ไข้หวัดใหญ่ อาการของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน อย่าชะล่าใจว่าไม่อันตราย เรียนรู้ไว้เพื่อป้องกันให้ปลอดภัยจะดีกว่า
ไข้หวัดใหญ่ เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้ใกล้ตัวเรา และสามารถเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรก็ได้ไม่มีใครรู้ ซ้ำอาการของโรคก็ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าการเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้จักโรคไข้หวัดใหญ่เพียงแค่ผิวเผิน วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขออาสาพาทุกท่านไปเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อจะได้ระมัดระวัง อย่ามองว่าเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา เพราะความรุนแรงที่เป็นอันตรายและอาการแทรกซ้อนก็มีเหมือนกันถ้าไม่ระวังตัว
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) หรือที่รู้จักกันในชื่อของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A)
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B (Influenza B)
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C (Influenza C)
ไข้หวัดใหญ่ เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้ใกล้ตัวเรา และสามารถเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรก็ได้ไม่มีใครรู้ ซ้ำอาการของโรคก็ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าการเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้จักโรคไข้หวัดใหญ่เพียงแค่ผิวเผิน วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขออาสาพาทุกท่านไปเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อจะได้ระมัดระวัง อย่ามองว่าเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา เพราะความรุนแรงที่เป็นอันตรายและอาการแทรกซ้อนก็มีเหมือนกันถ้าไม่ระวังตัว
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) หรือที่รู้จักกันในชื่อของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A)
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B (Influenza B)
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C (Influenza C)
ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันอย่างไร
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการหายใจ ไอ จาม หรือหายใจรดกันในพื้นที่ที่มีคนอยู่แออัด อีกทั้งยังสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย หรือการนำมือที่มีเชื้อไวรัสไปสัมผัสปากกับจมูกจนทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย
โดยจากสถิติของผู้ติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มที่ติดเชื้อได้มากที่สุดคือ เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 55 ปี และนอกเหนือจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่หากเป็นแล้วอาจมีอาการที่รุนแรงจน เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หญิงตั้งครรภ์
ประเภทของไข้หวัดใหญ่
แม้ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน แต่ความรุนแรงค่อนข้างแตกต่างกันอยู่มาก อีกทั้งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีการระบาดที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงสามารถแบ่งไข้ใหญ่ออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
เชื้อไวรัสสายพันธุ์ เอ ถือเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด และสามารถแพร่ระบาดไปได้ทั่วโลก โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอ จะแบ่งความแตกต่างออกเป็นอีกหลายชนิดย่อย ๆ โดยแบ่งตามชนิดของโปรตีนของไวรัสคือ H (Hemagglutinin) และ N (Neuraminidase) โดยชนิดย่อยของไข้หวัดสายพันธุ์ A ที่เคยแพร่ระบาดก็อย่างเช่น
1. ไข้หวัดสุกร H3N2 หรือ H3N2V
ไข้หวัดสุกรนั้นมีแหล่งกำเนิดมาจากหมู ระดับความรุนแรงนั้นถือว่าสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ แต่น้อยกว่าไข้หวัดนก เนื่องจากการติดต่อนั้นยากกว่าไข้หวัดนก ทั้งนี้คนมักเข้าใจผิดว่าไข้หวัดสุกรนั้นเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา จึงทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ดีเพียงพอ ซึ่งความเข้าใจผิดนี้อาจจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้
2. ไข้หวัดนก
ไข้ หวัดนก เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ที่เคยระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทย โดยสายพันธุ์ที่เคยพบในประเทศไทยก็ได้แก่ H5N1 และ H5N8 โดยไข้หวัดนกจะมีอาการรุนแรงมากกว่าไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเป็นไข้หวัดที่สามารถติดต่อได้ง่าย และสามารถติดต่อจากคนสู่คน หรือติดต่อจากสัตว์ปีกได้โดยตรง
3. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1
ไข้หวัดชนิดนี้มีอีกชื่อหนึ่งทีรู้จักกันดีนั่นก็คือไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของมนุษย์ เกิดขึ้นจากผสมกันข้ามสายพันธุ์ของไข้หวัดนก ไข้หวัดสุกร และไข้หวัดใหญ่ของมนุษย์ โดยเริ่มมีการระบาดครั้งแรกที่ประเทศสเปน ในปี พ.ศ. 2461-2462 ขณะนั้นรู้จักกันในชื่อของ "ไข้หวัดสเปน" จากการระบาดในครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 20-30 ล้านคนทั่วโลก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ก็เกิดการระบาดอีกครั้งในประเทศรัสเซีย และมีชื่อเรียกใหม่ว่า "ไข้หวัดรัสเซีย" และการระบาดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 (ปี 2009) ซึ่งมีการระบาดขึ้นในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ก่อนจะกระจายไปทั่วโลกผ่านผู้เดินทางที่เดินทางเข้า-ออกประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ยังถือเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอยู่อย่างใกล้ชิดค่ะ
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B (Influenza B)
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเฉพาะในภูมิภาค และโดยส่วนใหญ่ก็มักจะระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็น มีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เอ แต่รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และสายพันธุ์ซี ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วอาการก็จะคล้าย ๆ กับอาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนค่ะ
เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่พบได้น้อยมาก อีกทั้งยังมีอาการที่ไม่รุนแรงและไม่พบการระบาด จึงทำให้บางครั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ก็ไม่ถูกนับรวมเป็นชนิดของโรคไข้หวัดใหญ่ค่ะ
อาการไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร ?
