x close

หินปูนในหูหลุด เกิดจากอะไร สังเกตจากอาการเวียนหัว เดินเซ

          หากเวียนหัวในขณะที่ขยับศีรษะบ่อย ๆ อาการเป็น ๆ หาย ๆ เช็กให้แน่ใจว่าเราไม่ได้เป็นโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด

โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด

          อาการเวียนหัว บ้านหมุน เกิดขึ้นได้บ่อยในแทบจะทุกช่วงอายุ แต่เรามักจะไม่ทราบว่าอาการเวียนศีรษะที่เกิดขึ้นก็อาจจะเกิดจากตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดได้ ซึ่งพอได้ยินอย่างนี้ก็ทำให้เกิดข้อข้องใจขึ้นมาว่า หินปูนในหูชั้นในหลุดได้ยังไง อาการเป็นยังไงบ้าง แล้ววิธีรักษาโรคหินปูนในหูชั้นในหลุด ทำได้อย่างไร ลองมาหาคำตอบไปพร้อมกันเลยค่ะ

หินปูนในหูชั้นในหลุด สาเหตุเกิดจากอะไร


โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด

          ในหูชั้นในของเราจะมีอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวอยู่ และภายในอวัยวะนั้นจะมีตะกอนหินปูนที่เคลื่อนไป-มาได้โดยไม่หลุด เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ แต่หากตะกอนหินปูนนี้หลุดออกแล้ว เมื่อศีรษะเราเคลื่อนไหวก็จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนหัวขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมการทรงตัวของเรา

          สาเหตุของโรคหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) หรือตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือโรคนิ่วในหูชั้นใน พบว่า เกี่ยวข้องกับความเสื่อมตามวัย อุบัติเหตุบริเวณศีรษะ โรคของหูชั้นใน การผ่าตัดหูชั้นกลางหรือหูชั้นใน การติดเชื้อ อาการหลังผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนนาน ๆ การเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำ ๆ ในท่าเดิม ๆ เช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่อาจทำให้หินปูนในหูชั้นในหลุดและเคลื่อนที่ไป-มาในหูชั้นใน ส่งผลให้ร่างกายส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนขึ้นมาได้


หินปูนในหูหลุด อาการเป็นอย่างไร


โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด

          แม้อาการโรคหินปูนในหูชั้นในหลุดจะคล้ายอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่ก็มีลักษณะเด่นที่สังเกตได้ ดังนี้

     - เวียนศีรษะในขณะเปลี่ยนท่าของศีรษะ เช่น เวียนหัวตอนล้มตัวลงนอน เวียนหัวตอนลุกนั่ง หรือในจังหวะพลิกตัว ก้มหน้าลงต่ำ หรือเงยหน้ามองที่สูง 

     - อาการเวียนศีรษะ โคลงเคลง เสียการทรงตัวจะเกิดในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ

     - มองไม่ชัด ในลักษณะภาพเบลอในขณะที่มีอาการเวียนศีรษะ

     - เมื่อขยับศีรษะในท่าเดิม ๆ จะเกิดอาการซ้ำ แต่ความรุนแรงอาจไม่เท่าครั้งแรก

     - มีอาการเวียนศีรษะได้หลายครั้งใน 1 วัน โดยอาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ และอาจเป็นต่อเนื่องกว่าสัปดาห์ หรือเป็นเดือน

     - ในรายที่มีอาการเวียนศีรษะมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

          อย่างไรก็ดี อาการของโรคหินปูนในหูชั้นในหลุดจะไม่รุนแรงถึงขั้นสูญเสียการได้ยิน มีเสียงดังในหู แขน-ขา ชา อ่อนแรง พูดไม่ชัด หมดสติ หรือเป็นลม ยกเว้นจะมีอาการของโรคอื่น ๆ แฝงอยู่ ดังนั้นหากมีอาการเวียนหัว บ้านหมุนเมื่อขยับศีรษะ และเป็น ๆ หาย ๆ อยู่หลายวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการ โดยแพทย์จะมีวิธีตรวจภาวะหินปูนในหูชั้นในหลุดโดยเฉพาะเลยล่ะค่ะ

