเชื้อหรือไม่ อาจจะต้องไปตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR เนื่องจากการตรวจ ATK ไม่ได้ให้ผลแม่นยำ 100% ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ

ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ติดต่อที่ไหนได้บ้าง

ATK

         ในกรณีที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดอีกรัว ๆ ไม่ว่าจะตรวจซ้ำกี่อันก็ตาม สามารถเข้ารักษาได้ฟรีตามสิทธิของตัวเอง ดังนี้ 

สิทธิบัตรทอง

ผู้ป่วยสีเขียว

  • ร้านยาที่ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด 19 สีเขียว กลุ่มอาการเล็กน้อย ดูรายชื่อ ที่นี่  

  • พบแพทย์ออนไลน์ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ได้แก่

    • 1. แอปพลิเคชัน Totale Telemed (โททอลเล่เทเลเมด) ให้บริการโดย บริษัท โททอลเล่เทเลเมด (คลิกที่นี่) รับผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ ทุกประเภท ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) 

    • หรือ 2. แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด (คลิกที่นี่) รับผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียว ทั่วประเทศ (ไม่รับกลุ่ม 608)

    • หรือ 3. แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (คลิกที่นี่) รับผู้ป่วยโควิด 19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร  

    • หรือ 4. แอปพลิเคชัน Saluber MD ให้บริการโดย บริษัท ซาลูเบอร์เอ็มดี (คลิกที่นี่) รับผู้ป่วยโควิด 19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โควิด 19

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผู้ป่วยสีเหลือง

  • รักษากับสถานพยาบาลที่ตัวเองขึ้นทะเบียนบัตรทองไว้ ซึ่งจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยนอกที่แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ (เจอ แจก จบ) และให้กลับไปแยกกักตัวที่บ้าน 

  • รักษากับหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน, ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น

  • โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร

  • โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (คลิกดูรายชื่อ)

ผู้ป่วยสีแดง

  • สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการได้ทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด โดยใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP 
โควิด 19

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สิทธิประกันสังคม

          รักษาได้ฟรีที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองลงทะเบียนไว้ รวมทั้งสถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมทุกแห่ง

สิทธิข้าราชการ

  • สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง
  • โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร

  • โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  

โควิด 19

ภาพจาก : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

โควิด 19

ภาพจาก : สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

          อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง คือ มีอาการหอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94 สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิรักษาทุกที่ เข้ารักษาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

           แม้โควิดจะระบาดน้อยลง แต่เราก็ยังต้องป้องกันตัวเอง เพราะเชื้อยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเรา และหากมีอาการต้องสงสัย ควรตรวจ ATK คัดกรองตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกด้วยนะคะ 

บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดจาง ๆ ติดโควิดแล้วหรือยัง ต้องตรวจซ้ำอีกไหม อัปเดตล่าสุด 10 มกราคม 2567 เวลา 15:25:50 855,306 อ่าน
TOP