เม็ดฟู่ละลายเสมหะ ตัวช่วยกำจัดเสมหะที่เหนียวข้น กินยังไง มียี่ห้อไหนบ้าง

           เม็ดฟู่ละลายเสมหะ มียี่ห้อไหนบ้าง กินยังไง เด็กกินได้ไหม แล้วมีประสิทธิภาพเหมือนกับยาละลายเสมหะทั่วไปหรือไม่ ใครอยากรู้ตามมาอ่านกัน
ยาละลายเสมหะ

          เมื่อป่วยเป็นหวัด เป็นโควิด หรือโรคระบบทางเดินหายใจ แล้วมีอาการไอ สิ่งที่มักจะตามมาก็คือ เสมหะเหนียว ๆ ข้น ๆ ที่ติดอยู่ภายในลำคอ ไอยังไงก็ไม่หลุดออกมาสักที บางคนไปรับประทานยาแก้ไอ โดยหารู้ไม่ว่าจะยิ่งทำให้เสมหะออกยากขึ้น เพราะยาไปออกฤทธิ์ลดอาการไอ เป็นเหตุให้เสมหะเหนียวและติดอยู่ในลำคอมากกว่าเดิม

          ดังนั้น คนที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ ควรเลือกใช้ยาละลายเสมหะ เพื่อช่วยกำจัดเสมหะ ที่ติดแน่นให้กลับมาหายใจสะดวกขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบเม็ด แบบน้ำ และเม็ดฟู่ละลายเสมหะ ที่รับประทานได้สะดวก แล้วสงสัยไหมว่า ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่แตกต่างจากยาละลายเสมหะทั่วไปตรงไหน หรือมีข้อควรระวังในการใช้อย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ

เม็ดฟู่ละลายเสมหะ คืออะไร

เม็ดฟู่ละลายเสมหะ

           เม็ดฟู่ละลายเสมหะ เป็นยาละลายเสมหะประเภทยาเม็ดฟองฟู่ (Effervescent Tablet) ที่ออกแบบมาให้แตกตัวและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อสัมผัสกับน้ำ กลายเป็นสารละลายที่ง่ายต่อการดูดซึม นิยมใช้ตัวยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยละลายเมือกและลดความเหนียวข้นของเสมหะในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับการหายใจทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ทำให้สามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น

ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่
ต่างกับยาละลายเสมหะทั่วไปอย่างไร

          ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ กับ ยาละลายเสมหะชนิดเม็ด ต่างก็มีสรรพคุณช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะทั้งคู่ แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่บ้าง เช่น

  • เม็ดฟู่ละลายเสมหะส่วนใหญ่จะใช้ตัวยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือที่รู้จักในชื่อเอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine : NAC) ขณะที่ยาละลายเสมหะแบบเม็ดจะมีทั้งตัวยาคาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine), บรอมเฮกซีน (Bromhexine), แอมบรอกซอล (Ambroxol) เป็นต้น  

  • เม็ดฟู่ละลายเสมหะมีปริมาณตัวยาต่อเม็ดสูงกว่า โดยมีตัวยาอะเซทิลซิสเทอีน 600 มิลลิกรัมต่อเม็ด เป็นขนาดมาตรฐาน ส่วนยาละลายเสมหะทั่วไปมักมีปริมาณยาไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด

  • เม็ดฟู่ละลายเสมหะใช้รับประทานเพียงวันละ 1 เม็ด เนื่องจากมีปริมาณตัวยาสูง แต่ยาละลายเสมหะแบบเม็ดจะต้องรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง 

  • เม็ดฟู่ละลายเสมหะรับประทานง่ายกว่า เพียงแค่ชงยากับน้ำก็สามารถดื่มได้เลย เหมาะกับคนที่ไม่ถนัดกลืนยาเม็ด

  • เม็ดฟู่ละลายเสมหะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่ายาเม็ดละลายเสมหะทั่วไป เพราะอยู่ในรูปสารละลายที่ดูดซึมได้ทันที ไม่ตกค้างในกระเพาะอาหาร และไม่ถูกกรดในกระเพาะทำลายได้ง่าย ทำให้ดูดซึมตัวยาได้มากขึ้น

  • เม็ดฟู่ละลายเสมหะมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่า และต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ป้องกันแสงและความชื้นได้ จึงมีราคาสูงกว่ายาเม็ดทั่วไป

วิธีกินเม็ดฟู่ละลายเสมหะ
กินตอนไหน กินยังไง

เม็ดฟู่ละลายเสมหะ กินตอนไหน กินยังไง

          วิธีกินยาเม็ดฟู่ละลายเสมหะ ให้เตรียมน้ำสะอาดครึ่งแก้ว แล้วนำยา 1 เม็ดใส่ลงไปในน้ำ รอจนยาละลายหมดฟองฟู่จึงรับประทาน โดยส่วนใหญ่กินวันละ 1 เม็ดก็เพียงพอต่อการขับเสมหะ

