x close

โรคคางทูม อาการบวมที่ต้องระวัง


โรคติดต่อทางน้ำลาย

          โรคคางทูม เป็นอีกโรคหนึ่งที่มักพบบ่อยในเด็ก ๆ วันนี้มีข้อมูลเรื่อง โรคคางทูม มาฝากกันค่ะ

          โรคคางทูม หรือ  Mumps หรือ Epidemic Parotitis มักพบบ่อยในเด็กอายุ 6-10 ปี ส่วนวัยต่ำกว่า 3 ขวบ หรือผู้ใหญ่มากกว่า 40 ปีจะไม่ค่อยพบ

สาเหตุของโรคคางทูม

          โรคคางทูม เกิดจากการติดเชื้อคางทูม ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มพารามิกโซ ไวรัส (paramyxovirus) โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำลายของผู้ป่วย และติดต่อถึงกันผ่านการไอ จามรดกัน รวมทั้งสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนน้ำลายของผู้ป่วย

          เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายก็จะแบ่งตัว และเข้าสู่กระแสโลหิต ก่อนจะแพร่ไปยังอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งต่อมน้ำลาย ทำให้ต่อมน้ำลาย และอวัยวะต่าง ๆ อักเสบ ทั้งนี้เมื่อเป็นแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันตลอดไป

ระยะฟักตัวของโรค

          นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนมีอาการแสดง ประมาณ 12- 25 วัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในราว 16-18 วัน

ระยะติดต่อของ โรคคางทูม

          คือระยะที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อในคนอื่นได้ คือตั้งแต่ 7 วันก่อนมีอาการ จนถึง 9 วันหลังมีอาการคางทูม บางครั้งก็พบการระบาดของโรคคางทูม

โรคคางทูม

อาการของผู้ป่วย โรคคางทูม

          ผู้ป่วย คางทูม จะเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร บางคนอาจปวดหูขณะเคี้ยงอาหาร หรือกลืนอาหารด้วย จากนั้น 1-3 วันต่อมา จะมีอาการบวมที่ข้างหูหรือขากรรไกร และปวดมากขึ้นเมื่อทานของเปรี้ยว รวมทั้งขณะอ้าปากเคี้ยวอาหาร หรือกลืนอาหาร บางคนอาจบวมที่ใต้คางด้วย ถ้าต่อมน้ำลายใต้คางอักเสบ

          ผู้ป่วยคางทูมส่วนใหญ่ จะมีอาการคางบวมทั้ง 2 ข้าง โดยเป็นข้างหนึ่งก่อน แล้วจะเป็นอีกข้างตามมาใน 4-5 วัน ช่วงที่บวมมาก ผู้ป่วยจะพูดและกลืนอาหารลำบาก

          นอกจากนี้ยังพบว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ติดเชื้อคางทูม อาจไม่แสดงอาการของโรคคางทูมก็ได้

การแยกโรค

อาการคางบวม อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คางทูม ก็ได้ เช่น

          - การบาดเจ็บ เช่น ถูกต่อย

          - ต่อมทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวมแดง และต่อมน้ำเหลืองใต้คางบวมร่วมด้วยข้างหนึ่ง

          - เหงือกอักเสบ หรือรากฟันอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดฟัน เหงือกบวม และอาจมีคางบวมข้างหนึ่ง

          - ต่อมน้ำลายอักเสบเป็นหนอง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการคล้ายคางทูม แต่ผิวหนังจะมีลักษณะแดงมาก และเจ็บมาก

          - มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยจะมีก้อนบวมข้างคอ ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่อาจเสียงแหบ (ถ้าเป็นมะเร็งกล่องเสียง) หรือคัดจมูก เลือดกำเดาไหล (ถ้าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก)

การวินิจฉัย โรคคางทูม

          จะวินิจฉัยจากอาการของโรคเป็นหลัก คือมีไข้ คางบวมประมาณ 4-8 วัน หากมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคคางทูม ก็จะทำให้สามารถวินิจฉัยได้ดีขึ้น

