ดีซ่าน อาการป่วยที่รักษาได้ ถ้ารู้ทันโรค

          ดีซ่าน ไม่ใช่โรค แต่ดีซ่านเป็นอาการป่วยที่มีสาเหตุมาจากหลายโรค และควรรีบรักษาอาการดีซ่านเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ดีซ่าน ไม่ใช่โรค

          อาการตาเหลือง ตัวเหลือง หรือที่เราเข้าใจกันว่าเป็นอาการของดีซ่าน แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่โรค แต่ดีซ่านเกิดจากภาวะข้างเคียงของหลายโรค ซึ่งเมื่อเป็นดีซ่านขึ้นมาแล้ว หลายคนอาจกังวลใจว่าดีซ่านจะอันตรายถึงกับพรากชีวิตของคนที่เรารักไปหรือเปล่า ดังนั้นเพื่อให้กระจ่างแจ้งแก่ใจ เรามารู้จักโรคดีซ่านกันเถอะค่ะ


ดีซ่าน ไม่ใช่โรค

ดีซ่าน เกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นดีซ่าน?

          อาการดีซ่าน เกิดจากสารสีเหลืองที่ชื่อว่า สารบิลิรูบิน (Bilirubin) โดยสารบิลิรูบินจะหลุดออกมาจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งโดยปกติแล้วเม็ดเลือดแดงจะมีอายุได้เพียง 120 วัน ทว่าหากเม็ดเลือดแดงที่มีอายุแก่กว่า 120 วันหลุดเข้าไปในเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อก็จะทำลายเม็ดเลือดแดงตัวแก่เหล่านี้ และดึงเอาเหล็กไปเก็บไว้ในไขกระดูก เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ ส่วนสารบิลิรูบินก็จะถูกกรองออกจากกระแสเลือด แล้วถูกส่งต่อไปยังตับ ตับก็จะเริ่มกระบวนการขับถ่ายของเสีย
   
          โดยเมื่อตับได้รับสารบิลิรูบินเข้ามาแล้ว ตับจะขับสารนี้ออกมาพร้อมกับน้ำดี แล้วขับออกไปทางท่อน้ำดี ซึ่งมีทั้งท่อน้ำดีในตับ และท่อน้ำดีนอกตับ จากนั้นน้ำดีที่มีหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร ก็จะนำเอาสารบิลิรูบินสีเหลืองปะปนมาในระบบย่อยอาหาร และลำไส้ก็จะขับสารบิลิรูบินออกจากร่างกายไปทางอุจจาระ ดังนั้นเมื่อร่างกายมีสารบิลิรูบินในเลือดค่อนข้างสูง ปัสสาวะและอุจจาระจึงมีสีเหลืองเข้มนั่นเอง
   
          ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ จนทำให้มีปริมาณสารบิลิรูบินสูงเกินพอดี หรือมีการอุดตันของท่อน้ำดี เป็นโรคตับอักเสบ เป็นฝีในตับ หรือถุงน้ำดีอักเสบ สารบิลิรูบินก็อาจจะคั่งอยู่ในเลือด และมีโอกาสเข้าไปจับตัวกับเนื้อเยื่อต่าง ๆ พาให้เนื้อเยื่อทั่วร่างกายมีสีเหลือง ซึ่งจะแสดงอาการชัดเจนผ่านอาการตาขาวเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งแปลได้ว่าสารบิลิรูบินกระจายไปทั่วร่างกายแล้ว

ดีซ่าน ไม่ใช่โรค

 สาเหตุของอาการดีซ่าน

          อาการดีซ่านมีสาเหตุมาจากหลายโรค แต่จะพบบ่อยในโรคดังต่อไปนี้

          - ตับติดเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หรือโรคฉี่หนู
          - โรคติดเชื้อบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย อย่างโรคมาลาเรีย เป็นต้น
          - ตับอับอักเสบจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาบางตัวที่ใช้รักษาวัณโรค หรือการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด
          - โรคภูมิแพ้ตัวเอง ซึ่งอาจนำมาซึ่งอาการตับอักเสบได้
          - โรคนิ่วในถุงน้ำดีและมะเร็งตับ ซึ่งจะก่อให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ทำให้สารบิลิรูบินคั่งอยู่ในกระแสเลือด
          - โรคเลือดบางชนิด เช่น โรคจีซิกพีดี (G6PD) และโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งส่งผลให้เม็ดเลือดแดงเกิดการสลายตัวง่ายกว่าปกติ

ดีซ่าน ไม่ใช่โรค

 อาการดีซ่าน แยกแยะอย่างไร ?

          นอกจากอาการตาเหลือง ตัวเหลืองแล้ว อาการของโรคดีซ่านอาจอิงกับโรคต้นเหตุที่เป็นอยู่ด้วย ดังนี้
   
          - มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
          - ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา
          - มีไข้หนาวสั่น
          - ปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนสีขมิ้น
          - คันตามตัว
          - ท้องบวม ขาบวม
          - น้ำหนักลดฮวบฮาบ
   
          อย่างไรก็ดี อาการดีซ่านในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไป หรือมีอาการหลาย ๆ อย่างร่วมกับอาการเจ็บป่วยของโรคที่เป็นอยู่ด้วย ซึ่งอาจทำให้หลายคนตีความอาการของโรคผิดเพี้ยนไปได้ ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติกับตัวเอง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างละเอียดอีกครั้ง
ดีซ่าน ไม่ใช่โรค

 การรักษาโรคดีซ่าน
         
          อาการดีซ่านเป็นอาการที่เกิดจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นการรักษาเริ่มแรกก็ควรต้องหาสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติให้ได้ก่อน โดยแพทย์อาจเลือกให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคฉี่หนู หรือมีอาการติดเชื้อ บางรายอาจรักษาด้วยการผ่าตัด ถ้าดีซ่านมีสาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี หรือรักษาไปตามอาการของผู้ป่วย เช่น ให้ยาบรรเทาอาการคัน หากมีอาการคันร่วมด้วย เป็นต้น


การป้องกันโรคดีซ่าน

          ย้ำกันอีกทีว่าดีซ่านเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของตับและถุงน้ำดี ดังนั้นเราจึงสามารถป้องกันโรคดีซ่านได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รักษาสุขอนามัยให้ดี เพื่อป้องกันและลดโอกาสติดเชื้อไวรัส รวมทั้งพยายามอยู่ห่างจากเครื่องดื่มแอลกฮอล์ให้มาก เพื่อป้องกันตับอ่อนแอ เสี่ยงต่อโรคตับแข็งและมะเร็งตับ

          นอกจากนี้ยังควรป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ด้วยนะคะ

ดีซ่าน ไม่ใช่โรค

 ความรุนแรงของอาการดีซ่าน
   
          ความรุนแรงของอาการดีซ่านขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดีซ่าน โดยหากอาการดีซ่านเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี ความรุนแรงก็จะไม่น่ากังวล แต่หากเกิดจากมะเร็งตับ อาการจะค่อนข้างรุนแรง
   
          แต่อย่างไรก็ดี หากมีอาการดีซ่าน ก็ควรได้รับการรักษาโดยด่วนที่สุด เพราะหากปล่อยไว้นานหรือรอดูอาการ อาจทำให้โรคลุกลาม รักษายากขึ้น มีโอกาสหายน้อยลง หรืออาจเป็นอันตรายมากกว่าเดิมได้


การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นดีซ่าน

          - ปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอันเป็นสาเหตุของอาการดีซ่าน เพราะยิ่งรู้ต้นตอของอาการเร็วเท่าไร โอกาสจะหายก็มากเท่านั้น

          - พักผ่อนให้มาก หากมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ก็ควรพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อให้ระบบภายในอย่างตับและถุงน้ำดีได้พักฟื้นตัวเองจนหายเป็นปกติ

          - หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันสูงและอาหารรสเค็ม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีอาการบวม

          - ดื่มน้ำให้มาก เพื่อช่วยในกระบวนการทำงานของร่างกาย

          - งดดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะพิษสุราอาจไปทำลายตับ ทำให้ตับอ่อนแอมากขึ้น

          - ยาซื้อยากินเอง เมื่อมีอาการป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นดีซ่าน อย่าซื้อยามากินเองโดยเด็ดขาด เพราะยาที่ไม่ถูกกับโรคอาจเพิ่มภาระให้ตับเหนื่อยมากขึ้น

          - ห้ามฉีดยาเอง หรือแม้แต่แพทย์ก็ควรเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีนี้ เพราะการฉีดยาอาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อให้ผู้ป่วยได้

          - รักษาสุขอนามัยให้ดี โดยเฉพาะการขับถ่ายของเสีย ควรทำความสะอาดให้ดี และผู้ป่วยเองก็ควรล้างมือทุกครั้งหลังทำธุระในห้องน้ำเสร็จ

          - หลีกเลี่ยงการบริจาคเลือด แม้จะเพียงแค่สงสัยว่าเป็นดีซ่านก็อย่าบริจาคเลือดจะดีกว่า

          นอกจากนี้คนที่ดูแลผู้ป่วยดีซ่านเองก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของผู้ป่วยโดยตรง เพราะเลือดของผู้ป่วยอาจมีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ ซึ่งอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
,
โรงพยาบาลพระราม 9
WebMd
   



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดีซ่าน อาการป่วยที่รักษาได้ ถ้ารู้ทันโรค อัปเดตล่าสุด 29 มิถุนายน 2561 เวลา 16:38:35 143,890 อ่าน
TOP
x close