โรคปอดฝุ่นฝ้าย บิสสิโนสิส พิษภัยทำป่วยจากสิ่งทอ

โรคปอดฝุ่นฝ้าย
โรคปอดฝุ่นฝ้าย บิสสิโนสิส พิษภัยทำป่วยจากสิ่งทอ


          โรคปอดฝุ่นฝ้าย บิสสิโนสิส หนึ่งในอันตรายของคนที่ทำงานหรือต้องสัมผัสกับสิ่งทอต่าง ๆ เป็นเวลานาน ไม่ใช่แค่หนุ่มสาวโรงงานเท่านั้น แม้แต่ช่างตัดเสื้อก็ยังเสี่ยง

          การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากจะต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้เครื่องมือต่าง ๆ แล้ว การที่ต้องสัมผัสและสูดรับเอาฝุ่นละอองต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายทุกวัน ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งทอต่าง ๆ อาจป่วยด้วยโรคบิสสิโนสิส หรือ โรคปอดฝุ่นฝ้าย ได้เช่นกัน กระปุกดอทคอม ชวนมาทำความรู้จักกับโรคนี้ พร้อมวิธีป้องกัน

โรคปอดฝุ่นฝ้าย คืออะไร?

          โรคปอดฝุ่นฝ้าย หรือ บิสสิโนสิส (Byssinosis) เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังที่เกิดจากการสูดหายใจเอาใยของฝ้าย ป่าน ปอ ลินิน และฝุ่นผงของพืชเข้าไปในปอด ทำให้มีอาการต่าง ๆ ทางระบบทางเดินหายใจ ถือเป็นหนึ่งในโรคปอดจากการประกอบอาชีพ (Pneumoconiosis)

ใครคือกลุ่มเสี่ยง?

          ในเมื่อเป็นโรคที่เกิดจากการสูดเอาใยของสิ่งทอต่าง ๆ เข้าไป ดังนั้นแล้วกลุ่มคนที่เสี่ยงที่สุดคือ คนงานในโรงงานทอผ้าและสิ่งทอต่าง ๆ ที่ใช้ฝ้าย ป่าน ปอ หรือลินิน เป็นวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งผู้ที่ทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า ทำกระสอบ พรม ผ้าห่ม หมอน เครื่องนอนต่าง ๆ รวมทั้งการสัมผัสจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นใยฝ้าย ป่าน ปอ หรือลินิน

          ทั้งนี้แต่ละปีมีคนงานจำนวนไม่น้อยป่วยด้วยโรคนี้ เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ โดยสร้างรายได้และเศรษฐกิจให้ประเทศ จึงมีจำนวนสถานประกอบการสิ่งทอกระจายอยู่ทั่วประเทศ

          อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ คือ สมุทรสาคร เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชชนิดนี้โดยตรง จึงมีสถานประกอบการอยู่ไม่น้อย

โรคปอดฝุ่นฝ้าย

อาการของโรคปอดฝุ่นฝ้าย ร้ายแรงหรือไม่?

          ผู้ที่สูดเอาใยสิ่งทอเข้าสู่ร่างกายจนสะสมนาน ๆ ส่วนใหญ่คือเกิน 2 ปีขึ้นไป จะมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ มักเกิดในชั่วโมงต้น ๆ ของการทำงาน โดยเฉพาะในตอนเช้าวันแรกของการทำงานหลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วอาการจะทุเลาลงในตอนเย็น แต่วันถัดมา อาการจะค่อย ๆ ลดลงจนดีขึ้นเกือบเป็นปกติเมื่อได้หยุดพักในวันหยุดงาน แต่หากกลับมาทำงานใหม่ก็จะมีอาการนี้ตามมาอีก การตรวจสมรรถภาพปอดในระยะนี้อาจไม่พบสิ่งผิดปกติ

          ทั้งนี้อาจมีบางรายที่มีอาการเรื้อรังเกิดขึ้นทุกวัน และมีอาการของโรคดังกล่าวตลอดไปทุกวันร่วมกับการลดลงของสมรรถภาพปอดอย่างถาวร

4 ระยะของโรคปอดฝุ่นฝ้าย บิสสิโนสิส

          ระยะที่ 1 มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือไอเป็นครั้งคราวในวันจันทร์ หรือวันแรกที่กลับเข้าไปทำงาน

          ระยะที่ 2 มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือหายใจเร็วกว่าปกติทุก ๆ วันจันทร์ หรือวันแรกของสัปดาห์ที่เริ่มกลับเข้าทำงาน

          ระยะที่ 3 มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือหายใจเร็วกว่าปกติทุกวันจันทร์ หรือวันแรกที่กลับเข้าทำงาน รวมทั้งยังมีอาการนี้ต่อเนื่องไปถึงวันอื่น ๆ ของสัปดาห์ด้วย

          ระยะที่ 4 มีอาการเหมือนระยะที่ 3 ร่วมกับภาวะหายใจล้มเหลว และการลดลงของสมรรถภาพปอดอย่างถาวร

แล้วทำไมฝุ่นฝ้ายจึงทำให้เกิดโรคได้ ?

          ในปัจจุบันนี้กลไกการเกิดโรคบิสสิโนสิสยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีข้อมูลสนับสนุนอยู่ 3 ข้อ คือ


          ในฝุ่นฝ้ายมีสารโมเลกุลขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮิสตามิน จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าว

          การสัมผัสฝุ่นฝ้ายเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและหลอดลมเกิดการระคายเคือง นาน ๆ เข้าจึงเกิดภาวะโรคทางเดินหายใจอุดกั้นแบบเรื้อรัง

           อาจเป็นเพราะปฏิกิริยาของร่างกายต่อสาร Endotoxin ที่พบในเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่ปนเปื้อนมากับฝุ่นฝ้าย ทำให้เกิดโรคบิสสิโนสิสขึ้น
รักษาอย่างไร หากป่วยโรคปอดฝุ่นฝ้าย

          เนื่องจากเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการสูดละอองฝุ่นฝ้ายเข้าไป การรักษาที่ดีที่สุดก็คือต้องไม่สูดรับฝุ่นละอองเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายอีก โดยจำเป็นต้องย้ายไปทำงานที่แผนกอื่นซึ่งไม่มีฝุ่นฝ้าย แล้วใช้การรักษาพยาบาลโดยใช้ยาขยายหลอดลม เพื่อลดการเกร็งและการอุดกั้นของหลอดลม รวมทั้งยาลดการอักเสบ

          แต่หากสูดหายใจเอาฝุ่นฝ้ายเข้าร่างกายไปนานแล้วจนมีอาการเรื้อรัง จะต้องรักษาเหมือนกับการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง รวมทั้งจำเป็นต้องเปลี่ยนงานใหม่ เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น

          ป้องกันอย่างไร ให้ห่างไกลโรคบิสสิโนสิส

          วิธีป้องกันสามารถทำได้ทั้งในส่วนของคนงานเอง และฝ่ายผู้ประกอบการ

โรคปอดฝุ่นฝ้าย

คนงาน

           ผู้ที่มีประวัติเป็นหอบหืด ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว ไม่ควรทำงานเกี่ยวข้องกับฝุ่นฝ้าย เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น
 
          ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

          สวมหน้ากากอนามัยระหว่างทำงานทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่สูดเข้าไป

  ผู้ประกอบการ

          ในส่วนของโรงงาน หรือผู้ประกอบการนั้น ก็สามารถแนะนำวิธีป้องกัน พร้อมทั้งจัดอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันให้คนงานได้ เช่น

           ให้ความรู้คนงานในการป้องกันการหายใจเอาฝุ่นฝ้ายเข้าไป

          จัดทำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพให้พนักงาน

          แนะนำและสอนวิธีใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช่น วิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง รวมทั้งวิธีการทำความสะอาดหน้ากาก

          จัดให้มีการตรวจสุขภาพคนงานทุกปี ร่วมกับการตรวจสมรรถภาพของปอด โดยควรตรวจ 2 ครั้ง คือครั้งแรกในวันจันทร์หรือวันแรกของการกลับเข้าทำงานหลังวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่วนครั้งที่ 2 ควรตรวจหลังจากคนงานทำงานไปแล้วไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หากพบอาการผิดปกติ ควรแนะนำให้คนงานเปลี่ยนไปทำงานในบริเวณที่ไม่มีฝุ่นฝ้าย

           ควบคุมปริมาณฝุ่นฝ้ายภายในโรงงานให้ได้มาตรฐานที่กำหนด

          โรคปอดฝุ่นฝ้ายก็เป็นโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพ ซึ่งหากอาการเริ่มมีแนวโน้มแย่ลง ก็จำเป็นต้องตัดสินใจเปลี่ยนหน้าที่ หรือการทำงานประเภทนี้ เพราะอย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคปอดฝุ่นฝ้าย บิสสิโนสิส พิษภัยทำป่วยจากสิ่งทอ อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2558 เวลา 17:32:59 52,053 อ่าน
TOP
x close