การดูแลผู้ป่วย โรคคางทูม

          เนื่องจากโรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัส และไม่ได้มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เพียงแต่ดูแลรักษาตามอาการ ก็สามารถรักษาให้หายได้เองตามธรรมชาติ โดยจะมีอาการไข้อยู่ 1-6 วัน ส่วนคางทูมจะยุบเองในไม่เกิน 10 วัน และจะหายสนิทใน 2 สัปดาห์

          ผู้ป่วยควรดูแลร่างกายด้วยการพักผ่อนมาก ๆ อย่าทำงานหนัก ดื่มน้ำมาก ๆ และทานยาลดไข้ ในเวลาที่มีไข้สูง นอกจากนี้ให้ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบตรงบริเวณที่เป็นคางทูม วันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าปวดให้เปลี่ยนไปใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็งแทน และควรเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่เคี้ยวยาก ๆ อาหารรสเปรี้ยว เพราะจะทำให้ปวดมากขึ้น ที่สำคัญควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน เพื่อป้องการการแพร่เชื้อสู่คนอื่น

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ

          - ปวดศีรษะมาก อาเจียน ชัก

          - มีไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส

          - อัณฑะบวม

          - ปวดท้องมาก


          - หูตึง ได้ยินไม่ชัดเจน

          - ปวดฟัน เหงือกบวม

          - เจ็บในคอมาก หรือต่อมทอนซิลบวมแดง

          - อ้าปากลำบาก จนทานอาหารไม่ได้

          - ก้อนที่บวม มีลักษณะบวมแดงมาก หรือปวดมาก

          - ดูแลตัวเองมา 7 วันแล้วไข้ยังไม่ลด หรือกำเริบซ้ำ หลังหายแล้ว

โรคแทรกซ้อนของ คางทูม

          เพราะเชื้อสามารถเข้าสู่กระแสโลหิต จึงสามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้ จึงอาจเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น

          - อัณฑะอักเสบ (Orchitis) เป็นอาการที่พบได้บ่อย หากผู้ป่วยโรคคางทูมอยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือวัยหนุ่ม โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง อัณฑะบวมและปวดมาก มักเป็นหลังอาการคางทูม 7-10 วัน ส่วนใหญ่เป็นข้างเดียว รักษาได้โดยให้ยาต้านอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และประคบด้วยความเย็น

          - ประสาทหูอักเสบ พบได้ประมาณร้อยละ 4-5 มักเป็นเพียงชั่วคราวและหายไปได้เอง

          - ตับอ่อนอักเสบ พบได้ประมาณร้อยละ 2-3 เป็นภาวะที่รุนแรง โดยผู้ป่วยจะเป็นไข้ ปวดท้องบริเวณเหนือสะดือ กดเจ็บบริเวณลิ้นปี่ อาจคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

          - รังไข่อักเสบ  (Oophoritis) อาการที่พบคือจะมีไข้ ปวดท้องน้อย

          - เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ พบได้น้อย อาการที่เป็นคือจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม ชัก มักเป็นหลังต่อมน้ำลายอักเสบประมาณ 3-7 วัน หากเป็นแล้วต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

          - แท้งบุตร หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ ก็อาจทำให้แท้งบุตรได้ แต่พบได้น้อย

การรักษา โรคคางทูม

          ปกติจะรักษาตามอาการ แต่หากมีโรคแทรกซ้อน ก็จะรักษาตามอาการโรคแทรกซ้อน โดยให้ยารักษาตามอาการนั้น

การป้องกัน โรคคางทูม

          สามารถป้องกัน โรคคางทูม ได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) เริ่มฉีดตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน และฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง ตอนอายุ 4-6 ปี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- siamhealth.net



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคคางทูม อาการบวมที่ต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 15:48:57 225,117 อ่าน
TOP