อาการเจ็บคอ หรือระคายเคืองในลำคอ สร้างความกวนใจให้กับตัวเองไม่น้อย การใช้ยาอมแก้เจ็บคอก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอได้ ซึ่งในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิดให้เลือก เช่น แบบลูกอมที่ช่วยให้ชุ่มคอ ยาอมที่หาซื้อได้ทั่วไป มีทั้งแบบใส่สมุนไพร และไม่ใส่สมุนไพร รวมถึงยาอมที่มีตัวยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะร้านขายยาหรือต้องให้แพทย์สั่งจ่ายยาเท่านั้น
วันนี้เราเลยจะมาแนะนำยาอมสมุนไพรที่หาซื้อเองได้ง่าย ๆ ใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดี พร้อมคำแนะนำในการเลือกซื้อและข้อควรระวังในการรับประทาน
สมุนไพรที่นิยมใช้ในยาอม
มีอะไรบ้าง
ก่อนจะไปดูว่ายาอมสมุนไพรยี่ห้อไหนน่าสนใจ เรามาดูส่วนผสมที่นิยมใช้ในยาอมสมุนไพรกันก่อน โดยส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสมุนไพรดังต่อไปนี้
-
เปลือกส้ม : บรรเทาอาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ
-
มะขามป้อม : ช่วยละลายเสมหะ ลดอาการระคายเคือง ลดความถี่และความรุนแรงของการไอ
-
มะแว้ง หรือมะแว้งต้น : ช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ
-
ชะเอมเทศ : บรรเทาอาการไอ คอแห้ง ช่วยให้ชุ่มคอ
-
สมอเทศ หรือสมอพิเภก : แก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
-
สมอไทย : ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ เจ็บคอ
-
ขิง : ช่วยฆ่าเชื้อ บรรเทาอาการเจ็บคอ อาการหวัด
-
มะนาว : ลดการอักเสบ แก้ไอ เจ็บคอ ลดเสมหะ ช่วยให้เสียงใส
-
เปราะหอม : บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ขับเสมหะ
-
มะขาม : ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ คัดจมูก
-
ดีปลี : แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว
-
ใบส้มป่อย : ขับเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว
-
ใบสวาด : แก้ไอ ละลายและขับเสมหะ ช่วยรักษาแผลในลำคอ
- รากส้มกุ้งน้อย : แก้ไอ ขับเสมหะ ละลายเสมหะ
ยาอมสมุนไพร
มีสรรพคุณอย่างไร
-
ช่วยให้ชุ่มคอยาวนาน ลดอาการระคายเคือง
-
ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ไอ ละลายเสมหะ
-
ช่วยให้ลมหายใจหอมสดชื่น
-
บางยี่ห้อมีส่วนผสมของวิตามินซี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
- บางยี่ห้อมีส่วนผสมของสารทำความเย็น ช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อน
ยาอมแก้เจ็บคอสมุนไพร
มีแบบไหนบ้าง
ยาอมแก้เจ็บคอที่เราสามารถหาซื้อเองได้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ
-
ลูกอมหรือเม็ดอมที่ช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการระคายคอ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร จะมีเครื่องหมาย อย. อยู่บนซอง
-
ยาอมแก้เจ็บคอ จะมีระบุในฉลากว่า เป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือยาแผนโบราณ และมีเลขทะเบียนยาอยู่บนซอง เนื่องจากมีส่วนผสมของตัวยารวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยลดอาการเจ็บคอ และบางยี่ห้อก็ใส่สมุนไพรที่ช่วยทำให้ชุ่มคออีกทาง
ยาอมแก้เจ็บคอสมุนไพร
ยี่ห้อไหนดี
1. ยาอมสมุนไพร ตรามังกรทอง (รสเปลือกส้ม) อ้วยอันโอสถ
ยาอมสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 78 ปี ตัวยาเป็นยาลูกกลอนบรรจุในหลอดพลาสติกขนาดเล็ก พกพาสะดวก รสชาติดี กลิ่นไม่ฉุน ด้วยส่วนผสมของเปลือกส้ม ผลมะแว้งเครือ ผลมะขามป้อม ชะเอมเทศ และน้ำผึ้ง ช่วยบรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ และขับเสมหะ
-
เลขทะเบียนยา : G 433/48
-
วิธีใช้ : อมครั้งละ 2-3 เม็ด เมื่อมีอาการ
- ราคาปกติ : หลอดละ 15 บาท (บรรจุ 100 เม็ด)
2. ยาอมแก้ไอผสมมะขามป้อม อภัยภูเบศร
ยาอมสมุนไพรผสมมะขามป้อม อภัยภูเบศร มี 2 สูตร คือ สูตร 1 และ สูตร 2 ถ้าชอบรสชาติเปรี้ยวแนะนำสูตร 2 เนื่องจากใส่ฝักส้มป่อยมากกว่า นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่น ๆ เช่น มะแว้งต้น ชะเอมเทศ สมอเทศ เปราะหอม มะขาม ดีปลี ซึ่งช่วยบรรเทาอาการไอและทำให้ชุ่มคอ รวมทั้งขับเสมหะ
-
เลขทะเบียนยา : G 62/54, G 89/54
-
วิธีใช้ : อมครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการ
- ราคาปกติ : ซองละ 24 บาท (บรรจุ 40 เม็ด)
3. ยาประสะมะแว้ง ขาวละออ
ยาอมสมุนไพรจากขาวละออ สูตรนี้มีสมุนไพรหลายชนิด เช่น ขมิ้นอ้อย ใบกะเพรา ลูกมะแว้งต้น ลูกมะแว้งเครือ และตัวยาอื่น ๆ ช่วยลดอาการไอ และลดเสมหะ
-
เลขทะเบียนยา : G 110/44
-
วิธีใช้ : ผู้ใหญ่อมครั้งละ 5-7 เม็ด เด็กอมครั้งละ 1-2 เม็ด หรือสามารถชงดื่ม 1-2 เม็ด ผสมกับน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย
- ราคาประมาณ : ซองละ 15 บาท (บรรจุ 20 เม็ด)
4. ลูกอมผสมสมุนไพรมะขามป้อม ยูอีคอฟ กลิ่นน้ำผึ้งผสมเลมอน
ลูกอมสมุนไพร กลิ่นน้ำผึ้งผสมเลมอน รสชาติหวานอมเปรี้ยว สูตรนี้ไม่มีน้ำตาล แต่ใช้ความหวานธรรมชาติจากหล่อฮั้งก้วย แต่ละเม็ดมีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด เช่น ผลมะขามป้อม มะนาว ผิวส้มจีน บ๊วย สมอพิเภก สมอไทย รากชะเอมเทศ ช่วยทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ
-
เลขทะเบียน อย. : 10-1-16435-5-0078
-
วิธีใช้ : อมครั้งละ 1 เม็ด ตามต้องการ
-
ราคาปกติ : ซองละ 35 บาท (บรรจุ 20 เม็ด)
5. ยาอมผสมมะแว้งไอยรา
ยาอมสมุนไพรจากไอยรา มีทั้งหมด 3 รสชาติ ได้แก่ รสบ๊วย รสมะนาว และรสเปลือกส้ม สกัดเข้มข้นจากสมุนไพรไทย 100% เช่น มะขามป้อม ลูกมะแว้งต้น รากชะเอมเทศ ใบส้มป่อย ใบสวาด รากส้มกุ้งน้อย เป็นต้น กินง่าย ไม่ฝาดลิ้น อมแล้วชุ่มคอ ช่วยบรรเทาอาการไอ
-
เลขทะเบียนยา : G 213/55, G210/55, G 230/55
-
วิธีใช้ : อมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อมีอาการไอ
- ราคาปกติ : ซองละ 30 บาท (บรรจุ 15 เม็ด)
6. ยาอมซานจินซีกวาซวน
ยาอมซานจินซีกวาซวน เป็นยาแผนโบราณสูตรสมุนไพรจีนจากเวชพงศ์โอสถ มีส่วนผสมของผงแตงโม พิมเสน และตัวยาจีนอื่น ๆ ที่ช่วยทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการเจ็บคอ
-
เลขทะเบียนยา : K6/46
-
วิธีใช้ : อมครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการ
-
ราคาปกติ : ซองละ 65 บาท (บรรจุ 12 เม็ด)
7. เม็ดอมอาปาเช่ รสมะขามป้อม
เม็ดอมสมุนไพร อาปาเช่ รสมะขามป้อม ยี่ห้อนี้มีรสชาติเปรี้ยว อร่อย อมแล้วให้ความรู้สึกเย็น ชุ่มคอทันที ช่วยบรรเทาอาการระคายคอ แก้ไอ และขับเสมหะ สูตรนี้ปราศจากน้ำตาลด้วย แถมยังบรรจุในซองซิปล็อกที่เก็บง่ายและพกพาสะดวก
-
เลขทะเบียน อย. : 11-1-10249-6-0035
-
วิธีใช้ : อมครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการ
- ราคาปกติ : ซองละ 25 บาท (บรรจุ 12 เม็ด)
8. ยาอมตรามิสเตอร์เฮิร์บ "Mr.HERB" กลิ่นแมงโก้
คนชอบกินมะม่วงน่าจะถูกใจยาอมตรามิสเตอร์เฮิร์บ เม็ดสีเหลืองจากอ้วยอันโอสถ ที่แต่งกลิ่นมะม่วง เม็ดนี้มีส่วนผสมของมะขามป้อม ชะเอมเทศ มะแว้งเครือ สมอไทย และตัวยาอื่น ๆ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำคอ ลดอาการระคายเคืองลำคอ บรรเทาอาการไอ