          ทั้งนี้ การทำงานหนัก มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การโดยสารยานพาหนะ ก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนหัวมากขึ้นได้ ซึ่งหากมีอาการเวียนหัวขึ้นมา ควรรีบนั่งลง หรือนอนบนพื้นราบให้ศีรษะยกสูงเล็กน้อย ไม่ควรเดินต่อเพราะอาจประสบอุบัติเหตุ หรือหากขับรถอยู่ควรรีบจอดรถข้างทาง เพื่อให้อาการบรรเทาลงก่อน ลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด

หินปูนในหูหลุด ควรทำอย่างไร รักษาได้ไหม


          วิธีรักษาโรคหินปูนในหูชั้นในหลุดสามารถรักษาได้ด้วย 3 วิธี ดังนี้

1. รักษาด้วยยา

          ยาที่ใช้จะเป็นยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ ซึ่งโรคนี้รักษาได้ไม่หายขาด อาจกลับมาเป็นได้อีก ทั้งนี้ผู้ป่วยควรได้รับการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย

2. กายภาพบำบัด

          ผู้ป่วยควรได้รับการทำกายภาพบำบัดด้วยการขยับศีรษะและคอ ตามแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนออกจากอวัยวะควบคุมการทรงตัว ให้กลับไปอยู่ในที่เดิม โดยจะเป็นท่าเคลื่อนไหวศีรษะแบบง่าย ๆ และช้า ๆ ซึ่งการทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้อาการเวียนศีรษะหายเร็วกว่าการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว และนอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารและฝึกระบบประสาททรงตัว เพื่อให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้นด้วย



3. ผ่าตัด

          หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการรับประทานยาและทำกายภาพบำบัด โดยมีอาการเวียนศีรษะอยู่ตลอดและมีอาการรุนแรง หรือกลับเป็นซ้ำบ่อย แพทย์ก็อาจทำการผ่าตัดโดยใช้ชิ้นส่วนของกระดูกอุดอวัยวะควบคุมการทรงตัว ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนตัวของหินปูนได้

โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด

หินปูนในหูชั้นในหลุด ป้องกันได้ไหม


          ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่เราอาจสามารถป้องกันโรคหินปูนในหูชั้นในหลุดได้ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้

               - ควรนอนหนุนหมอนสูง หรือนอนให้ระดับศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว

               - หลีกเลี่ยงการนอนราบ

               - หลีกเลี่ยงการนอนเอาหูด้านที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะลง

               - ควรลุกจากเตียงอย่างช้า ๆ และนั่งพักตรงขอบเตียงสัก 1 นาที

               - พยายามไม่ก้มหรือเงยโดยเร็ว ควรเคลื่อนไหวศีรษะให้ช้าลง

               - หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะหรือลำตัวมาก

               - หากมีอาการบ้านหมุน เวียนศีรษะ ควรงดกิจกรรมทุกอย่าง และอยู่นิ่ง ๆ

               - ควรจะทำอะไรช้า ๆ ไม่เร่งรีบจนเกินไป

               - เลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

               - พยายามป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในหู
 
          หากสังเกตอาการตัวเองแล้วพบว่ามีอาการเวียนศีรษะบ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อขยับศีรษะหรือก้ม ๆ เงย ๆ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาดีกว่านะคะ


บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหู

          - โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน... เวียนศีรษะ บ้านหมุน 1 ใน 3 อาการที่สังเกตได้
          - ขี้หูอุดตันทำไงดี มีวิธีกำจัดขี้หูด้วยตัวเองไหม
          - ไขข้อสงสัย คีลอยด์ จากการเจาะหู คืออะไร เกิดขึ้นเพราะอะไร แพทย์มีคำตอบ !
          - 7 วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น ปราบอาการหูดับด้วยตนเอง
          - แมลงเข้าหู ควรทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลง่าย ๆ ยามฉุกเฉิน
          - แก้อาการคันคอง้ายง่าย แค่เกาหูก็หายคันคอแล้วนะ รู้ยัง ?
 
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หินปูนในหูหลุด เกิดจากอะไร สังเกตจากอาการเวียนหัว เดินเซ อัปเดตล่าสุด 29 มิถุนายน 2565 เวลา 17:29:29 46,945 อ่าน
TOP