PM2.5 ฝุ่นละอองในอากาศ เล็กจนหลายคนมองผ่าน แต่โทษต่อสุขภาพมหาศาลเลยนะ

          PM2.5 ทำให้อากาศดูขมุกขมัว ครึ้ม ๆ เหมือนฝนจะตก หรือคล้าย ๆ หมอกลงหนาแน่น แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ ส่งผลต่อปอดและระบบทางเดินหายใจได้เลย


          ช่วงต้นปีของทุกปี เราจะเห็นว่าสภาพอากาศในกรุงเทพฯ รวมไปถึงในหลาย ๆ พื้นที่มีหมอกลง ขมุกขมัวไม่แจ่มใส ซึ่งหลายคนก็แอบดีใจนึกว่าหมอกลงสมกับเป็นหน้าหนาว ทว่าสิ่งที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นหมอกจาง ๆ นั้น เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศ แปลง่าย ๆ ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพเราไม่น้อย ฉะนั้นมาทำความรู้จักฝุ่นละอองในอากาศ และความหมายของค่า PM2.5 คืออะไรกันแน่
 pm2.5
ภาพจาก : James Apisit/shutterstock.com

PM2.5 คืออะไร


          PM2.5 คือ ฝุ่นละเอียด ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า PM2.5 หรือ Fine Particle โดย PM2.5 เป็นฝุ่นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 25 เท่า

PM2.5 มาจากไหน


          PM2.5 มีแหล่งกำเนิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตสารเคมี จากไฟป่า นอกจากนี้ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NO) และสาร VOC (Volatile Organic Compounds) ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม อาจทำปฏิกิริยากับสารชนิดอื่น ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ แล้วเปลี่ยนอนุภาคเป็นฝุ่นละอองขนาดละเอียดที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ได้เช่นกัน

pm2.5

โทษของฝุ่น PM2.5


          ฝุ่นละอองในอากาศมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน อย่างฝุ่นละออง PM10 หรือฝุ่นละอองขนาดใหญ่ซึ่งมีอนุภาคใหญ่กว่า 10 ไมครอน ฝุ่นละอองชนิดนี้จะติดอยู่บริเวณโพรงจมูกและปากเท่านั้น ไม่สามารถผ่านเข้าไปถึงหลอดลมของเราได้ ทว่าฝุ่นละอองชนิดละเอียดที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันว่า PM2.5 ด้วยความจิ๋วระดับนี้ทำให้มันเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถผ่านเข้าขนจมูก โพรงจมูก ลำคอ หลอดลมใหญ่ จนกระทั่งหลุดเข้าไปในถุงลมและปอดของเราได้ง่าย ๆ ก่ออันตรายต่อสุขภาพได้หลายโรค คร่าว ๆ ก็มีโทษต่อสุขภาพดังนี้ค่ะ

* ก่อให้เกิดอาการไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ


          ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วสามารถผ่านเข้าไปในโพรงจมูก หลอดลม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองกระทั่งมีอาการดังกล่าวได้

* ทำลายระบบประสาท ทำให้เป็นอัมพาต


          จากสารปรอทที่อยู่ใน PM2.5 ซึ่งมาจากกระบวนการเผาไหม้น้ำมันและถ่านหิน

* โรคผิวหนัง ภูมิแพ้ ไซนัส หายใจลำบาก


          โดยมีสารหนูเป็นสาเหตุของอาการ โดยสารหนูมักเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำเหมือง การทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงยาฆ่าแมลง หากร่างกายมีการสะสมของสารหนูเป็นจำนวนมาก จะมีอาการมึน ตัวชา อยากอาเจียน หรือร้ายแรงถึงขั้นระบบประสาทต่าง ๆ ในร่างกายถูกทำลาย โดยเฉพาะระบบประสาทการทำงานของปอด

          นอกจากนี้ในละอองฝุ่น PM2.5 ก็ยังมีแคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมประเภทเหมืองแร่ สังกะสี ทองแดง และตะกั่ว สามารถกัดส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง ปอด กระดูก ให้เสียหายได้เช่นกัน

* เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง


          โดยเฉพาะมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ เพราะใน PM2.5 มีสาร P-A-Hs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงควันบุหรี่

          นอกจากนี้การได้รับ PM2.5 เป็นระยะเวลานานหรือในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ เข้าไปสู่ปอด และกระแสโลหิต จนอาจส่งผลให้เกิดโรคดังต่อไปนี้ได้

          - หลอดเลือดในสมอง

          - โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

          - โรคหัวใจขาดเลือด

          - มะเร็งปอด

          - โรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

ฝุ่นpm2.5

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้กรมควบคุมมลพิษคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศแค่โอโซน ไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ PM10 เท่านั้น ทว่ายังไม่ได้เอาตัว PM2.5 ไปคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศของไทย ส่งผลให้การวัดดัชนีคุณภาพอากาศรายวันของประเทศไทยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าไม่สามารถแสดงค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่แท้จริงได้

          ดังนั้น เราจึงจะไม่รู้ว่าอากาศมีมลพิษแค่ไหน ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวป้องกันมลพิษตัวร้ายในอากาศได้ทันท่วงที ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราสามารถป้องกัน PM2.5 ได้ด้วยตัวเราเอง

PM2.5 ใครเสี่ยงเป็นพิเศษ ต้องรู้ !


          ผู้ที่เสี่ยงต่อฝุ่นละอองละเอียด PM2.5 ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ หญิงมีครรภ์ รวมไปถึงผู้ที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีหมอกควันและปัญหามลพิษสูงเกือบตลอดเวลา ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน

ฝุ่นpm2.5

การป้องกัน PM2.5


          - สวมหน้ากากอนามัย N95

          - หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารหรือที่อยู่อาศัยหากไม่จำเป็น

          - หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายนอกอาคาร

          - งดสูบบุหรี่

          - ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ

          - ล้างมือและหน้าบ่อย ๆ

          - รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย

          - เมื่อมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์

          - ผู้ป่วยโรคหอบหืดและผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรพกยาติดตัวไว้ตลอดเวลา

          นอกจากวิธีป้องกันดังข้างต้นแล้ว เรายังมีวิธีใช้หน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากอนามัยที่มีความสามารถในการกรองฝุ่นขนาดเล็กมาฝากด้วยค่ะ

pm2.5

วิธีใช้หน้ากากอนามัย N95


          เหตุผลที่เราต้องใส่หน้ากากอนามัยที่มีความหนากว่าหน้ากากอนามัยทั่วไปก็เพราะว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น หน้ากากอนามัย N95 สามารถป้องกันฝุ่นขนาด 0.1-0.3 ไมครอน ได้ 95% การใช้หน้ากาก N95 ก็จะป้องกันได้ระดับหนึ่ง ส่วนหน้ากากผ้า หรือหน้ากากห้องผ่าตัดทั่วไป ป้องกันแทบจะไม่ได้เลย

          อย่างไรก็ตาม เพื่อการป้องกัน PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ ควรต้องใส่หน้ากากอนามัย N95 อย่างถูกวิธีตามขั้นตอนนี้

ฝุ่นpm2.5

ขั้นตอนการถอดหน้ากาก N95


ฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ภาพจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี



ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก รามาแชนแนล, เฟซบุ๊ก greenpeace, เฟซบุ๊ก ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
PM2.5 ฝุ่นละอองในอากาศ เล็กจนหลายคนมองผ่าน แต่โทษต่อสุขภาพมหาศาลเลยนะ อัปเดตล่าสุด 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10:18:10 90,113 อ่าน
TOP
x close