รู้ให้ครบเรื่องต่อมทอนซิลอักเสบ อาการไหนบอกชัดว่าใช่ รักษาได้อย่างไร แล้วถ้าผ่าตัดออกแล้วจะทำให้ป่วยบ่อยจริงไหม ?
ต่อมทอนซิล คืออะไร มีหน้าที่อะไร
ต่อมทอนซิล เป็นกลุ่มของเนื้อเยื่อประเภทต่อมน้ำเหลืองอยู่ในช่องปาก หน้าที่สำคัญคือจับและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย เพราะภายในต่อมมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด จึงสามารถดักจับเชื้อโรคบางชนิดได้ด้วยตัวของมันเอง ต่อมทอนซิลในลำคอมีอยู่ 3 ตำแหน่ง คือ
- พาลาทีนทอนซิน (Palatine Tonsil) จะอยู่ด้านข้างของช่องปาก
- ต่อมทอนซิลที่โคนลิ้น (Lingual Tonsil)
- ต่อมอดีนอยด์ หรือต่อมทอนซิลที่ช่องหลังโพรงจมูก (Adenoid Tonsil)
ซึ่งทั้ง 3 ต่อมนี้จะทำงานร่วมกัน เพื่อคอยต่อสู้กับเชื้อโรคที่ผ่านมาเข้ามาทางจมูกและลำคอ คือ
นอกจากนี้ต่อมทอนซิลยังมีหน้าที่รองในการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายในวัยเด็ก คือช่วงอายุประมาณ 1-10 ขวบ พอพ้นวัยนั้น ต่อมทอนซิลจะมีขนาดเล็กลง ก่อนจะมีระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ไขกระดูก ม้าม ตับ ฯลฯ มาทำหน้าที่เสริมภูมิคุ้มกันในมนุษย์แทนต่อมทอนซิลต่อไป
ต่อมทอนซิลอักเสบ สาเหตุมาจากอะไร
ต่อมทอนซิลอักเสบ ภาษาอังกฤษ คือ Tonsillitis สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งไวรัสอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย บางส่วนอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อกันง่ายผ่านการหายใจเอาฝอยละอองเสมหะของผู้ป่วยเข้าไป หรือไปสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของที่แปดเปื้อนเชื้อโรคที่ออกมากับน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย เชื้อนี้จึงเข้าไปในคอหอยและทอนซิลได้ ทำให้เกิดการอักเสบของระบบหายใจตอนบน
ทั้งนี้ยังมีกรณีที่ทำให้เกิดต่อมทอนซิลชนิดเป็นหนอง (exudative tonsillitis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (group A beta-hemolytic streptococcus) มีระยะฟักตัว 2-7 วัน
อาการต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน รู้ไว้สังเกตตัวเอง
อาการต่อมทอนซิลอักเสบในแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อโรคชนิดใด
- ต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อไวรัส
ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางคนอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ผนังคอหอยอาจแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ทอนซิลอาจโตเล็กน้อยโดยมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
- ต่อมทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง จากเชื้อแบคทีเรีย
ส่วนใหญ่พบบ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี อาจพบในผู้ใหญ่ได้บ้างประปราย เพราะเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น ที่โรงเรียน ที่บ้าน ที่ทำงาน จึงพบการแพร่เชื้อในเด็กได้มากกว่า
อาการทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนองจะรุนแรงกว่าเชื้อไวรัส เพราะผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายหรืออาหารลำบาก อาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่หู บางคนอาจมีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนร่วมด้วย คัดจมูกแต่มีน้ำมูกไม่มาก น้ำมูกมักใส มีอาการไอ หรือตาแดง ในเด็กอาจมีอาการน้ำลายไหล เพราะกลืนอาหารลำบาก
เมื่อตรวจดูจะพบผนังคอหอยและเพดานอ่อนมีลักษณะแดงจัดและบวม ทอนซิลบวมโตสีแดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนองสีขาว ๆ เหลือง ๆ ติดอยู่บนทอนซิล นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ
อาการแบบไหนถึงควรไปพบแพทย์
ถ้าอาการเป็นไม่มาก อาจรักษาเองได้โดยรอดูอาการสัก 2-3 วันก่อน ระหว่างนั้นให้ดื่มน้ำมาก ๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อาการจะเริ่มดีขึ้น แต่หากผ่านไป 2-3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แสดงว่าทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ควรไปพบแพทย์ หรืออาจพิจารณาว่ามีอาการดังข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ดีกว่า
- มีไข้สูงเกิน 4 วัน ดูแลด้วยตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
- มีอาการเจ็บคอมาก กลืนอาหารลำบาก ดื่มน้ำลำบาก หรือพูดลำบาก ในเด็กอาจมีน้ำลายไหลมาก
- หายใจหอบ หายใจลำบาก
- ทอนซิลบวมแดงมาก
- มีแผ่นหรือจุดหนองที่ต่อมทอนซิล
- ต่อมน้ำเหลืองโตและกดเจ็บ
- มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียว ต่อเนื่องกันเกิน 24 ชั่วโมง
- ต่อมทอนซิลโตเพียงข้างเดียว
ต่อมทอนซิลอักเสบ กับ ไข้หวัด ต่างกันอย่างไร ?
หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำมูกใส เจ็บคอเล็กน้อยในช่วง 1-2 วันแรก มีอาการคอแห้งผาก ทอนซิลมักไม่โตหรือโตเพียงเล็กน้อย และอาจแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ซึ่งต่างจากทอนซิลอักเสบที่จะรู้สึกเจ็บคอมากกว่า และอาจมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงเกินกว่าไข้หวัด
ต่อมทอนซิลอักเสบ กับ คออักเสบ ต่างกันอย่างไร ?
"ทอนซิลอักเสบ" คือภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณต่อมทอนซิลเท่านั้น แต่หากมีภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไป จะเรียกว่า "คออักเสบ" ซึ่งบางครั้งภาวะทั้งสองอาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้
ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการทอนซิลอักเสบ มักจะมีอาการที่ต่างจากคออักเสบ คือ มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอมากโดยเฉพาะเวลากลืนอาหาร
ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยจนเรื้อรัง จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่
ถึงจะเคยรักษาทอนซิลอักเสบหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก เพราะเมื่อต่อมทอนซิลอักเสบ เม็ดเลือดขาวในต่อมทอนซิลจะลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันลดลงไปด้วย บางครั้งต่อมทอนซิลอาจกลายเป็นที่เก็บเชื้อโรคแทน เพราะเมื่ออักเสบบ่อย ๆ ต่อมนี้จะโตขึ้น ทำให้เกิดร่อง ซอก ซึ่งทำให้เศษอาหารเข้าไปตกค้างอยู่ได้ ก็จะทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาใหม่อีก กลายเป็นต่อมทอนซิลอักเสบแบบเรื้อรัง
ยิ่งคน ๆ นั้นสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง นอนดึก ไม่ค่อยออกกำลังกาย เชื้อที่มีอยู่แล้วในต่อมทอนซิลก็อาจจะอักเสบขึ้นมาได้ง่าย ซึ่งอาการผู้ป่วยทอนซิลอักเสบแบบเรื้อรังจะสังเกตได้ยากกว่าต่อมทอนซิลอักเสบแบบเฉียบพลัน คือ อาจมีอาการเจ็บคอบ่อย ๆ อ่อนเพลีย ไอแห้ง ๆ มักไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำ ๆ
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาไม่พบว่าการป่วยเป็นทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้
วิธีรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
- ให้ยารักษาตามอาการ
หากทอนซิลอักเสบเพราะเกิดจากเชื้อไวรัส อาการจะไม่รุนแรงมากนัก แพทย์จะให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด หรือยาแก้อักเสบ เป็นการรักษาตามอาการ โดยมากจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
แต่หากติดเชื้อแบคทีเรีย นอกจากจะรักษาตามอาการแล้ว แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วย โดยอาการมักทุเลาหลังกินยาปฏิชีวนะไปแล้ว 2-3 วัน แต่ถึงอาการจะทุเลาแล้วก็จำเป็นต้องทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง คือ 7-10 วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ในรายที่เจ็บคอมากจนทานอาหารไม่ได้และมีไข้สูง แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ และยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้อาการทุเลาดีขึ้นเร็วกว่าการให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน
- การผ่าตัด
ไม่บ่อยนักที่แพทย์จะใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล แต่ก็มีบางกรณีที่แพทย์จะพิจารณาตัดต่อมทอนซิลคือ...