แม้จะมีความแตกต่างกันด้านสายพันธุ์ แต่อาการโดยทั่วไปก็จะค่อนข้างคล้ายกัน โดยอาการของโรคจะแสดงออกมาหลังจากรับเชื้อเข้าไป 1-4 วัน อาการที่พบได้บ่อยคือ ไข้สูงเฉียบพลัน ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 38-40 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมากผิดปกติ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และอาการไอ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการเหล่านี้จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าหากมีอาการแทรกซ้อนอย่างเช่น โรคปอดอักเสบ ก็อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
- มีอาการหนาวสั่นผิดปกติ
- หายใจหอบ หรือมือาการเจ็บหน้าอกรุนแรง
- ปวดท้องรุนแรง อาเจียนบ่อย
- มีเลือดออก เช่น มีจุดแดงจ้ำเลือดตามตัว เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด เพราะอาจเป็นอาการของโรคไข้เลือดออก
- เริ่มมีอาการของดีซ่าน
- มีรอยแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
- มีไข้สูงติดต่อนานเกิน 1 สัปดาห์
- เจ็บคอ หรือทอนซิลมีอาการต่อมทอมซิลอักเสบ
- น้ำมูก หรือเสมหะ มีลักษณะข้น เป็นสีเหลืองหรือเขียว
ไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดธรรมดา แตกต่างกันอย่างไร ?
หากสังเกตอาการโดยผิวเผินแล้ว อาการไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดธรรมดาจะคล้ายกัน แต่ความแตกต่างที่สามารถสังเกตได้ชัดก็คือ อาการเด่น ๆ ของไข้หวัดธรรมดาคือ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ แต่อาการเด่นของไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูง และปวดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องแยกระหว่างทั้งสองโรคนี้ให้ออก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่นั้นสามารถมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่นั้นจะรักษาแบบประคับประคองโดยให้รับประทานยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ หรือยาลดน้ำมูก แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีการใช้ยาเพื่อ ต้านเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ยาที่ใช้ก็ได้แก่ ยาอะแมนตาดีน (Amantadine) และยาไรแมนตาดีน (rimantadine) นอกจากนี้ยังมียาซานามิเวียร์ (Zanamivir) และโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซึ่งการใช้ยาต้านไวรัสขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จึงไม่ควรหามารับประทานเองเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้จริงไหม
ในปัจจุบันวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันปีละ 1 ครั้ง แต่ก็ต้องขอบอกว่า วิธีนี้ไม่อาจป้องกันได้ 100% เนื่องจากวัคซีนที่นำออกมาใช้ในแต่ละปีนั้น ๆ จะเกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าสายพันธุ์ใดจะแพร่ระบาด จากนั้นจึงจะทำวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้น ทำให้วัคซีนดังกล่าวอาจจะไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่อุบัติใหม่ หรือเป็นสายพันธุ์อันนอกเหนือจากที่วัคซีนจะสามารถป้องกันได้
ดังนั้นวิธีการป้องกันนอกจากเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปีแล้ว เราก็ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อ หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับใบหน้าหรือหยิบจับสิ่งของเข้าปาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจะต้องได้รับวัคซีนอย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัยค่ะ
วิธีปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
เช่นเดียวกับการป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา เมื่อผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ได้รับเชื้อและเริ่มแสดงอาการแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการปฏิบัติตนในขณะที่ป่วย เพื่อไม่ให้อาการทรุดลงหรือแพร่เชื้อไปยังคนอื่น ๆ โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
- ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และพักผ่อนให้เพียงพอ
- สวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
- ดื่มน้ำ (อุ่น) มาก ๆ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้
- ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ หากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นควรใช้ช้อนกลาง
- หมั่นเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเพื่อลดไข้
- สวมผ้าปิดปากและจมูกเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีภูมิต้านทานต่ำ
สถิติผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย
เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี จึงทำให้ในประเทศไทยยังพบผู้ป่วยอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งจากสถิติของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2561 มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ดังนี้
***หมายเหตุ : อัพเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
U.S. Department of Health & Human Services