โรคหอบหืด อันตรายแค่ไหน ทำไมถึงทำให้เสียชีวิตได้

          โรคหอบหืด อาการป่วยที่เกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ โอกาสเป็นโรคนี้มีมากน้อยแค่ไหน อาการบ่งชี้คืออะไร รู้ไว้ให้เข้าใจความเป็นไปของโรคจริง ๆ

โรคหอบหืด

          เข้าใจว่าหลายคนยังสงสัยภาวะของโรคหอบหืดกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าโรคหอบหืด กับ โรคภูมิแพ้ ใช่โรคเดียวกันไหม ยิ่งโรคหอบหืดก็เป็นหนึ่งในโรคที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหารด้วยแล้ว วันนี้เรามาศึกษากันไว้ดีกว่าค่ะว่า ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคหอบหืดสูงกันบ้าง อาการโรคหอบหืดคืออะไร รวมไปถึงการรักษาโรคหอบหืดควรใช้วิธีไหนดี

โรคหอบหืด คืออะไร


          โรคหืด หรือจริง ๆ ก็คือ โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (asthma) คือ โรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดลม โดยเมื่อได้รับสารระคายเคืองหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หลอดลมจะเกิดภาวะตีบตัน อากาศจะเข้าสู่ปอดน้อยลง ทำให้หายใจลำบาก หอบ และเหนื่อยง่าย
   
          และเมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้รอบข้าง หรือสารกระตุ้นใด ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ก็อาจจะเกิดอาการดัง 3 ลักษณะนี้ จนทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมตีบตัน

          1. การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม
          2. การบวมอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม
          3. เสมหะจำนวนมากที่คั่งค้างอยู่ในหลอดลม


โรคหอบหืด

สาเหตุของโรคหอบหืด

   
          โรคหอบหืด เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย ประมาณร้อยละ 10-15 ของประชากร สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอาจแบ่งออกได้ 7 ปัจจัยดังต่อไปนี้

1. พันธุกรรม


          แม้โรคหอบหืดจะไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรงเสมอไป แต่คนที่มีอาการหอบจับ และมีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ค่อนข้างสูง

2. สิ่งกระตุ้นต่าง ๆ

 
          โดยเฉพาะสิ่งกระตุ้นประเภทสารก่อภูมิแพ้ เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษจากสิ่งแวดล้อม ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น ละอองจากซากแมลงสาบ เกสรดอกไม้ ละอองเชื้อรา ขนหรือสะเก็ดรังแคผิวหนังของสัตว์เลี้ยง อาหารบางชนิด สารกันบูด สารเคมีในที่ทำงาน หรือการเป็นหวัด

3. การออกกำลังกายอย่างหักโหม


          โดยเฉพาะการออกกำลังหนัก ๆ ในสถานที่ที่มีอากาศหนาวแย็นและแห้ง

4. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์


          เมื่อร้องไห้หรือหัวเราะอย่างหนัก หรือแม้แต่รู้สึกเครียดก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาหารหอบหืดได้เช่นกัน

5. การเปลี่ยนแปลงทางอากาศ


          ในเวลาที่ฝนใกล้จะตก หรือในช่วงที่อากาศเย็นจัดและแห้งแล้ง ก็อาจทำให้เกิดโรคหอบหืดได้

6. พฤติกรรมมารดาในช่วงตั้งครรภ์


          สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งท้อง ก็มีส่วนเพิ่มโอกาสให้ลูกในครรภ์มีโรคหอบหืดติดตัวมาตอนคลอดได้

7. ติดเชื้อไวรัส


          โรคหอบหืดอาจเกิดขึ้นกับคนที่ไม่เคยเป็นโรคหอบหืดและไม่เคยมีประวัติของโรคนี้มาก่อน โดยมาเป็นหอบหืดหลังจากติดเชื้อไวรัสบางชนิด

โรคหอบหืด

อาการหอบหืด สังเกตได้จากอะไร


          อาการหอบหืดมีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน จำแนกได้ตามระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งมีตั้งแต่อาการหอบหืดไม่รุนแรง ปานกลาง และหนัก โดยสังเกตได้จากอาการเบื้องต้นดังนี้