1. เป็นภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบซ้ำซาก ปีละหลายครั้ง จนเสียการเสียงาน และเป็นหลายปีติดต่อกัน ซึ่งแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า การผ่าตัดจะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากกว่าการรักษาด้วยยา
2. กรณีต่อมทอนซิลโตมาก ๆ จนเป็นอุปสรรคต่อการหายใจ
3. มีการอักเสบของหูชั้นกลางบ่อย
4. ผู้ป่วยที่เป็นพาหะของเชื้อคอตีบ (ปัจจุบันพบน้อยแล้ว) หรือผู้ป่วยที่เคยเป็นหนองบริเวณช่องรอบต่อมทอนซิลมาก่อน
5. ผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลโต และแพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลโดยตรง หรือมีมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ แล้วหาตำแหน่งมะเร็งต้นเหตุไม่เจอ แต่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งที่มาจากต่อมทอนซิล
ทั้งนี้การผ่าตัดต่อมทอนซิลไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ โดยแพทย์จะให้ยาสลบกับผู้ป่วยก่อนจากนั้นจึงค่อยผ่าตัด โดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังผ่าตัดแล้วแพทย์มักจะให้นอนพักในโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อสังเกตอาการว่ามีเลือดออกหรือไม่
ส่วนอาการทั่ว ๆ ไปหลังผ่าตัดแล้วคือ อาจมีไข้ต่ำ ๆ มีอาการเจ็บคอ ซึ่งแพทย์จะให้ยาแก้อักเสบ และให้ทานอาหารเหลวเย็นก่อน เพราะการกินอาหารร้อนจะทำให้เส้นเลือดจะขยายตัว เกิดเลือดออกหลังการผ่าตัดได้ แต่ในรายที่ไม่สามารถกลืนอาหารและน้ำได้ เพราะเจ็บแผล แพทย์ก็จะให้สารอาหารทางหลอดเลือดด้วย
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด 4-5 วันแรก จะต้องทานอาหารเหลวเย็น หลังจากนั้นถ้านัดมาตรวจอีกสัปดาห์หนึ่งแล้วไม่เจ็บแผลมาก แพทย์จะเริ่มให้กินอาหารอ่อน ๆ เหลว ๆ ที่ไม่ร้อน พอครบสองสัปดาห์ก็จะกินอาหารได้ปกติทุกอย่าง และกลับไปทำงานได้ ซึ่งคนที่แข็งแรงก็อาจจะกลับไปทำงานได้ภายในสัปดาห์แรก
ตัดต่อมทอนซิลทิ้งไป จะเป็นอะไรกับร่างกายหรือไม่ ?
บางคนกลัวว่าการผ่าตัดต่อมทอนซิลออกไปจะทำให้ป่วยบ่อย แต่จริง ๆ แล้ว การผ่าตัดต่อมทอนซิลไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงเลย และไม่ได้ทำให้ร่างกายป่วยบ่อยอย่างที่เข้าใจกัน เพราะเมื่อเราอายุเกิน 10 ปีไปแล้ว ต่อมทอนซิลจะไม่มีหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและคอยดักจับเชื้อโรคให้เราอีกต่อไป ต่อมทอนซิลจึงคงเป็นเพียงแหล่งสะสมเชื้อโรคมากกว่า
ดังนั้นหากในคนที่มีอาการต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ จนร่างกายทรุดโทรม สุขภาพย่ำแย่ เสียการเสียงาน การตัดต่อมทอนซิลออกจะช่วยแก้ปัญหาไม่ให้กลับมาป่วยอีก และทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น สรุปก็คือ การตัดต่อมทอนซิลออกไม่มีข้อเสีย และไม่ทำให้เสียงเปลี่ยน เพราะต่อมทอนซิลไม่เกี่ยวกับการออกเสียงใด ๆ ทั้งสิ้น
ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นกี่วันหาย
ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา แต่หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และได้ทานยาปฏิชีวนะที่ถูกกับโรค อาการจะดีขึ้นหลังทานยาไปแล้ว 2-3 วัน แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือทานยาไม่ครบ ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
ภาวะแทรกซ้อนจากอาการทอนซิลอักเสบ มีอะไรบ้าง ?
