x close

เจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย มีอาการกลืนลำบาก อาจไม่ใช่แค่เป็นหวัด !

          เจ็บคอตอนกลืนน้ำลาย อาการนี้อาจไม่ควรเบาใจ ต้องเช็กแล้วว่ากำลังป่วยอะไรอยู่

กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ

          อาการเจ็บคอปกติเราอาจจะคิดว่ากำลังจะเป็นหวัด แต่ถ้าเจ็บคอมาก กลืนลำบาก กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ แบบนี้ไม่น่าจะเป็นแค่หวัดหรือเปล่า เรามาลองเช็กกันค่ะว่า เจ็บคอแบบนี้เป็นอาการที่ส่อถึงโรคอะไรได้บ้างนะ

เจ็บคอ เกิดจากอะไร


          ขออธิบายก่อนว่า อาการเจ็บคอส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อย่างเวลาเป็นหวัด เราก็มักจะเจ็บคอร่วมด้วยได้ แต่อาการเจ็บคอในหลาย ๆ เคสก็ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากการอักเสบอื่น ๆ ทั้งนี้ อาการเจ็บคอ จะแบ่งออกเป็นอาการเจ็บคอแบบเฉียบพลัน และอาการเจ็บคอแบบเรื้อรัง

เจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย เกิดจากอะไรได้บ้าง


1. ติดเชื้อในคอ/คออักเสบ


ติดเชื้อในคอ คออักเสบ

          สาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด นอกจากนั้นอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงเชื้อราจากอาหารบางอย่าง หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหารประเภททอด ของมัน อาหารรสจัด ชา กาแฟ น้ำอัดลม สุรา หรือการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา และพฤติกรรมสูบบุหรี่ ก็เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในลำคอง่ายขึ้น

          โดยอาการของโรคติดเชื้อในลำคอ ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะเจ็บคอโดยเฉพาะเวลากลืน มีเสมหะ มีน้ำมูกใส โดยส่วนใหญ่มักจะรู้สึกเจ็บคอหลังจากเป็นหวัด เช่นเดียวกับคนที่ติดโควิด 19 ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หลายคนก็จะมีอาการเจ็บคอจนกลืนลำบากได้เหมือนกัน

          ส่วนอาการติดเชื้อในลำคอที่เกิดจากแบคทีเรียในอากาศ ผู้ป่วยมักจะเจ็บคอหลายวัน มีไข้ มีเสมหะ น้ำมูกเป็นสีเขียว เหลือง คอแดง มีจุดขาวที่ต่อมทอนซิล กลืนลำบาก และเสียงเปลี่ยน

          ในกรณีที่เจ็บคอจากไวรัส อาการจะดีขึ้นได้เองภายในเวลา 3-4 วัน ด้วยการดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น งดดื่มน้ำเย็น งดอาหารมัน ของทอด อาหารรสจัด กลั้วคอบ่อย ๆ ด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลืออุ่น ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ

2. โรคที่เกี่ยวกับเส้นประสาทบริเวณลำคอ


          โรคนี้เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 ที่มาเลี้ยงบริเวณลำคอมีการกระตุ้น หรือระคายเคือง ทำให้เจ็บคอเรื้อรัง เริ่มจากผนังคอ ร้าวไปยังหู และศีรษะเป็นวินาที ซึ่งอาการจะชัดขึ้นเมื่อกลืน เคี้ยว ไอ หรือหาวนอน หากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

3. แผลในช่องปาก ลำคอ และหลอดอาหาร


กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ

          ภาวะนี้มักจะเกิดจากสิ่งแปลกปลอม เช่น ก้างปลา กระดูกชิ้นเล็ก ๆ อาหารที่มีความแข็ง แหลมคม อย่างมันฝรั่งทอด แครกเกอร์ การดื่มของร้อนเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติดประเภทดูด หรือสูบบุหรี่ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองบริเวณช่องปาก ลำคอ หลอดอาหาร ก่อให้เกิดอาการเจ็บคอตอนกลืนได้

4. หลอดอาหารอักเสบ


หลอดอาหารอักเสบ ทำให้กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ

          หลอดอาหารอักเสบเกิดจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเกิดจากกรดไหลย้อน รวมไปถึงยาบางชนิดที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุอาหารหรือหลอดอาหาร ทำให้มีอาการกลืนลำบาก เจ็บคอเวลากลืน จุกเสียดยอดอก หรือรู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโดยแพทย์อย่างถูกต้องเพื่อให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม

5. สายเสียง/กล่องเสียงอักเสบ


          การสัมผัสฝุ่น ควันบุหรี่ สารเคมี กินอาหารรสหวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ตะโกน ตะคอก เป็นเวลานาน ไอเรื้อรังจนทำให้สายเสียงหรือกล้ามเนื้อผนังคอกระทบกระเทือน ปัจจัยเหล่านี้สามารถกระตุ้นอาการอักเสบที่สายเสียง กล่องเสียง หรือผนังลำคอ จนกลายเป็นอาการเจ็บคอตอนกลืนหรือดื่มได้

6. ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน


          ภาวะนี้เกิดจากการติดเชื้อ Haemophilus influenzae type B (Hib) หรืออาจเป็นการติดเชื้อไวรัสและเชื้อราบางชนิด ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูงเฉียบพลัน เจ็บคอมาก กลืนลำบาก น้ำลายไหล พูดไม่ชัด กระสับกระส่าย และมีอาการทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น หายใจลำบาก หายใจเสียงดัง หรืออาจพบอาการเสียงแหบร่วมด้วย โดยอาการที่ว่านี้จะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง และหากรุนแรงอาจหายใจไม่ออกจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างสมบูรณ์ เป็นเหตุให้มีอาการซึมลง ตัวเขียว ภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

7. ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ


ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ทำให้กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ

          ภาวะนี้เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศเปลี่ยน ฝุ่น ควัน สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ก็จะมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ไอ จาม ทางเดินหายใจตีบ ต้องอ้าปากหายใจ ส่งผลให้เยื่อบุลำคอแห้ง มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ หรือบางคนอาจมีน้ำมูกไหลลงคอ ระคายคอเรื้อรังอีกต่างหาก

8. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง


          ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูก ส่งผลให้จมูกบวม คัดจมูกเรื้อรังจนต้องหายใจทางปากบ่อย ๆ ทำให้เยื่อบุลำคอแห้งและเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนี้สารคัดหลั่งจากไซนัสที่ไหลลงคอยังอาจกระตุ้นอาการอักเสบ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน

          - ไซนัสอักเสบ VS หวัด ต่างกันอย่างไร

9. ทอนซิลอักเสบ


ทอนซิลอักเสบ ทำให้กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ

          หากมีอาการเจ็บคอแบบที่กลืนหรือดื่มก็เจ็บ กดเจ็บบริเวณต่อมทอนซิล และอาจรู้สึกปวดหูร่วมด้วย อาจกำลังเป็นทอนซิลอักเสบอยู่ก็ได้ โดยทอนซิลอักเสบเกิดจากการติดเชื้อของต่อมทอนซิล ซึ่งอาจลุกลามทำให้เกิดฝีที่คอ หูชั้นกลางอักเสบ และหลอดลมอักเสบได้ และหากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ก็จะมีอาการเจ็บคอบ่อย ซึ่งควรไปตรวจรักษาเพื่อให้แพทย์เช็กอาการ และลดความเสี่ยงที่อาการจะหนักกว่าเดิมด้วย

          - ต่อมทอนซิลอักเสบ สังเกตอาการให้ไว เจ็บคอมากแค่ไหน ใช่เลย !

10. กรดไหลย้อน


          สำหรับคนที่เป็นกรดไหลย้อน อาจมีอาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลายได้ เพราะโรคนี้อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่ผนังลำคอ ก่อให้เกิดการอักเสบ มีอาการกลืนติด กลืนลำบาก มีเสมหะในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา แต่เมื่อรักษากรดไหลย้อนหาย หรือควบคุมโรคได้ อาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย กลืนลำบาก ก็จะทุเลาลง

          - กรดไหลย้อน เกิดจากอะไร อันตรายไหมโรคนี้

11. คางทูม


คางทูม ทำให้กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ

          คางทูมเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มพารามิกโซ (paramyxovirus) ที่แฝงอยู่ในน้ำลายของผู้ป่วย เป็นอีกหนึ่งโรคที่ทำให้มีอาการเจ็บคอเวลากลืน และคางทูมยังทำให้เกิดอาการปวดบวมที่ข้างหู ขากรรไกร และจะปวดมากขึ้นเมื่ออ้าปากเคี้ยวอาหาร กลืนอาหาร หรือกินของเปรี้ยว นอกจากนี้ยังอาจพบอาการบวมใต้คาง เนื่องมาจากต่อมน้ำลายใต้คางอักเสบ โดยโรคนี้ติดต่อได้ผ่านการไอ จามรดกัน รวมทั้งการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย

          - คางทูม อาการบวมที่ต้องระวัง

12. เนื้องอกในลำคอและกล่องเสียง


          เนื้องอกอย่างก้อนในลำคอจากโรคไทรอยด์โต เนื้องอกต่อมไขมัน ต่อมน้ำเหลืองโต ก้อนเนื้อที่ว่ามานี้อาจกดเบียดเส้นประสาท ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ร่วมกับอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก หายใจลำบาก อาจปวดร้าวลามไปที่หูได้ น้ำหนักตัวลดลงเนื่องจากรับประทานอาหารไม่ค่อยสะดวก และอาจมีเสมหะ น้ำลายมีเลือดปนร่วมด้วย

          อาการเจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างที่เราบอกว่าอาจไม่ได้เป็นหวัดเสมอไป ดังนั้น หากมีอาการเจ็บคอที่น่าสงสัย เจ็บนานแล้วไม่หาย ใช้ชีวิตตามปกติค่อนข้างลำบาก ควรรีบไปตรวจรักษาให้เรียบร้อย แต่ถ้ามีอาการเจ็บคอธรรมดา อาการไม่รุนแรงมาก อยากจะลองวิธีแก้เจ็บคอตามนี้ก็ได้

บทความที่เกี่ยวข้องกับเจ็บคอ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย มีอาการกลืนลำบาก อาจไม่ใช่แค่เป็นหวัด ! อัปเดตล่าสุด 25 มีนาคม 2567 เวลา 17:33:52 422,487 อ่าน
TOP