โควิดกับไข้หวัดใหญ่ต่างกันอย่างไร สังเกตอาการให้แม่น แยกสองโรคยอดฮิตตามฤดูกาล

           โควิดกับไข้หวัดใหญ่ต่างกันอย่างไร ช่วงนี้หลายคนแยกอาการป่วยค่อนข้างยาก และมักเกิดความสับสนระหว่างสองโรคนี้ ดังนั้นลองมาเช็กดี ๆ ว่ามีจุดสังเกตความต่างตรงไหนบ้าง
ไข้หวัดใหญ่ โควิด 19

           ไข้หวัดใหญ่ และโควิด 19 เป็นโรคทางเดินหายใจที่มักสร้างความสับสนให้กับหลายคน เพราะอาการของโรคมีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน ที่สำคัญในช่วงที่เกิดการระบาดก็มักจะเป็นจังหวะเดียวกัน ซึ่งก่อนจะสับสนกันไปไกล วันนี้เราจะพาไปเปรียบเทียบว่าโควิดกับไข้หวัดใหญ่ต่างกันอย่างไร มาเริ่มกันที่อาการโควิด กันก่อน

อาการโควิด 19 อัปเดตในปี 2568

อาการโควิด 2568

          โควิด 19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 โดยสายพันธุ์หลักที่พบในตอนนี้ คือ โควิดสายพันธุ์ XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน มีความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ ถึง 84–110% แต่อาการของผู้ป่วยโควิด 19 ในปี 2568 มักไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดในช่วงแรก ๆ และพบการลงปอดน้อยลง ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ โดยส่วนใหญ่จะพบอาการโควิด ดังนี้

  • เจ็บคอ แสบคอมาก

  • ไอต่อเนื่อง ไอติด ๆ กัน

  • คัดจมูก หรือมีน้ำมูกไหล

  • มีไข้ต่ำ ๆ หรือบางรายอาจมีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส

  • ปวดศีรษะ

  • ปวดเมื่อยตามตัว

  • อ่อนเพลีย หมดแรง

  • เบื่ออาหาร

  • ท้องเสีย

  • คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง หรืออาเจียน (ในบางราย)

  • สูญเสียการรับกลิ่น หรือรับรส

อาการไข้หวัดใหญ่

อาการไข้หวัดใหญ่

          ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงกว่าหวัดทั่วไป โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) อาการหลัก ๆ ของไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  • คัดจมูก น้ำมูกไหล 

  • ไอ จาม 

  • มีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและติดต่อกันหลายวัน

  • หนาวสั่น

  • อ่อนเพลีย

  • ปวดศีรษะ

  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วตัว โดยเฉพาะหลัง แขน ขา

เปรียบเทียบอาการ
โควิดกับไข้หวัดใหญ่ ต่างกันอย่างไร

อาการโควิด 19 กับ อาการไข้หวัดใหญ่

          แม้ว่าอาการโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่จะมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความแตกต่างที่สำคัญ เช่น 

  • ความหลากหลายของอาการ : โควิด 19 มีความหลากหลายของอาการมากกว่าไข้หวัดใหญ่ เช่น การสูญเสียการรับรสและกลิ่น บางคนอาจระคายเคืองตา มีผื่นขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่ไม่พบในโรคไข้หวัดใหญ่

  • ความรุนแรงของอาการ : อาการไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงมากแบบฉับพลัน และไข้ไม่ค่อยลด มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวที่รุนแรงกว่าโควิด 19 ในขณะที่อาการโควิด 19 มักจะมีไข้ต่ำ ๆ ส่วนอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวมักจะค่อยเป็นค่อยไป และอาจไม่รุนแรงในระยะแรก แถมบางคนก็แทบไม่มีอาการใด ๆ เลย

  • ระยะเวลาแสดงอาการ : อาการไข้หวัดใหญ่มักจะแสดงให้เห็นอย่างรวดเร็วหลังจากการติดเชื้อ เพราะระยะฟักตัวของไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 1-4 วัน หรือโดยเฉลี่ยคือ 2 วัน ในขณะที่โควิด 19 มักมีระยะฟักตัวที่นานกว่า คือประมาณ 2-14 วัน แต่โดยเฉลี่ยคือ 5 วัน และอาการจะค่อย ๆ แสดงตัว ไม่ปุบปับรวดเร็ว

  • ความรุนแรงของโรคในปัจจุบัน : ในปัจจุบันโควิด 19 ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ยังคงมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ยังอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบได้ แม้ในผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ตาม
           อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคไม่ว่าจะโควิด 19 หรือไข้หวัดใหญ่ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สายพันธุ์ไวรัสที่ได้รับ ปริมาณเชื้อ และสุขภาพพื้นฐาน ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ขณะที่บางรายอาจพัฒนาไปสู่ภาวะปอดอักเสบหรือภาวะรุนแรงอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ วิธีแยกโรคที่ชัดเจนที่สุดคือ ทดสอบด้วยการตรวจ ATK เพื่อหาเชื้อโควิดหรือไข้หวัดใหญ่

บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โควิดกับไข้หวัดใหญ่ต่างกันอย่างไร สังเกตอาการให้แม่น แยกสองโรคยอดฮิตตามฤดูกาล โพสต์เมื่อ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 18:05:19 1,793 อ่าน
TOP
x close