ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีสายพันธุ์อะไรบ้าง
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A : เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุด ระบาดได้ทั่วโลก และทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แถมยังสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่าย
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B : พบได้รองลงมา ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A และมักไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C : พบได้น้อยมาก มักพบในเด็กเล็ก และไม่ทำให้เกิดการระบาด
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A คืออะไร ?
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสชนิด A แบ่งเป็นชนิดย่อยตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า Hemagglutinin (H) และ Neuraminidase (N) ได้อีกหลายชนิด โดยที่พบได้บ่อย เช่น
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1) : ที่ผ่านมามีการระบาดครั้งใหญ่ในสเปน จึงเรียกว่า ไข้หวัดสเปน และกลับมาระบาดหนักอีกครั้งในช่วงปี 2009 ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแล้ว
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N2) : เป็นสายพันธุ์ย่อยในโรคไข้หวัดหมูสายพันธุ์ A ที่สามารถติดต่อจากหมูสู่คนได้
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2) : เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อจากหมูสู่คนได้ จึงเรียกว่า ไข้หวัดหมู หรือ ไข้หวัดฮ่องกง เพราะเคยระบาดหนักในฮ่องกง
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H5N1) : คือไข้หวัดนกที่เคยระบาดไปทั่วเอเชีย สามารถติดต่อจากคนสู่คน หรือติดต่อจากสัตว์ปีกได้โดยตรง
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เกิดจากอะไร
ติดต่อได้อย่างไร
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านทางสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยที่ออกมาตอนไอหรือจาม โดยเชื้อไวรัสจะอยู่ในละอองฝอยเล็ก ๆ ล่องลอยอยู่ในอากาศ หากเราหายใจเอาละอองเหล่านี้เข้าไปก็จะทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วมาสัมผัสจมูกหรือปากของตัวเอง
ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 1-3 วัน และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วัน ก่อนมีอาการ ไปจนถึง 3-5 วัน หลังมีอาการ หากผู้ป่วยเป็นเด็กจะสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาการเป็นอย่างไร
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-3 วัน โดยจะมีอาการเหล่านี้
- ไข้สูงเฉียบพลัน
- ปวดศีรษะอย่างหนัก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา
- อ่อนเพลีย
- ไอแห้ง เจ็บคอ
- มีน้ำมูกใส คัดจมูก หายใจไม่สะดวก
- เบื่ออาหาร
- บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วย
- ในเด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน และชักจากไข้สูง
อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
ใครเสี่ยงมีอาการรุนแรง
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงว่าจะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ได้แก่
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ
- ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
- สตรีมีครรภ์
- ผู้ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคไตวาย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
- ผู้ป่วยโรคหลอดสมอง หรือลมชัก
- ผู้ป่วยโรคตับแข็ง
- ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิหรือสเตียรอยด์จากโรคภูมิคุ้มกันตัวเอง
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน โดยมีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A รักษาอย่างไร
การรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ทำได้โดยการรักษาตามอาการ เช่น
- หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว
- หากมีน้ำมูก คัดจมูก ให้รับประทานยาลดน้ำมูก
- หากไอ มีเสมหะ ให้รับประทานยาแก้ไอ ละลายเสมหะ
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ
- งดไปโรงเรียนหรือที่ทำงานจนกว่าจะหายดี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ในบางรายที่อาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ เช่น โอเซลทามิเวียร์ หรือหากผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย แพทย์อาจให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กี่วันหาย
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ป้องกันได้อย่างไร
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ โทรศัพท์ ปุ่มลิฟต์ บันไดเลื่อน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในที่ชุมชน
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น
- รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ปี 2567 ได้ที่ไหน ใครมีสิทธิ์ เช็ก 4 วิธีจองคิวฉีดวัคซีนง่าย ๆ
- ไข้หวัดใหญ่ H1N1 รู้ให้ครบทั้งอาการ และวิธีป้องกันก่อนจะป่วย !
- ไข้หวัดใหญ่ อาการใกล้ตัวที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ย้ำให้ชัดว่าต้องระวัง
- เช็กอาการไข้หวัดใหญ่ ต่างจาก ไข้หวัดทั่วไป ตรงไหน ?
- ไข้หวัดใหญ่ H3N2 รู้ให้ทัน ก่อนตื่นตระหนก