          - ไอ หอบไอ
          - แน่นหน้าอก
          - หายใจมีเสียงหวีด
          - หายใจสั้นและลำบาก


          อาการหอบหืดดังกล่าวมักจะเป็น ๆ หาย ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการหอบไอจะค่อนข้างหนักในตอนเช้า เวลาวิ่งเล่น ออกแรงมาก ๆ และตอนกลางคืน หรือในช่วงที่สัมผัสกับสิ่งที่แพ้หรือระคายเคือง

          แต่อย่างไรก็ตาม มูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย แนะนำว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดสามารถประเมินความรุนแรงของโรคด้วยตัวเองได้ โดยดูลักษณะอาการทางคลินิก และการทดสอบสมรรถภาพปอดอย่างง่ายด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า PEAK FLOWMETER และมาเปรียบเทียบอาการตามตารางด้านล่างนี้

โรคหอบหืด
ภาพจาก : มูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย

          ทั้งนี้ หากใครมีอาการกำเริบให้พยายามตั้งสติ และใช้ยาพ่นขยายหลอดลม แต่ถ้าอาการยังไม่ดีภายใน 15-20 นาที สามารถพ่นยาซ้ำได้ ในกรณีที่พ่นยาซ้ำแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังรู้สึกหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

โรคหอบหืด การรักษาทำอย่างไรได้บ้าง

   
           อาการของโรคหอบหืดจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ, ทำให้เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่, ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ ในเด็กอาจเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ หรือมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าได้ 

          นอกจากนั้นการที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเสียชีวิตได้จากสมองขาดออกซิเจน

          การรักษาโรคหอบหืดจะต่างกันในคนไข้แต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุคนไข้ และภาวะที่เกิดร่วมกับโรคหอบหืด เช่น ภาวะภูมิแพ้ หรือโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง แต่โดยทั่ว ๆ ไป แนวทางรักษาที่ยอมรับโดยผู้เชี่ยวชาญมีอยู่ 4 ข้อดังนี้

          1. แนะนำให้ใช้การตรวจสอบสมรรถภาพของปอด เพื่อบ่งชี้ความรุนแรงของโรค และเพื่อติดตามวัดผลการรักษา

          2. การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ หรือป้องกันการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมร่วมกับการใช้ยา เพื่อคลายกล้ามเนื้อรอบหลอดลมที่หดตัว

          3. การควบคุมภาวะแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีภาวะภูมิแพ้ร่วมด้วย รวมถึงการรักษาเฉพาะเจาะจงในภาวะภูมิแพ้

          4. ต้องให้ความรู้คนไข้และครอบครัวเกี่ยวกับโรคหอบหืด และการปฏิบัติตน เช่น เลิกสูบบุหรี่ วิธีการออกกำลังกาย และวิธีใช้ยาที่ถูกต้อง

โรคหอบหืด ป้องกันอย่างไร


          แม้โรคหอบหืดจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่วิธีการบำบัดต่าง ๆ รวมทั้งการดูแลตัวเองของผู้ป่วยจะช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคหอบหืดควรต้องจำให้ขึ้นใจว่าตัวเองแพ้สารอะไรบ้าง เพื่อจะได้เลี่ยงสารที่แพ้ รวมไปถึงควรจดจำตัวยาแก้หอบหืดที่ใช้เป็นประจำให้ขึ้นใจด้วย
   
          นอกจากนี้บรรดาควันบุหรี่ สถานที่ที่มีฝุ่นควันและมลพิษเยอะก็ควรต้องเลี่ยงให้ไกล พร้อมทั้งดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดี ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริโภคอาหารให้ครบหมู่โภชนาการ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และอย่าปล่อยให้มีอาการหวัดเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบ ที่สำคัญควรเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องด้วยนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืด







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคหอบหืด อันตรายแค่ไหน ทำไมถึงทำให้เสียชีวิตได้ อัปเดตล่าสุด 5 พฤษภาคม 2566 เวลา 16:04:15 284,253 อ่าน
TOP
x close