-
เลขทะเบียนยา : G 514/60
-
วิธีใช้ : อมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อมีอาการ
-
ราคาปกติ : ซองละ 28 บาท (บรรจุ 10 เม็ด)
วิธีเลือกซื้อยาอมสมุนไพรแก้เจ็บคอ
-
เลือกชนิดของยาอม ซึ่งมีทั้งแบบลูกอม (เม็ดอม) ที่เน้นสรรพคุณช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ และแบบยาอมที่มีส่วนผสมของยา ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ
-
เลือกยาอมที่ตรงกับอาการที่เป็น เช่น หากเจ็บคอควรเลือกยาอมที่มีส่วนผสมของมะขามป้อม มะแว้ง น้ำผึ้ง ดอกคาโมมายล์ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ แต่ถ้าไอมีเสมหะด้วยควรเลือกยาอมสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยละลายเสมหะ เช่น ชะเอมเทศ มะนาว มะขามป้อม เป็นต้น
-
เลือกซื้อยาอมสมุนไพรตามรสชาติที่ชอบ เช่น รสมะแว้ง มะขามป้อม มะนาว เป็นต้น
-
ตรวจสอบส่วนผสมอย่างละเอียดว่าไม่มีสมุนไพรที่ทำให้ตัวเองเกิดอาการแพ้
-
ควรรับประทานตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนซอง เพื่อความปลอดภัย
-
ควรเลือกยาอมสมุนไพรที่ปราศจากน้ำตาล หรืออาจมีส่วนผสมของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
-
บนผลิตภัณฑ์ต้องระบุวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ
-
หากเป็นชนิดลูกอมต้องมีเลขทะเบียน อย. และถ้าเป็นชนิดยาอมต้องมีเลขทะเบียนยา วิธีใช้ยา และข้อควรระวัง
-
ควรเลือกซื้อยาอมสมุนไพรจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ หรือซื้อที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรคอยให้คำแนะนำ
ข้อควรระวังในการรับประทาน
-
ควรอมยาให้ละลายในปากอย่างช้า ๆ เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์บริเวณลำคอได้ดีขึ้น
-
เก็บยาอมไว้ในที่แห้ง อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส
-
ส่วนผสมของสมุนไพรบางอย่างอาจส่งผลต่อร่างกาย เช่น การรับประทานมะขามป้อม มะแว้ง เป็นเวลานาน ๆ จะมีอาการท้องเสียได้ในบางราย หรือผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับและไต ไม่ควรใช้ยาอมที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศ เป็นต้น
-
ควรรับประทานเท่าที่จำเป็นและตามอาการเท่านั้น ไม่รับประทานเกินขนาดที่ระบุไว้ตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะหากเป็นชนิดยาอมซึ่งมีตัวยาเป็นส่วนประกอบ หรือในกรณีเป็นลูกอม การรับประทานเกินปริมาณจะทำให้ร่างกายสะสมน้ำตาลไว้มากเกินความจำเป็น
-
เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้ยาอมสมุนไพรแก้เจ็บคอ เพราะอาจสำลักเม็ดยาเข้าทางเดินหายใจ
-
สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรไม่ควรใช้ยาอมโดยไม่ปรึกษาแพทย์
-
ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
-
ยาอมใช้เพื่อบรรเทาอาการ ไม่ใช่การรักษา ดังนั้น หากเป็นคนที่มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ไอเรื้อรัง หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ไม่ควรใช้ยาอมเป็นเวลานาน หากอาการเจ็บคอหรือไอยังไม่หายควรปรึกษาแพทย์
-
หากใช้แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น บวมที่ใบหน้า มีลมพิษ หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก ผื่นขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที