เป็นหวัด คัดจมูก ปวดหัว มีไข้...แต่เอ..ชักไม่แน่ใจว่านี่เป็นอาการไข้หวัดทั่วไป หรือไข้หวัดใหญ่กันแน่ มาเช็กอาการให้ชัวร์ ๆ จะได้รักษาถูกทาง
ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinoviruses) และโคโรนาไวรัส (Coronaviruses) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสเชื้อโรค การไอ จาม จึงทำให้หลายคนสามารถป่วยเป็นโรคหวัดได้หลายครั้งใน 1 ปี
อาการไข้หวัดธรรมดา
เมื่อเชื้อเข้าสู่จมูกและคอ จะทำให้มีอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ มีอาการไอตามมา ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลียเล็กน้อย ปวดศีรษะเล็กน้อย อาจไม่มีไข้ หรือมีไข้แต่ไม่สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาการโดยทั่วไปมักไม่รุนแรง แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ หากพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่น และกินยาตามเวลา อาการจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Influenza ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับไข้หวัดนก มักพบผู้ป่วยในหน้าหนาว แต่ก็เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่มีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ อาทิ
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A) ถือเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด และสามารถแพร่ระบาดไปได้ทั่วโลก โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A จะแบ่งความแตกต่างออกเป็นอีกหลายชนิดย่อย ๆ โดยแบ่งตามชนิดของโปรตีนของไวรัส คือ H (Hemagglutinin) และ N (Neuraminidase) โดยชนิดย่อยของไข้หวัดสายพันธุ์ A ที่เคยแพร่ระบาดก็อย่างเช่น ไข้หวัดสุกร H3N2, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B (Influenza B) เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเฉพาะในภูมิภาค และโดยส่วนใหญ่ก็มักจะระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็น มีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ A แต่รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และสายพันธุ์ C ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วอาการก็จะคล้าย ๆ กับอาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
อาการไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดามาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยหากเป็นไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการป่วยแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการจะรุนแรงเฉียบพลันภายใน 1 วัน เริ่มจากมีไข้หรือมีไข้หนาวสั่น เจ็บคอ มีน้ำมูกใส ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณหลัง ต้นขา ต้นแขน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ในเด็กอาจอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย
จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่ กับไข้หวัดธรรมดา คือ อาการเด่นของไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูง และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดาจะไม่ค่อยมีอาการลักษณะนี้ค่ะ ขณะเดียวกันผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ จาม ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากในผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา
ในการรักษาแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะฟื้นตัวในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่หากมีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคหอบหืดเป็นโรคประจําตัว เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว มักจะเกิดภาวะหอบหืดแทรกซ้อนรุนแรง หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะ หรือยาแอสไพริน เพื่อลดไข้เด็ดขาด เพราะยาปฏิชีวนะใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่มีผลในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนการกินยาแอสไพรินนั้นอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกายได้
กลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน
- ผู้มีโรคประจําตัว เช่น โรคหอบหืด โรคทางระบบประสาท โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคเอดส์ โรคมะเร็ง ผู้ที่รับยาสเตียรอยด์เรื้อรัง หรือคนที่อายุน้อยกว่า 19 ปี ที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอสไพรินในระยะยาว
- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ (และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ จนถึงหลังคลอด)
- บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ
- คนที่เป็นโรคอ้วน (ดัชนีมวลกาย หรือ BMI เท่ากับ 40 หรือสูงกว่า)
อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ควรฉีดเป็นประจำทุกปี เพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดจะเปลี่ยนไปทุกปี
* วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไขข้อสงสัยทุกคำถามที่อยากรู้
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด
เพื่อไม่ให้อาการทรุดลงหรือแพร่เชื้อไปยังคนอื่น ๆ ผู้ป่วยไข้หวัดควรปฏิบัติตน ดังนี้
- กินยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี
- สวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ โดยเฉพาะน้ำอุ่น เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้
- ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ผัก ผลไม้ หากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นควรใช้ช้อนกลาง
- หมั่นเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเพื่อลดไข้
- สวมผ้าปิดปากและจมูกเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีภูมิต้านทานต่ำ
เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราควรป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดี ล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อนกินอาหาร หลังไอหรือจาม สั่งน้ำมูก หรือหลังหยิบจับสิ่งของที่มีคนสัมผัสมาก ๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเราได้ทางหนึ่งค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล