วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น ปราบอาการหูดับด้วยตนเอง


          หูอื้อบ่อย ๆ อยากหายต้องลองวิธีแก้หูอื้อ ปราบอาการหูดับไปด้วยในตัว ซึ่งไม่ว่าจะหูอื้อข้างเดียวหรือหูอื้อตอนไหน ยังไง วิธีเหล่านี้ก็จัดการให้คุณได้หมด

หูอื้อ

          อาการหูอื้อ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tinnitus ซึ่งนอกจากอาการหูอื้อแล้ว ขณะที่เกิดอาการหูอื้อเรายังจะได้ยินเสียงดังในหู คล้ายกับมีแมลงบินในหู หรืออาจได้ยินเป็นเสียงหวีดแหลม ไม่ก็เสียงตุบ ๆ เหมือนได้ยินเสียงชีพจรของตัวเองเต้น แต่ถึงแม้จะได้ยินเสียงในหูหลากหลายเสียงก็ใช่ว่าหูอื้อแล้วจะสนุกใช่ไหมล่ะ เพราะอาการหูอื้อทำให้เราหูดับ ได้ยินเสียงจากสภาพแวดล้อมไม่ค่อยชัด แถมบางคนยังหูอื้อข้างเดียว เสียสมดุลการฟังกันไปอีก แบบนี้ต้องลองวิธีแก้หูอื้อให้เด็ดขาด ด้วยวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

         
ทว่าก่อนเราจะมาดูวิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น ลองทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่า อาการหูอื้อเกิดจากอะไรได้บ้าง

หูอื้อ เกิดจากอะไร


          บางเคสของอาการหูอื้อก็ไม่เป็นอันตราย แต่บางเคสก็อาจบอกใบ้ได้ว่าเรามีโรคภัยน่ากลัวซ่อนอยู่ โดยสาเหตุของอาการหูอื้อ อาจมีได้ดังนี้ค่ะ

หูอื้อ กับสาเหตุที่เกิดจากโรค


          - หูอื้อจากไข้หวัด โดยอาจเกิดจากท่อยูสเตเชียน ที่อยู่ระหว่างหูชั้นกลางกับบริเวณลำคอด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งมีหน้าที่ปรับความดันภายในหูชั้นกลางกับบรรยากาศภายนอกทำงานผิดปกติไป ก่อให้เกิดอาการหูอื้อ หรืออาจเกิดจากหูชั้นกลางติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากหวัดจนอักเสบ ทำให้หูอื้อได้เช่นกัน

          - โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
          - โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดอย่างโรคเส้นเลือดในสมองตีบ เนื้องอกในสมอง
          - โรคโลหิตจาง
          - โรคภูมิแพ้ตัวเอง
          - มะเร็งเม็ดเลือดขาว
          - โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ
          - โรคยูริกในเลือดสูง
          - โรคไต
          - เบาหวาน
          - ความดันโลหิตสูง
          - ภาวะไขมันในเลือดสูง

หูอื้อ กับสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากโรค


          - ประสาทหูได้รับเสียงดังเกินไป เช่น อยู่ในคอนเสิร์ต เสียงพลุ เสียงระเบิดใกล้ ๆ ตัว ซึ่งอาจทำให้ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้

          - ประสาทหูเสื่อมตามอายุขัย เมื่ออายุมากขึ้น ประสาทหูก็อาจเสื่อมสภาพลงได้เช่นกัน

          - ภาวะน้ำเข้าหู ส่งผลให้ขี้หูอมน้ำและบวมจนอุดตันช่องหูชั้นนอก ก่อให้เกิดอาการหูอื้อ เช่น หลังจากสระผม อาบน้ำ ว่ายน้ำ ดำน้ำ

          - การมีขี้หูมากเกินไป

          - มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู เช่น แมลงเข้าหู

          - ความเครียด ซึมเศร้า

          - หูอื้อจากการเปลี่ยนความดันอากาศ ไม่ว่าจะขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำ ความกดอากาศบนท้องฟ้ากับใต้น้ำลึกอาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบจนอื้อได้

          - การใช้ยาที่เป็นพิษต่อประสาทหูเป็นเวลานาน ๆ เช่น ยาซาลิไซเลต, ยาควินิน, ยาแอสไพริน, ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์, ยาขับปัสสาวะ, ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

          - อาการบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน

          - การผ่าตัดหูที่มีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน

          - ภาวะมีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน

          - การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น ติดเชื้อจากซิฟิลิส ไวรัสเอดส์

          ทั้งนี้ สาเหตุของอาการหูอื้อยังอาจเกิดจากปัจจัยหรือผลข้างเคียงของโรคอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งในส่วนนี้ต้องให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้วินิจฉัยนะคะ

หูอื้อ

วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น


1. บีบจมูก กลืนน้ำลาย


          ในเคสที่หูอื้อเพราะดำน้ำหรือขึ้นเครื่องบิน ซึ่งอาการเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ เราสามารถแก้อาการหูอื้อได้ง่าย ๆ ด้วยการทำ Toynbee Maneuver คือ บีบจมูกทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง จากนั้นเอามือที่บีบจมูกออก แล้วกลืนน้ำลายอีก 1 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้ท่อยูสเตเชียนเปิดและปิด แก้อาการหูอื้อได้

2. รักษาหวัดให้หาย


          ในกรณีที่หูอื้อเพราะเป็นหวัด แนะนำให้รักษาอาการหวัดให้หายดี แต่หากหวัดหายแล้วยังหูอื้ออีก ให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอีกที

3. เติมวิตามินให้ร่างกาย


          Michael Seidman หัวหน้าศูนย์แพทย์ Center for Integrative Medicine เผยงานวิจัยว่า อาการหูอื้ออาจเกิดเพราะร่างกายเราขาดวิตามิน B12 และซิงก์ ซึ่งเป็นวิตามินตัวสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะประสาทหูเสื่อมจากสาเหตุใดก็ตาม ดังนั้น การกินวิตามิน B12 วันละ 25-50 มิลลิกรัม และซิงก์วันละ 30 มิลลิกรัม จะช่วยบำรุงระบบประสาท รวมทั้งแก้อาการหูอื้อได้ ทว่าวิธีนี้จะเห็นผลเพียง 30-40% เท่านั้นนะคะ 

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


          ประสาทหูที่เสื่อมเฉียบพลันก็ต้องการการฟื้นฟูเหมือนอวัยวะอื่น ๆ เช่นกัน ดังนั้นคนที่หูอื้อไม่ยอมหาย ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนของตัวเองบ้างก็ดี โดยพยายามนอนก่อน 4 ทุ่ม หรือพักผ่อนไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

วิธีแก้หูอื้อ
 

5. กำจัดขี้หู


          อาการหูอื้อบางครั้งอาจเกิดจากการมีขี้หูอุดตัน ดังนั้นการกำจัดขี้หูออกจึงเป็นวิธีแก้หูอื้ออีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ สำหรับคนที่มีอาการหูอื้อ ขอให้หลีกเลี่ยงการแคะหูด้วยตัวเอง แต่ให้พบแพทย์เพื่อทำการกำจัดขี้หูออกให้ ซึ่งจะปลอดภัยและช่วยแก้หูอื้อได้มากกว่า รวมทั้งยังเป็นการไปหาสาเหตุของอาการหูอื้อที่ถูกต้องและตรงจุด ซึ่งจะช่วยแก้หูอื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. เอียงศีรษะเพื่อเอาน้ำในหูออก


          ถ้ารู้สึกเหมือนน้ำเข้าหูและทำให้หูอื้อ ควรเอียงศีรษะข้างที่มีน้ำเข้าหูลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออกและเฉียงไปทางด้านหลัง ซึ่งจะทำให้ใบหูราบตรง ต่างจากลักษณะปกติที่ใบหูจะเป็นรูปตัว S คราวนี้น้ำก็จะไหลออกจากหูได้สะดวก และส่วนมากก็จะพาเอาอาการหูอื้อหายไปด้วย ทว่าหากใครยังหูอื้ออยู่ เคสนี้ต้องขอให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางแล้วล่ะค่ะ

7. เคี้ยวหมากฝรั่ง


          การเคี้ยวหมากฝรั่งช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ซึ่งเมื่อเรากลืนน้ำลายบ่อย ๆ จะทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิดออก เป็นการปรับแรงดันในหูทั้งภายในและภายนอกให้เท่ากัน

8. ดื่มน้ำ


          การดื่มน้ำก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้หูอื้อได้ เพราะเมื่อเรากลืนน้ำหรือเครื่องดื่มใด ๆ ท่อยูสเตเชียนจะเปิดออก ทำให้แรงดันในหูเท่ากันทั้งด้านในและด้านนอก

หูอื้อ

หูอื้อ วินิจฉัยอย่างไร


          เบื้องต้นแพทย์จะตรวจหูว่ามีความผิดปกติในส่วนไหนหรือไม่ และทำการทดสอบการได้ยิน ในกรณีที่มีอาการมาก แพทย์อาจเอกซเรย์ หรือทำ CT Scan เพื่อตรวจว่ามีเนื้องอกภายในหูหรือไม่