หากเป็นกรณีติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนมากนัก แต่อาจมีอาการไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบได้ในผู้ที่เป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่
ส่วนกรณีติดเชื้อแบคทีเรียทำให้ต่อมทอนซิลเป็นหนอง จะพบภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่ากรณีติดเชื้อไวรัส คือ เชื้อแบคทีเรียอาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้หูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นฝีที่ทอนซิล หรือหากรุนแรง เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือด แล้วแพร่กระจายไปยังที่ต่าง ๆ ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน กระดูกอักเสบเป็นหนอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ในบางรายอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmun reaction) ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงอย่างไข้รูมาติก ที่ทำให้เกิดการอักเสบของข้อและหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจตีบรั่ว รวมทั้งหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งทั้งสองอาการนี้อันตรายถึงชีวิต มักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์แต่พบได้ไม่บ่อยนัก วิธีป้องกันคือ ทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วภายใน 2-3 วันแรก แต่ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด ต้องทานยาต่อไปจนครบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อรักษาหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นอีกได้ หากไม่ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี
วิธีดูแลตัวเองเมื่อต่อมทอนซิลอักเสบ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีฝุ่น ควัน ทำให้ระคายเคือง
- ปิดจมูกและปากเวลาไอหรือจาม เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
- หากมีไข้สูงให้ทานยาลดไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว
- แปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้งโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร โดยผสมเกลือป่น 1 ช้อนชาลงในน้ำอุ่น 1 แก้ว เพื่อรักษาความสะอาดของช่องปาก เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากและลำคอ ทำให้ทอนซิลอักเสบมากขึ้นได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว
ผู้ป่วยต่อมทอนซิลอักเสบ ควรกินอะไร
หากมีอาการทอนซิลอักเสบ เจ็บคอมาก ควรทานอาหารอ่อน ๆ ไม่ร้อนมาก เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป รวมทั้งทานผัก-ผลไม้ นอกจากนี้สิ่งที่เราเข้าใจกันมาตลอดว่าเจ็บคอ ไอ เป็นไข้ ควรเลี่ยงน้ำเย็น ของเย็น ๆ เพราะอาจจะซ้ำเติมให้อาการที่เป็นอยู่หนักขึ้นได้ แต่ไม่ใช่กับอาการทอนซิลอักเสบ
ยิ่งหากผ่าตัดทอนซิลเรียบร้อยแล้ว ในช่วงพักฟื้น แพทย์อาจแนะนำให้กินไอติมเลยก็เป็นได้ ดังนั้นเป็นทอนซิลให้กินน้ำเย็น น้ำแข็ง หรือของเย็น ๆ อย่างไอติมได้เลย เพราะความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวด ลดอาการอักเสบ ไม่ให้แผลผ่าตัดมีเลือดออก ยิ่งถ้าเลือกกินไอติมช็อกโกแลตเข้มข้นหรือไอติมชาเขียวแท้ สารฟลาโวนอยด์จากช็อกโกแลตและชาเขียวจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบของต่อมทอนซิลได้อีกทาง แต่ทั้งนี้ก็ควรกินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วนด้วยนะ
ผู้ป่วยต่อมทอนซิลอักเสบ ห้ามกินอะไร
กรณีรักษาอาการทอนซิลอักเสบด้วยตัวเองอยู่ ไม่ควรทานอาหารรสจัด อาหารที่ปรุงด้วยการผัดหรือทอด อาหารที่ทำให้ร้อนใน เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้ทอนซิลอักเสบมากยิ่งขึ้น
วิธีป้องกันต่อมทอนซิลอักเสบ
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก
- รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
- อย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ไม่สบาย เป็นหวัด อย่าใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- หมั่นล้างมือชะล้างเชื้อโรคที่อาจติดมือมา
สภาพอากาศเช่นนี้ก่อให้เกิดเชื้อโรคขึ้นมาได้ง่าย ดังนั้นเราต้องดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่านอนดึก นอกจากจะช่วยป้องกันโรคต่อมทอนซิลอักเสบได้แล้ว ยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ได้แบบคูณสอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
elib-online.com
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย