โรคระบบทางเดินหายใจ มีอะไรบ้าง เช็กอาการให้ชัวร์ แบบไหนกำลังป่วย !

          โรคระบบทางเดินหายใจ อาการเจ็บป่วยที่ส่งผลโดยตรงกับระบบหายใจของเรา มาดูกันว่า มีโรคอะไรบ้าง และวิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ เหล่านี้กันค่ะ

         เพราะสภาพแวดล้อมทุกวันนี้เต็มไปด้วยมลภาวะต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งมลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศ ควันจากการเผาไหม้ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนอยู่ตลอดทั้งปี ทำให้มีคนป่วยเป็น “โรคระบบทางเดินหายใจ” เพิ่มสูงขึ้น บางคนเมื่อมีอาการเล็กน้อยอาจจะมองว่าไม่รุนแรงเท่าไรนัก จึงปล่อยปละละเลย ไม่ทำการรักษาให้ถูกวิธี จนอาจจะรุนแรงกลายเป็น “โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง” ได้ในที่สุด

          วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกคนมารู้จักกับโรคระบบทางเดินหายใจกันว่าคืออะไร มีโรคอะไรบ้าง และอาการเบื้องต้นเป็นอย่างไร รวมถึงวิธีการป้องกันโรคต่าง ๆ เหล่านี้มาฝากกันค่ะ

โรคระบบทางเดินหายใจ คืออะไร
โรคระบบทางเดินหายใจ

           โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นอาการป่วยหรือความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินทางหายใจ ซึ่งประกอบด้วย รูจมูก โพรงจมูก คอหอย หลอดลม ขั้วปอด และปอด ทำให้ส่งผลต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซในร่างกายผิดปกติ ซึ่งโรคระบบทางเดินหายใจสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย บางคนที่มีภูมิคุ้มกันดีก็อาจจะป่วยแล้วหายเองได้ด้วยการรักษาและดูแลตัวเองที่ถูกต้อง แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว เมื่อเกิดความผิดปกติดังกล่าว ก็มีโอกาสที่อาการเจ็บป่วยจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ประเภทของโรคระบบทางเดินหายใจ
          โรคระบบทางเดินหายใจ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tractinfection : URI)

           เป็นการติดเชื้อเฉียบพลันของอวัยวะระบบหายใจส่วนต้น ได้แก่ จมูก หู คอ กล่องเสียง ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ รวมถึงการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ ไข้หวัด โรคคออักเสบ โรคหูอักเสบ ไซนัสอักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบ

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower respiratory infection : LRI)

           ติดเชื้อเฉียบพลันของอวัยวะระบบหายใจส่วนล่าง ตั้งแต่หลอดลม หลอดคอ หลอดลมใหญ่หรือหลอดลมปอด และปอด ตัวอย่างโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ อาการอักเสบเฉียบพลันของหลอดลม หลอดลมฝอย และกล่องเสียง รวมถึงโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ
โรคระบบทางเดินหายใจ สาเหตุเกิดจากอะไร
โรคระบบทางเดินหายใจ

          มาดูกันว่า โรคระบบทางเดินหายใจอาจมีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง

  1. การติดเชื้อต่าง ๆ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือโปรตัวซัว อาทิ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ปอดบวม และวัณโรค เป็นต้น 

  2. อาการแพ้ หรือได้รับสารระคายเคืองบางอย่าง เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด

  3. พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และใช้สารเสพติดผ่านระบบหายใจ เช่น ดมกาว หรือทินเนอร์ 

  4. การประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองและควัน มลพิษ สารพิษ หรือสารเคมีเป็นเวลานาน

  5. อาการเจ็บป่วยในร่างกาย เช่น การเกิดเนื้องอก หรือมะเร็ง 

  6. อุบัติเหตุหนักที่ทำให้เกิดแรงกระแทกอย่างแรงในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดทะลุ

โรคระบบทางเดินหายใจ มีอะไรบ้าง
โรคระบบทางเดินหายใจ

          จริง ๆ แล้ว โรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีทั้งโรคที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง วันนี้เลยจะขอยกตัวอย่างโรคที่พบบ่อยและเราควรรู้จัก ดังนี้ค่ะ

1. โรคหวัด

           โรคหวัด หรือ ไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common Cold) เป็นอาการติดเชื้อที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือช่วงเปลี่ยนฤดู อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุแต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กเล็ก เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ การหายใจรดกัน หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย อาการของโรคหวัดที่พบบ่อย ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ และบางคนอาจจะมีไข้ต่ำร่วมด้วย แต่อาการดังกล่าวจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน เมื่อดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และอาจใช้ยารักษาตามอาการ

2. ไข้หวัดใหญ่

         ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นอาการติดเชื้อไวรัสคล้ายกับโรคหวัด มีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C โดยสายพันธุ์ A มีความรุนแรงที่สุด ก่อให้เกิดโรคระบาดมากมาย อาทิ ไข้หวัดนก, ไข้หวัดหมู, ไข้หวัดใหญ่ 2009

         อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะคล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร่างกายอ่อนเพลีย หลอดลมอักเสบ และบางครั้งจะมีอาการเบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งในคนที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถอยู่บ้านรักษาตามอาการ จะหายได้เองภายใน 7-14 วัน แต่ถ้ามีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสเพิ่มเติม

3. โรคติดเชื้อไวรัส RSV

          โรคติดเชื้อ RSV หรือภาวะการเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ได้แก่ จมูก คอหอย หลอดลม และปอด เกิดจากเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus มีสองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยอาการในช่วงแรกจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ก็มีร้อยละ 20-30 ที่ติดเชื้อครั้งแรก ซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จะมีอาการหลอดลมอักเสบ ทำให้มีไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ดได้

4. โควิด 19

โรคระบบทางเดินหายใจ

          โควิด 19 (COVID-19) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบการระบาดมาก่อน และสามารถติดต่อได้ง่ายมากผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ละอองเสมหะจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เพราะหลายคนรับเชื้อเข้าไปแล้วแต่ไม่มีอาการป่วย จึงเป็นพาหะนำโรคไปแพร่กระจายต่อได้ไว

          ในคนที่มีอาการแสดงออกจะมีตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย เช่น มีไข้ ไอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น อ่อนเพลีย คัดจมูก และเจ็บคอ และบางรายที่เชื้อลงปอดแล้วจะมีอาการรุนแรงขึ้น คือ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ปอดบวม จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ก็สามารถรักษาเบื้องต้นตามอาการได้ แต่หากเป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจ จะถือว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง จึงต้องรีบเข้ารับการดูแลรักษาเป็นพิเศษ โดยอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 2%

5. โรคเมอร์ส

          โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome : MERS) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 มีอูฐเป็นพาหะทำให้เกิดการติดต่อจากสัตว์สู่คน และคนสู่คน ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยอาการที่พบทั่วไป ได้แก่ มีไข้สูง ไอ หายใจหอบเหนื่อย บางรายอาจจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย และอาจจะรุนแรงจนเกิดปอดอักเสบ ไตวาย หรือเสียชีวิตได้ เนื่องจากไม่มียารักษาเฉพาะ อัตราการเสียชีวิตจึงสูงถึง 30-40%

6. โรคซาร์ส

          โรคทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome : SARS) มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส ในระยะแรก การติดเชื้อนี้จะมีเฉพาะในสัตว์เล็ก แต่ต่อมาได้กลายพันธุ์จนพบการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้น โดยอาการของผู้ที่ติดเชื้อจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ไอแห้ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และหายใจลำบาก

7. โรคภูมิแพ้

           โรคภูมิแพ้ (Allergy) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากเกินไปจนผิดปกติ และต่อมาเมื่อได้รับสารนั้นอีก คนที่แพ้ก็จะเกิดอาการขึ้น โดยอาจจะเกิดได้ทั้งจากกรรมพันธ์ุ และสิ่งแวดล้อม และแสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและระบบที่เกิดภูมิแพ้ ตัวอย่างเช่น
โรคแพ้อากาศ หรือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)

          จะเกิดกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือจมูก ผู้ป่วยจะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะใส คันเพดานปากและคอ 

โรคหอบหืด หรือ โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (Asthma)
           เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นที่หลอดลม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจติดขัด หรือหายใจแล้วมีเสียงวี้ด รวมถึงแน่นหน้าอก เนื่องจากหลอดลมเกิดภาวะตีบตัน ทำให้อากาศจะเข้าสู่ปอดน้อยลง

8. ไซนัสอักเสบ

โรคระบบทางเดินหายใจ

          โรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นการอักเสบและติดเชื้อของเยื่อบุจมูกและไซนัส ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยอาการหลัก ๆ ที่พบทั่วไป ได้แก่ คัดหรือแน่นจมูก มีน้ำมูกไหลออกมาทางรูจมูกด้านหน้าหรือไหลลงคอ ปวดหรือแน่นบริเวณใบหน้า รับกลิ่นไม่ได้ โพรงจมูกอุดตัน เนื้อเยื่อบวม หรืออาจพบเป็นริดสีดวงจมูก และมีหนองไหล

9. เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ

           เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ (Rhinitis) เป็นอาการอักเสบของเยื่อในโพรงจมูก อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น จากกรรมพันธุ์ มลภาวะฝุ่นควันต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นและแห้ง เช่น ห้องที่มีเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ โดยจะมีอาการที่พบทั่วไปคือ จาม น้ำมูกไหล คันและแสบจมูก บางครั้งจะมีเลือดกำเดาไหล และคันตาร่วมด้วยเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้

10. โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน

          โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media) มักเกิดตามมาหลังจากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เป็นหวัด ไซนัสอักเสบ โดยเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อยู่ในโพรงหลังจมูก จะเดินทางผ่านท่อยูสเตเชียนเข้าไปยังหูชั้นกลาง ส่วนใหญ่พบโรคนี้ในเด็กเล็ก เนื่องจากท่อยูสเตเชียนสั้นและอยู่ในแนวราบ เชื้อโรคจึงเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กมีไข้สูง ปวดหู หูอื้อ บางรายอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และรุนแรงถึงขนาดชักได้

11. ต่อมทอนซิลอักเสบ

          ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) คือ อาการต่อมทอนซิลซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวดักจับและกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ทางเดินหายใจและทางเดินอาหารมีลักษณะโตผิดปกติ สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้มีผลต่อระบบทางเดินหายใจและการกลืนอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบมากในเด็กเล็ก อาการที่เห็นชัดคือ มีไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวมโต รวมถึงอาการปวดร้าวไปจนถึงหูร่วมด้วย  

12. คออักเสบ

โรคระบบทางเดินหายใจ

          คออักเสบ หรือ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis) เป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ เกิดจากติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น เป็นผลกระทบจากการป่วยเป็นหวัด ภูมิแพ้ ไซนัส กรดไหลย้อน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดคออักเสบ รวมทั้งการสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำ อาการแสดงขึ้นอยู่กับเชื้อก่อโรค คือ

  • คออักเสบจากการติดเชื้อไวรัส อาการคล้ายไข้หวัด โดยมีน้ำมูก คัดจมูก จาม มีไข้ต่ำกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย คอแดง คอแห้ง เสียงแหบ ในเด็กอาจมีแผลในปาก มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง หรือคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

  • คออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักไม่มีน้ำมูก ไม่มีอาการไอ แต่จะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เจ็บคอมาก คอมีจุดสีแดงหรือรอยสีขาว ต่อมทอนซิลบวม ต่อมน้ำเหลือบวมโต กดเจ็บ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน 

13. หลอดลมอักเสบ

           โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลมหรืออากาศหายใจเข้าสู่ปอด เมื่อเยื่อบุหลอดลมบวมก็ส่งผลให้อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าปอดได้ไม่ดี หายใจลำบาก ทำให้ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ และอาจมีอาการอื่น ๆ คล้ายโรคหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ มีทั้งชนิดเฉียบพลันที่หายเองได้ใน 3 สัปดาห์ ถ้าปฏิบัติตนถูกต้อง และแบบเรื้อรัง คือมีอาการเกิน 3 สัปดาห์ สาเหตุอาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ สัมผัสมลภาวะเป็นพิษเป็นระยะเวลานาน หรือภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่เป็นประจำ

14. ปอดอักเสบ

          ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม (Pneumonia) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปอดบริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย ถุงลม และเนื้อเยื่อรอบถุงลม มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือสัมผัสกับมลภาวะทางอากาศ ควันบุหรี่ หรืออยู่ในที่แออัดเป็นเวลานาน ๆ ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ถ้าเป็นเด็กเล็กมากจะงอแง ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ และถ้าเป็นหลาย ๆ ครั้ง อาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดเป็นความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจแบบถาวรได้  

15. วัณโรคปอด

โรคระบบทางเดินหายใจ

          วัณโรคปอด (Tuberculosis : TB) เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Mycobacterium tuberculosis สามารถเกิดขึ้นได้ทุกอวัยวะของร่างกาย แต่ที่พบบ่อยมากที่สุดคือ ปอด และเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศ ด้วยการหายใจ ไอ จาม หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยอาการสำคัญ ได้แก่ ไอแห้งติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ หรืออาจไอมีเสมหะหรือมีมูกเลือดปน เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง และเหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน

16. พังผืดในปอด

           โรคพังผืดที่ปอด (Pulmonary Fibrosis) เป็นอาการอักเสบที่เนื้อเยื่อของปอด จนกลายเป็นแผลเป็นและพังผืด ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานระบบทางเดินหายใจ มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ โดยจะมีอาการหายใจติดขัด ไอแห้งเรื้อรังแบบหาสาเหตุไม่ได้ เหน็ดเหนื่อย ความอยากอาหารลดน้อยลง และน้ำหนักลด ในช่วงแรกอาการจะไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยบางรายจึงคิดว่าอาจจะไม่เป็นอะไรมาก ละเลยไม่ไปพบแพทย์ จนมีอาการหนักขึ้น มีพังผืดเกาะหนาขึ้น ๆ ทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้ 

17. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

          โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease : COPD) หรือที่มักเรียกติดปากว่า โรคถุงลมปอดโป่งพอง เกิดจากการสูดหายใจเอามลพิษในรูปของก๊าซหรือฝุ่น เช่น ควันบุหรี่ และควันจากการเผาไหม้ เช่น จากการทำอาหาร ท่อไอเสีย เข้าไปเป็นประจำในปริมาณมาก ๆ สารพิษจากควันดังกล่าวจะไปทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสื่อมสภาพ เกิดอาการอักเสบ มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

          อาการทั่วไป คือ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายโดยเฉพาะเวลาออกแรง ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก หายใจแล้วมีเสียงวี้ด อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก และอาจจะรุนแรงถึงขั้นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน และหัวใจด้านขวาล้มเหลวได้

18. มะเร็งปอด

โรคระบบทางเดินหายใจ

          โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) นับเป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกอันดับต้น ๆ มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค อาทิ การสูบบุหรี่หรือการสูดดมควันบุหรี่ การสัมผัสสารก่อมะเร็ง และมลภาวะทางอากาศ เป็นต้น แม้อาการของโรคในเบื้องต้นจะดูไม่รุนแรงเท่าไรนัก เช่น ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะเป็นเลือด เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หายใจแล้วมีเสียงวี้ด เสียงแหบ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แต่ถ้าทิ้งไว้นาน ๆ ละเลย ไม่รีบไปปรึกษาแพทย์ ก็อาจจะทำให้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

19. โรคนิวโมโคนิโอสิส

           โรคนิวโมคอคคัส (Pneumoconioses) เป็นชื่อของโรคปอดที่เกิดจากการทำงานในพื้นที่ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย เช่น โรงสีข้าว เหมืองแร่ โรงงานทอผ้า โรงงานกระสอบ โรงงานปั่นด้าย โรงงานทำถ่านไฟฉาย โรงงานบดโม่ และโรงสกัดหิน ซึ่งต้องสูดเอาฝุ่นละออง ควัน หรือสารพิษเข้าปอดเป็นประจำ ทำให้เกิดการระคายเคือง เนื้อเยื่อปอดถูกทำลาย และการทำงานของปอดเสื่อมลง ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการปอดอักเสบหรือเกิดพังผืดในปอดร่วมด้วย อาการของโรคนี้ที่สังเกตได้ง่าย เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย หอบ หายใจลำบาก อ่อนเพลีย และมีความเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรคได้ง่าย

20. โรคบิสสิโนสิส

          โรคบิสสิโนสิส (Byssinosis) หรือ โรคปอดฝุ่นฝ้าย เป็นอีกหนึ่งโรคปอดที่เกิดจากการสัมผัสและรับเอาฝุ่นจากฝ้าย ป่าน ปอ หรือลินินเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการอักเสบที่ปอด การหดเกร็งของหลอดลม บางครั้งอาจจะรุนแรงจนกลายเป็นโรคหอบหืดได้ มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมทอผ้า ทอกระสอบ โดยมีอาการต่าง ๆ ได้แก่ ระคายเคืองที่จมูก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ

21. โรคนิวโมคอคคัส

          โรคนิวโมคอคคัส (Pneumococcal) เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย "สเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี" (Streptococcus pneumoniae) และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบและการติดเชื้อที่อวัยวะในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคไอพีดี เป็นต้น สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบและมีอาการรุนแรงมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่จัด ๆ โดยอาการทั่วไป คือ ไข้สูง ไอ หนาวสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ

วิธีป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ
โรคระบบทางเดินหายใจ

           โรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่จะติดต่อกันได้ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสสูดดมเอาอากาศที่มีเชื้อโรคเข้าไป เราจึงควรดูแลตัวเองอยู่เสมอด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ 

  • ไม่ควรใช้มือที่ไม่สะอาดมาป้ายจมูกหรือตา 

  • ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากหรือจมูก เวลาไอหรือจาม เมื่อใช้เสร็จแล้ว ควรทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด 

  • ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ จานชาม ช้อนส้อม ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

  • เมื่อออกไปในที่สาธารณะ ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 

  • ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมสมรรถภาพ 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ

  • หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด หรือมีฝุ่นละออง มลพิษ หรือสารเคมีที่เป็นพิษต่าง ๆ 

  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี 

  • สร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย อาทิ ลดความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และออกกำลังกายอย่างพอเหมาะเป็นประจำ
     

           จะสังเกตเห็นได้ว่า โรคระบบทางเดินหายใจ มักจะมีอาการเบื้องต้นไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยหลายคนละเลยไม่ใส่ใจ จนเกิดเป็นอาการป่วยเรื้อรัง ต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพทั้งของตัวเองและคนรอบข้างให้ดีอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอแห้ง เจ็บคอ เจ็บหน้าอก ก็ไม่ต้องรอให้สาย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็วนะคะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย (1), (2)
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (1), (2), (3), (4)
ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย (1), (2), (3), (4), (5), (6)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
องค์การอนามัยโลก (1), (2)
กรมควบคุมโรค (1), (2), (3),
สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค
กรมการแพทย์ (1), (2) 
กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
โรงพยาบาลราชวิถี
โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรงพยาบาลบางปะกอก-รังสิต 2
โรงพยาบาลศิครินทร์
โรงพยาบาลพญาไท
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
โรงพยาบาลเพชรเวช
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
โรคปอดและทางเดินหายใจ หมอวินัย โบเวจา
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคระบบทางเดินหายใจ มีอะไรบ้าง เช็กอาการให้ชัวร์ แบบไหนกำลังป่วย ! อัปเดตล่าสุด 5 ตุลาคม 2564 เวลา 15:32:40 62,760 อ่าน
TOP
x close