หูอื้อ รักษาอย่างไร


          หากลองรักษาเบื้องต้นแล้วไม่หาย แนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของอาการหูอื้อ และรักษาตามสาเหตุที่เป็น ซึ่งอาจจะทำการรักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือด เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น ยาบำรุงประสาทหู ยาหยอดละลายขี้หู ถ้ามีอาการอักเสบก็อาจให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น หรืออาจรักษาด้วยการผ่าตัด แล้วแต่เคสนั้น ๆ ไป

เป็นหวัดแล้วหูอื้อ มีวิธีแก้ไหม


          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสก่อโรคหวัด ไวรัสนั้นจะไปทำให้ท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับช่องลำคอมีอาการอักเสบและบวม ความดันในหูชั้นกลางจึงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีอาการหูอื้อขณะเป็นหวัดหรือหูอื้อหลังหายหวัด อาจเป็นหูอื้อข้างเดียว หรือหูอื้อทั้งสองข้าง

          สำหรับวิธีแก้หูอื้อเมื่อเป็นหวัดก็คือ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด เนื่องจากมีรายงานพบว่า อาการหูอื้อหลังหวัดมักสัมพันธ์กับความเครียดและการพักผ่อนไม่พอ นอกจากนี้ แนะนำให้คนที่มีอาการหูอื้อดื่มน้ำอุ่นให้มากขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก-ผลไม้ ออกกำลังกาย และไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง หากปฏิบัติตัวตามนี้แล้วยังไม่หายจากอาการหูอื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหูและโพรงจมูก

วิธีป้องกันหูอื้อ


หูอื้อ

          ถ้าไม่อยากรำคาญกับอาการหูอื้อ เรามีวิธีป้องกันหูอื้อมาฝาก

          - หลีกเลี่ยงเสียงดัง เช่น ปรับเสียงโทรทัศน์ให้เบาลง ไม่อยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง อย่างถนนใหญ่ บริเวณก่อสร้าง คอนเสิร์ต หากไม่สามารถเลี่ยงสถานที่ดังกล่าวได้ควรใส่ที่อุดหูป้องกัน

          - เคี้ยวหมากฝรั่งหรือพยายามกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ขณะโดยสารเครื่องบิน เพื่อให้ท่อยูสเตเชียนเปิดและปิดอยู่ตลอดเวลา ป้องกันอาการหูอื้อได้

          - หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหูถ้าไม่จำเป็น เช่น แอสไพริน, ยาซาลิไซเลต, ยาควินิน เป็นต้น

          - ลดอาหารเค็มหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม

          - งดสูบบุหรี่ เพราะนิโคตินอาจขัดขวางการลำเลียงเลือดไปยังประสาทหูได้

          - รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ๆ พยายามระมัดระวังเหตุที่จะกระทบกระเทือนไปถึงหูได้
 
          - หลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการติดเชื้อที่หู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

          - พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นหวัดง่าย

          - ลดความเครียด วิตกกังวล

          - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

          - ควบคุมโรคที่เป็นให้ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด เป็นต้น

          - เมื่อเครื่องบินกำลังเพิ่มหรือลดเพดานบิน ควรนั่งเครื่องบินในท่าตรง ไม่นอนหลับ เพราะการอยู่ในท่านอนจะทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิดยากกว่าท่านั่ง จึงมีอาการหูอื้อง่ายกว่า

          ส่วนมากแล้วอาการหูอื้อจะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไร เป็นสักพักก็อาจหายไปได้เองในบางกรณี แต่สำหรับคนที่หูอื้อมานาน ทำท่าว่าจะเรื้อรัง อยากให้ไปปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุดนะคะ
 

บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหู


          - ขี้หูเปียก ผิดปกติไหม เกิดจากปัญหาสุขภาพด้านไหนหรือเปล่า
          - ขี้หูอุดตันทำไงดี มีวิธีกำจัดขี้หูด้วยตัวเองไหม
          - หินปูนในหูหลุด เกิดจากอะไร สังเกตจากอาการเวียนหัว เดินเซ
          - เสียงดังวิ้งในหู เกิดจากอะไร รักษาเสียงแว่วในหูยังไงได้บ้าง
          - แมลงเข้าหู ควรทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลง่าย ๆ ยามฉุกเฉิน




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น ปราบอาการหูดับด้วยตนเอง อัปเดตล่าสุด 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 16:17:31 1,406,717 อ่าน
TOP
x close