          ทั้งนี้ บางยี่ห้อแนะนำให้รับประทานก่อนอาหาร แต่บางยี่ห้อแนะนำให้รับประทานหลังอาหาร ดังนั้น ควรอ่านวิธีใช้บนฉลากให้ชัดเจนอีกครั้งทั้งเรื่องขนาดยาและวิธีรับประทาน เนื่องจากข้อบ่งใช้ของผู้ป่วยแต่ละวัย แต่ละโรค มีความแตกต่างกัน

          ข้อควรระวังที่สำคัญก็คือ ต้องรอให้ยาหมดฟองฟู่ก่อนค่อยรับประทาน ไม่เช่นนั้นอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้องได้

ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ มียี่ห้อไหนบ้าง

          ลองมาดูตัวอย่างยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ที่คนนิยมใช้บรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ 

1. ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ เฟลมเม็กซ์-เอซี โอดี 600 มิลลิกรัม (Flemex-AC OD 600 MG EFFERVESCENT)

ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ flemex

ภาพจาก : Choose With Care Club

          ยาแก้ไอละลายเสมหะยี่ห้อเฟลมเม็กซ์ นอกจากจะมีแบบเม็ดและแบบน้ำแล้ว ยังมียาละลายเสมหะแบบเม็ดฟู่เป็นทางเลือกด้วย โดยมีตัวยาอะเซทิลซิสเทอีน 600 มิลลิกรัม เช่นเดียวกับแบรนด์อื่นเป็นตัวช่วยละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอ แต่ละเม็ดบรรจุมาในแผงปิดสนิท ป้องกันยาสัมผัสกับอากาศและความชื้น เพื่อคงคุณภาพของยาเม็ดต่อเม็ด ใช้สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป

  • เลขทะเบียนตำรับยา : 1C 6/55 

  • วิธีใช้ยา : ละลายยา 1 เม็ดในน้ำครึ่งแก้ว รับประทานวันละ 1 ครั้ง

  • ขนาดบรรจุ : 1 กล่อง มี 10 เม็ดฟู่

  • ราคาประมาณ : 200 บาท

2. ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ ซิสทาลีน (Cystaline)

ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ Cystaline

ภาพจาก : thaipick

          ซิสทาลีน เม็ดฟู่ละลายเสมหะจาก Millimed ใน 1 เม็ด ประกอบด้วยตัวยาอะเซทิลซิสเทอีน 600 มิลลิกรัม ใช้สำหรับละลายเสมหะในโรคทางเดินหายใจที่มีเสมหะเหนียวข้น รวมทั้งบรรเทาอาการไอในผู้ที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง วัณโรค ปอดบวม เป็นต้น

  • เลขทะเบียนตำรับยา : 1A 15199/65

  • วิธีใช้ยา : ละลายยา 1 เม็ดในน้ำครึ่งแก้ว รับประทานก่อนอาหาร 30 นาที

  • ขนาดบรรจุ : 1 หลอด มี 10 เม็ดฟู่

  • ราคาประมาณ : 150 บาท

3. ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ แนค ลอง (NAC Long)

ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ nac long

ภาพจาก : naclongthailand

          ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่แนค ลอง (NAC Long) จากประเทศเยอรมนี ประกอบด้วยตัวยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) 600 มิลลิกรัม ที่ออกฤทธิ์ลดความหนืดของเสมหะ จึงช่วยละลายเสมหะได้ พร้อมบรรเทาอาการไอไปในตัว ตัวยาเป็นเม็ดกลม แบน มีกลิ่นมะนาว รับประทานง่าย ใช้สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป ที่มีอาการโรคทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับภาวะที่มีการขับของเสมหะ ได้แก่ โรคปอดและทางเดินหายใจ โรคของระบบทางเดินหายใจทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเฉพาะหลอดลมอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง รวมทั้งหลอดลมโป่งพอง

  • เลขทะเบียนตำรับยา : 1C 57/49 

  • วิธีใช้ยา : ผู้ใหญ่ รับประทาน 1 เม็ด วันละครั้ง โดยละลายในน้ำครึ่งแก้วก่อนรับประทาน ทั้งนี้ ระยะเวลาการให้ยาขึ้นอยู่กับอาการของโรค

  • ขนาดบรรจุ : 1 หลอด มี 10 เม็ดฟู่

  • ราคาประมาณ : 200 บาท

4. ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ มิวเคลียร์ (Muclear)

ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ muclear

ภาพจาก : megawecare

          เม็ดฟู่ละลายเสมหะจากแบรนด์ MEGA We care ในยา 1 เม็ด ประกอบด้วยตัวยาอะเซทิลซิสเทอีน 600 มิลลิกรัม ใช้เสริมในการรักษาภาวะเสมหะข้นเหนียวมากผิดปกติทั้งระยะเฉียบพลันและเรื้อรังในโรคหลอดลมและปอด เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง หลอดลมคอและหลอดลมอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรังในโรคหอบหืด วัณโรค หลอดลมโป่งพอง และภาวะอะมัยโลซิสของปอด นอกจากนี้ยังเป็นยาที่ช่วยลดความเป็นพิษต่อตับจากการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด

  • เลขทะเบียนตำรับยา : 1C 29/54  

  • วิธีใช้ยา : ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้ละลายยา 1 เม็ดลงในน้ำครึ่งแก้ว และดื่มวันละครั้งหลังอาหารเย็น

  • ขนาดบรรจุ : 1 หลอด มี 10 เม็ดฟู่

  • ราคาประมาณ : 200 บาท

5. ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ ฟลูมูซิล-เอ 600 (Fluimucil A 600)

ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ fluimucil

ภาพจาก : ubuy

          ยาเม็ดฟู่ละลายเสมหะที่ผลิตจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีส่วนประกอบของอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) 600 มิลลิกรัม ใช้สำหรับรักษาโรคทางเดินหายใจที่มีการขับมูกที่ข้นเหนียวและมีปริมาณมาก เช่น โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคถุงลมปอดโป่งพอง COPD เป็นต้น

  • เลขทะเบียนตำรับยา : 1C 29/62  

  • วิธีใช้ยา : ผู้ใหญ่ ละลายยา 1 เม็ดในน้ำครึ่งแก้ว รับประทานก่อนหรือหลังอาหาร

  • ขนาดบรรจุ : 1 กล่อง มี 10 เม็ดฟู่

  • ราคาประมาณ : 200 บาท

วิธีเลือกเม็ดฟู่ละลายเสมหะ

ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ ยี่ห้อไหนดี

           เนื่องจากยาเม็ดฟู่ละลายเสมหะที่วางขายในท้องตลาดล้วนมีตัวยาเดียวกันคือ อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) 600 มิลลิกรัม เป็นขนาดมาตรฐาน ดังนั้น ในการเลือกซื้ออาจพิจารณาเรื่องการแต่งกลิ่นและรสชาติที่ช่วยให้รับประทานง่ายขึ้น และกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กก็ควรพิจารณาด้วยว่ายี่ห้อนั้นสามารถใช้กับเด็กได้หรือไม่ และเด็กต้องมีอายุเท่าไร โดยควรซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำเท่านั้น

เม็ดฟู่ละลายเสมหะ เด็กกินได้ไหม

           แนะนำให้อ่านฉลากของแต่ละแบรนด์หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากยาเม็ดฟู่ละลายเสมหะแต่ละยี่ห้อมีข้อบ่งใช้ต่างกัน โดยบางยี่ห้อสามารถใช้ได้ในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป แต่บางยี่ห้อไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปี เป็นต้น

เม็ดฟู่ละลายเสมหะ คนท้องกินได้ไหม

           ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่ก็คือยาละลายเสมหะทั่วไป โดยปกติสามารถรับประทานได้ แต่เพื่อความปลอดภัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทาน

ข้อควรระวังในการใช้
ยาละลายเสมหะเม็ดฟู่

ยาเม็ดฟู่ละลายเสมหะ กินยังไง

  • อ่านคำเตือนในฉลากก่อนใช้ยา

  • การใช้ยาที่มีส่วนประกอบของอะเซทิลซิสเทอีนในบางคนอาจมีอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย เป็นต้น

  • ห้ามใช้ยาในคนที่แพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา 

  • ยาเม็ดฟู่บางยี่ห้อมีการแต่งกลิ่นและรสชาติเพื่อให้รับประทานง่าย จึงมีส่วนผสมของน้ำตาล คนที่เป็นเบาหวานหรือต้องควบคุมน้ำตาลในเลือดควรใช้อย่างระวัง

  • ผู้ที่มีอาการหอบหืด หรือมีประวัติเคยเป็นโรคหอบหืด ควรระมัดระวังการใช้ยา หากใช้แล้วมีอาการหลอดลมบีบเกร็งให้หยุดใช้ยาทันที

  • ผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารควรระมัดระวังการใช้ยา เพราะยาอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนที่มีผลต่อแผลได้

  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาขยายหลอดเลือดกลุ่มไนเตรตและยากันชักคาร์บามาซีปีน   

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือกินยารักษาโรคอยู่ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

  • หากกินยาแล้วมีอาการผิดปกติรุนแรง เช่น มีผื่นลมพิษขึ้น คัน หน้าแดง ผิวแดง หลอดลมหดเกร็ง ความดันโลหิตต่ำ หายใจลำบาก วูบ ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที

  • เก็บยาให้พ้นจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยควรเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส และต้องเก็บไว้ให้พ้นมือเด็ก

           นอกจากการใช้ยาละลายเสมหะแล้ว การจิบยาแก้ไอสมุนไพรที่มีส่วนผสมของมะขามป้อม มะแว้ง ร่วมกับดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ หรือดื่มน้ำอุ่นและกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ก็เป็นวิธีกำจัดเสมหะที่ช่วยให้กลับมาหายใจโล่งสบายได้อีกทาง

บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการไอและเสมหะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (1), (2), (3), (4), (5), คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, naclongthailand, smpharma.co.th (1), (2), Hiruscar Thailand, เฟซบุ๊ก Choose With Care Club, thaipick.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เม็ดฟู่ละลายเสมหะ ตัวช่วยกำจัดเสมหะที่เหนียวข้น กินยังไง มียี่ห้อไหนบ้าง อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15:30:27 261,322 อ่าน
TOP
x close