โรคซาร์ส ไข้หวัดมรณะ รู้ทัน ป้องกันได้

โรคซาร์ส

          โรคซาร์ส โรคติดต่อในกลุ่มอาการทางเดินหายใจ ผู้ป่วยมักจะมีไข้ หายใจลำบากเฉียบพลัน แต่ถ้าเรารู้ทันโรค ก็ป้องกันโรคซาร์สได้ไม่ยาก

          โรคซาร์ส หรือโรคที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Severe Acute Respiratory Syndrome Sars เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่จัดได้ว่าน่ากลัวมาก เพราะมีผู้ป่วยโรคซาร์สเสียชีวิตกันในหลายประเทศ ซึ่งในวันนี้เราขอพาทุกคนมาทำความรู้จักโรคซาร์สอย่างถ่องแท้ เพื่อให้รู้เท่าทันความเป็นไปของโรค และเราจะได้ป้องกันตัวเองป่วยด้วยโรคซาร์สได้
โรคซาร์ส

โรคซาร์ส หมายถึงโรคอะไร
   
          โรคซาร์ส จัดเป็นกลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจ แต่เป็นชนิดเฉียบพลันรุนแรง โดยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์สนี้ จะเป็นลักษณะของโรคที่มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย

โรคซาร์ส สาเหตุ และความเป็นมา
   
          โรคซาร์สเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronavirus) โดยพบการเกิดโรคซาร์สครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ซึ่งในขณะนั้นพบผู้ป่วยปอดบวมที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ
   
          ต่อมาก็พบการระบาดของโรคปอดบวมดังกล่าวในประเทศเวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ และแคนาดา ซึ่งภายหลังก็ได้มีการเปิดเผยถึงการระบาดของโรคซาร์สไว้ว่า ต้นเหตุมาจากแพทย์ท่านหนึ่งที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซาร์สในมณฑลกวางตุ้ง ได้เดินทางมาที่ฮ่องกงในขณะที่ตนเองเป็นไข้ และเขาได้เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในฮ่องกง แต่ในระหว่างที่เข้าพักอยู่ นายแพทย์คนนี้ไม่สบายหนักจนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ในที่สุดก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งนี่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของโรคซาร์สในฮ่องกง รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการที่โรคซาร์สระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ เพราะภายหลังมีการพบว่า แขกที่เข้าพักและพนักงานในโรงแรมแห่งนั้นติดเชื้อโรคซาร์สไปหลายคน และได้นำเชื้อกลับไปยังประเทศของตนต่อไป จนในที่สุด ณ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ก็มีรายงานว่า โรคซาร์สได้แพร่ระบาดไปยัง 29 ประเทศ มีผู้ป่วยทั้งหมด 8,089 ราย และเสียชีวิต 774 ราย โดยมีอัตราป่วยตายร้อยละ 9.6

โรคซาร์ส ระบาดในไทยได้อย่างไร
   
          สถานการณ์การระบาดของโรคซาร์สในประเทศไทยพบครั้งแรกในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 โดยมีการยืนยันว่าพบผู้ป่วยโรคซาร์ส 1 ราย เป็นนายแพทย์ชาวอิตาลีที่ไปสอบสวนโรคซาร์ส ณ ประเทศเวียดนามมา แล้วก็มีอาการป่วยในขณะที่กำลังเดินทางมายังประเทศไทย ทว่าในขณะนั้นยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มพยาบาลที่ทำการดูแลรักษา และยังไม่พบการระบาดของโรคซาร์สในเขตชุมชนแต่อย่างใด

โรคซาร์ส อาการเป็นอย่างไร


          อาการของผู้ป่วยโรคซาร์สจะมีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดมาก โดยเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร บางคนอาจมีอาการหนาวสั่น เจ็บคอ หรือท้องเสียร่วมด้วย
             
          ใน 3-7 วันต่อมา จะมีอาการไอแห้ง ๆ ทว่าหากอาการหนักถึงขั้นปอดบวม ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบ หายใจไม่สะดวกจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยอาการโรคซาร์สที่รุนแรงในขั้นนี้มักจะเกิดในช่วงเข้าสัปดาห์ที่ 2 ของการป่วย แต่ผู้ที่เป็นเล็กน้อยจะมีเพียงอาการไข้ คล้าย ๆ อาการไข้ธรรมดาที่ไม่เกิน 4-7 วัน อาการก็จะหายไปเอง ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่เอะใจว่าตัวเองเกือบป่วยเป็นโรคซาร์ส อาการไข้ปอดบวมที่อาจถึงแก่ชีวิตได้



