โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน... เวียนศีรษะ บ้านหมุน 1 ใน 3 อาการที่สังเกตได้

          โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อันตรายหรือไม่ และอาการน้ำในหูไม่เท่ากันส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกายขนาดไหน วันนี้เรามีคำตอบมาให้ไขความกระจ่างค่ะ
  
 
โรคน้ําในหูไม่เท่ากัน

          โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จริง ๆ หลายคนคิดว่าอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะต้องเวียนศีรษะ บ้านหมุน ไม่สามารถทรงตัวได้ ซึ่งนั่นก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแต่ไม่ทั้งหมดค่ะ เพราะโรคน้ำในหูไม่เท่ากันยังมีอาการผิดปกติที่สังเกตได้อีกหลายอย่าง และหากใครสงสัยว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อันตรายไหม โรคน้ำในหูไม่เท่ากันรักษายังไงให้หายขาด ตามมาดูข้อมูลที่เรานำมาฝากได้เลย

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คืออะไร
   
          โรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า โรคมีเนีย (Meniere’s disease) เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งหูชั้นในของคนเรามีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยินอยู่ และโดยปกติแล้วในหูชั้นในจะมีน้ำในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาท และมีการไหลเวียนถ่ายเทของน้ำในหูชั้นในตามปกติ ส่งผลให้เซลล์ประสาททำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยินอย่างมีประสิทธิภาพ

          ทว่าหากมีการไหลเวียนของน้ำในหูผิดปกติไป เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม ก็จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยินของคนเรา ทำให้เซลล์ตัวนี้ทำงานผิดปกติไปด้วย

น้ำในหูไม่เท่ากัน


โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากอะไร

          สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถอธิบายได้แน่ชัด เพียงแต่มีการสันนิษฐานว่า โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อาจเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง อาหารรสเค็ม การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความเครียด และการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังอึกทึกมาก ๆ บ่อย ๆ

          นอกจากนี้โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ยังอาจเป็นผลจากกลุ่มอาการมีเนีย เช่น โรคหูน้ำหนวก หรือโรคซิฟิลิสขั้นรุนแรงถึงขั้นเสี่ยงต่อภาวะหูหนวกได้ด้วยนะคะ

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเสี่ยงบ้าง

          โรคน้ำในหูไม่เท่ากันพบได้มากในกลุ่มคนอายุ 30-60 ปี โดยพบได้ทั้งเพศหญิงและชาย แต่ส่วนมากแล้วจะพบผู้ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันในระยะเริ่มต้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 30 ปีเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคนี้ยังมีน้อยในบ้านเราค่ะ

โรคน้ําในหูไม่เท่ากัน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อาการเป็นอย่างไร

          อาการของผู้ที่ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่ใช่แค่อาการบ้านหมุน เวียนหัวเท่านั้นนะคะ แต่ยังสามารถสังเกตอาการได้ดังต่อไปนี้ด้วย

1. หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด

          อาการนี้เกิดจากประสาทหูที่เสื่อมไป โดยผู้ป่วยจะมีภาวะประสาทการได้ยินผิดปกติที่เรียกว่าประสาทเสียงเสีย ก่อให้เกิดอาการหูอื้อ ได้ยินไม่ค่อยชัด รู้สึกแน่นในหูแบบเป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งการได้ยินดีขึ้น บางครั้งการได้ยินก็แย่ลง และหากไม่รักษา ประสาทการได้ยินเสียงก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นหูหนวกได้ ทั้งนี้ความผิดปกติของการได้ยินอาจเกิดที่หูข้างเดียวในระยะแรกก่อน ต่อมาอาการอาจลามมาเป็นทั้งสองข้าง ร่วมกับมีอาการปวดหู หรือปวดศีรษะข้างที่เป็นด้วยได้

2. มีเสียงดังในหู

          ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงดังในหูข้างที่ผิดปกติ ร่วมกับมีอาการตึง ๆ ภายในหูคล้ายกับมีแรงดันเกิดขึ้นข้างในหู

3. อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน

          อาการเวียนศีรษะในผู้ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมักจะเป็น ๆ หาย ๆ แต่ส่วนใหญ่จะเวียนหัวครั้งละไม่เกินครึ่งชั่วโมง หรือบางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกเยอะร่วมด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อมีอาการเวียนหัว บ้านหมุน ก็มักจะมีความผิดปกติทางประสาทการได้ยิน เช่น หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหูเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาการเวียนหัว บ้านหมุนก็มักจะเป็นอาการที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด เนื่องจากเมื่อเป็นขึ้นมาแล้วจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ต้องนอนพักจนกว่าอาการเวียนศีรษะจะดีขึ้น

          อย่างไรก็ตาม อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด และอาจมีอาการทุกวัน หรือบางคนก็นาน ๆ ครั้งจะเป็นก็ได้ ซึ่งตัวผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถทำนายได้ด้วยว่าอาการน้ำในหูไม่เท่ากันจะเกิดขึ้นตอนไหน เมื่อไร แถมแต่ละครั้งที่เกิดอาการก็อาจนานเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ หรือบางครั้งมีอาการนานเป็นชั่วโมงก็ได้ เรียกได้ว่าอาการป่วยจะมากหรือน้อยไม่สามารถคาดเดาได้เลยในแต่ละครั้งที่โรคน้ำในหูมาป่วนร่างกาย และนอกจาก 3 อาการหลัก ๆ ข้างต้นแล้ว บางเคสยังอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง และท้องเสียร่วมด้วยนะคะ
 
น้ำในหูไม่เท่ากัน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน รักษายังไง

          การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน สามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะ ดังนี้

1. บรรเทาอาการด้วยการดูแลตัวเองในเบื้องต้น
   
          อย่างที่บอกว่าอาการน้ำในหูจะเกิดขึ้นตอนไหนไม่มีใครทราบได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุน ซึ่งสามารถดูแลตัวเองได้ตามนี้

          - เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะขณะเดิน ควรหยุดและนั่งพัก เพราะการฝืนเดินขณะเวียนศีรษะ อาจทำให้ผู้ป่วยล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนถ้าอาการเวียนศีรษะเกิดขึ้นขณะขับรถ หรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเวียนศีรษะมากควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น พื้น และผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว

          - รับประทานยาที่แพทย์ให้รับประทานเวลาเวียนศีรษะ

          - พยายามอย่ารับประทานหรือดื่มมากนัก จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง

          - หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเรือ เพราะจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะมากขึ้นได้

          - ถ้าอาการเวียนศีรษะน้อยลง แต่ยังรู้สึกง่วงหรือเพลีย แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนอีกสักพัก

          - หลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน (ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม และกาแฟ) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และความเครียด ซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วยโรคนี้แย่ลง เนื่องจากจะไปลดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน

          - ควรจำกัดการบริโภคอาหารรสเค็ม เพราะความเค็มหรือเกลือโซเดียมที่มีปริมาณมากขึ้นในร่างกาย จะทำให้มีน้ำคั่งในร่างกาย และในหูชั้นในมากขึ้น อาจทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลงได้

น้ำในหูไม่เท่ากัน

2. การรักษาด้วยยา

          โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน รักษาด้วยยาก็ได้นะคะ โดยแพทย์อาจจะจ่ายยาเพื่อรักษาตามอาการ ดังต่อไปนี้

          - ให้ผู้ป่วยรับประทานยาขับปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้น้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นน้อยลดน้อยลงได้ และผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้น

          - ให้ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ หรืออาการคลื่นไส้ อาเจียน

          - ให้ยาขยายหลอดเลือด (ฮิสตะมีน) เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น

          - ให้ยาในกลุ่มกล่อมประสาท หรือยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย และนอนหลับได้เป็นปกติ

3. รักษาด้วยการผ่าตัด

          การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมักจะใช้กับเคสที่ผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้น แม้จะดูแลตัวเองตามข้างต้น และรักษาด้วยยาแล้วก็ตาม ซึ่งการผ่าตัดจะช่วยระบายน้ำที่คั่งในหูชั้นใน ทั้งนี้การผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค และดุลยพินิจของแพทย์ โดยวิธีรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันด้วยการผ่าตัด มีทางเลือกดังต่อไปนี้

          - ผ่าตัดทำลายอวัยวะควบคุมการได้ยิน และการทรงตัวในหูชั้นใน (Labyrinthectomy) ซึ่งจะช่วยควบคุมอาการเวียนศีรษะได้ดี แต่ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินในข้างนั้นด้วย มักจะทำในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินในหูข้างนั้นมากแล้ว แต่ยังมีอาการเวียนศีรษะมากอยู่

          - ผ่าตัดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน (Vestibular neurectomy) มักจะทำในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะมาก แต่ยังมีการได้ยินดีอยู่

           - การฉีดยาที่มีพิษต่อระบบประสาทหูและการทรงตัวเข้าไปในหูชั้นกลาง เพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในหูชั้นใน เช่น Gentamycin ซึ่งเป็นยาต้านจุลชีพกลุ่ม Aminoglycoside เพื่อทำลายระบบประสาททรงตัว ทำให้อาการเวียนศีรษะน้อยลง แต่การได้ยินอาจเสียไปด้วย

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หายขาดหรือไม่

          โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จัดอยู่ในกลุ่มโรคมีเนีย ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ทว่าเราจะสามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ด้วยยา และการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องเมื่อเกิดอาการ

น้ำในหูไม่เท่ากัน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ขึ้นเครื่องบินได้ไหม

          รศ. นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า อาการน้ำในหูไม่เท่ากันไม่ใช่โรคต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน ดังนั้นจึงสามารถขึ้นเครื่องบินได้ หากไม่ตกหลุมอากาศก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่ควรหลีกเลี่ยงคือการนั่งเรือ เพราะการอยู่ในสภาพที่โคลงเคลงจะกระตุ้นให้เกิดอาการได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน หากจำเป็นต้องเดินทางโดยยานพาหนะ ไม่ว่าจะนั่งรถ เรือ หรือเครื่องบิน ควรพกยาติดตัวไปด้วย เพื่อจะได้ควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ป้องกันได้ไหม

          เราสามารถป้องกันโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้โดยลดปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรค เช่น ลดการกินเค็ม ลดบริโภคชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกฮอล์ และอาหารที่มีคาเฟอีนทุกชนิด รวมไปถึงการพยายามทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด ไม่โหมงานจนมากเกินไป และพักผ่อนให้เพียงพอ

          ทั้งนี้ในช่วงที่ร่างกายเป็นปกติ ไม่มีอาการของน้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่เกิดอาการเวียนศีรษะ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดส่วนที่จะไปเลี้ยงบริเวณหูชั้นใน ส่งผลให้ผู้ป่วยควบคุมอาการน้ำในหูไม่เท่ากันได้ดีขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    
- คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
- ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย 
- โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน... เวียนศีรษะ บ้านหมุน 1 ใน 3 อาการที่สังเกตได้ อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2562 เวลา 16:43:17 164,511 อ่าน
TOP
x close