จะแยกอย่างไรว่าป่วยเป็นโรคซาร์สหรือไข้หวัดธรรมดา
   
          อาการสำคัญของโรคซาร์สจะคล้าย ๆ อาการของไข้หวัด และอีกหลายโรค ดังนั้นจึงมีข้อสังเกตในการวินิจฉัยโรคดังนี้

ถ้าเป็นไข้หวัด
   
          จะมีไข้ร่วมกับน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม แต่ส่วนมากจะมีไข้ตัวร้อนเพียง 2-4 วัน ต่อจากนั้นไข้จะลดลงไปเอง และคนไข้จะไม่มีอาการปวดเมื่อยมาก

ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่
   
          จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวมาก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร แต่ต่อมาจะมีอาการเจ็บคอ ไอ บางคนมีน้ำมูกไหล อาการของไข้หวัดใหญ่ในช่วง 2-3 วันแรก จะแยกจากโรคซาร์สได้ยาก อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมักจะไข้ทุเลาภายใน 3-4 วัน

ถ้าเป็นไข้เลือดออก

          จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย อาจมีผื่นหรือจุดแดงตามตัว ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการตัวเย็นชืด กระสับกระส่าย หรือมีเลือดออก



โรคซาร์ส รักษายังไง

          ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคซาร์สโดยเฉพาะ ดังนั้นวิธีรักษาโรคซาร์สจะทำได้โดยรักษาตามอาการ ถ้าปวดหัวมีไข้ ก็ให้ยาแก้ปวดแก้ไข้ ถ้าไอก็รักษาด้วยยาแก้ไอ ถ้าอาการหนักถึงขั้นหายใจไม่สะดวก ก็ใส่เครื่องช่วยหายใจพยุงอาการจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย รวมทั้งกันผู้ป่วยไว้ในเขตพื้นที่รักษาที่มีการแยกเป็นสัดเป็นส่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคซาร์สไปยังคนอื่น
   
          และแม้ในต่างประเทศจะทดลองทำการรักษาโรคซาร์สด้วยยาต้านไวรัสชนิด Ribavirin ร่วมกับยาสตีรอยด์ และยาปฏิชีวนะตามชนิดแล้วแต่เคสของผู้ป่วย ทว่ายังพบว่ามีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไร

โรคซาร์ส เป็นโรคติดต่อหรือไม่

          โรคซาร์สเป็นโรคติดต่อแน่นอนค่ะ และสามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่างการดูแล การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย การสัมผัสละอองไอ จาม หรือการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ หรือสัมผัสโดนของเหลวจากร่างกายของผู้ต้องสงสัยว่าป่วย หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคซาร์ส
   
          นอกจากนี้ยังสันนิษฐานกันว่า โรคซาร์สอาจติดต่อและแพร่ระบาดผ่านทางพาหะในสิ่งแวดล้อม เช่น ละอองฝอยจากท่อน้ำทิ้ง หรือจากการขนส่งของเสียได้อีกด้วย

โรคซาร์ส

โรคซารส์ ป้องกันอย่างไรดี

          การป้องกันโรคซาร์สสามารถทำได้ดังนี้

          1. งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคซาร์สหนัก ๆ มาก่อน
          2. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังจากการไอ จาม เช็ดน้ำมูก
          3. ไม่ควรใช้มือขยี้ตา หรือสัมผัสจมูกและปากด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้างให้สะอาด
          4. หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวอย่างผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น
          5. พยายามยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อยู่เสมอ
          6. รักษาความสะอาดในบ้านหรือที่พักอยู่เสมอ
          7. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ เป็นไข้ หรือป่วย
          8. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องอยู่ในที่แออัดไปด้วยผู้คน
          9. ดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ
          10. ถ้าป่วยเป็นไข้ หรือคนใกล้ชิดเป็นไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

          ในช่วงที่อากาศเปลี่ยน คนป่วยกันมากขึ้นอย่างตอนนี้ เรามาเก็บความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อ ติดตัวไว้สักหน่อยก็อาจจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคที่ดีทางหนึ่งเลยนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
สวทช
องค์การอนามัยโลก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคซาร์ส ไข้หวัดมรณะ รู้ทัน ป้องกันได้ อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13:40:50 24,147 อ่าน
TOP
x close