อาหารสำหรับผู้ป่วยโควิดห้ามกินอะไรบ้าง บรรดาชา กาแฟ ของหวานต่าง ๆ กินได้ไหมในระหว่างที่รักษาตัว
ติดเชื้อโควิด 19 และกำลังรักษาตัวอยู่ ใช่ว่าจะกินอาหารอะไรก็ได้นะคะ แล้วเราควรเลี่ยงอาหารอะไรบ้างในช่วงที่ป่วย ลองมาดูอาหารที่ผู้ป่วยโควิดห้ามกินเพราะอาจกระตุ้นอาการที่เป็นอยู่ให้ยิ่งเป็นหนัก พร้อมไขข้อข้องใจ ติดโควิดห้ามกินน้ำเย็น กาแฟ จริงไหม แล้วถ้าติดโควิดทำอย่างไรบ้าง
ป่วยโควิดควรเลี่ยงอาหารประเภทไหนบ้าง
อาหารสำหรับผู้ป่วยโควิดควรกินตามความเหมาะสมของอาการที่เป็นอยู่ และควรเลือกอาหารที่ไม่ทำให้อาการแย่ลง อาหารที่ไม่เพิ่มโอกาสเสี่ยงติดเชื้อและอาการแทรกซ้อน รวมไปถึงอาหารที่ไม่เพิ่มโรคในช่วงป่วยโควิด ซึ่งอาหารที่ว่าก็แยกตามอาการป่วยที่เป็น ดังนี้
กลุ่มที่มีอาการไอ คัดจมูก คันคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ ห้ามกินอะไร
1. น้ำเย็น
น้ำเปล่าแช่เย็น หรือน้ำเปล่าใส่น้ำแข็ง ควรงดในทุกกรณี เพราะความเย็นจะทำให้จมูกบวมจากการระคายเคือง กระตุ้นหลอดลมให้หดตัว กระตุ้นการหลั่งน้ำมูกและเสมหะ และทำให้อาการไอแย่ลง ดังนั้นช่วงนี้ดื่มแต่น้ำอุ่นหรือน้ำในอุณหภูมิห้องไปก่อน
2. น้ำหวาน น้ำอัดลม ไอศกรีม
หลายคนอาจรู้สึกอยากดื่มน้ำหวานหรือน้ำอัดลมให้ชื่นใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวานชนิดไหนก็ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน เพราะรสหวานและความเย็นของเครื่องดื่มเหล่านี้อาจทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ในร่างกายได้ง่าย กระตุ้นให้มีเสมหะหรือน้ำมูกมากกว่าเดิมได้ และอาจเพิ่มอาการไอด้วย
3. ชา กาแฟเย็น
ชาเย็น ชานมไข่มุก กาแฟเย็น หรือเครื่องดื่มปั่นที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อม นมข้นหวาน น้ำตาล ครีมเทียมต่าง ๆ รสหวานและเย็นเหล่านี้อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง จมูกจะบวม น้ำมูกและเสมหะจะมากขึ้น ซึ่งอาจไปซ้ำเติมอาการที่เป็นอยู่ให้ยิ่งหนัก อีกทั้งคาเฟอีนในชาและกาแฟยังทำให้ร่างกายขาดน้ำ ดังนั้นหากกินมากไปอาจทำให้น้ำมูกและเสมหะข้นเหนียวได้
4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดื่มเข้าไปก็อาจจะหายจากโควิดช้าลง ยิ่งถ้าดื่มแบบแช่เย็นด้วยก็จะยิ่งเพิ่มการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมหดตัว กระตุ้นอาการไอได้อีก
5. อาหารมัน ๆ
อาหารประเภทผัดที่ใส่น้ำมันมาก ๆ ของทอด กินแล้วจะกระตุ้นให้เกิดอาการคันคอ กระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ทำให้ยิ่งไอหนัก
6. อาหารรสจัด
อาหารที่เผ็ดจัด หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เครื่องเทศ เครื่องแกง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองทางหลอดอาหาร กระตุ้นอาการไอ อาการคันคอ จึงควรหลีกเลี่ยง
7. ขนมขบเคี้ยว
ขนมกรุบกรอบที่เคี้ยวแล้วมีลักษณะเป็นผงแห้ง ๆ เมื่อกลืนแล้วจะรู้สึกคันคอได้ง่าย กระตุ้นอาการไอ และอาจเพิ่มโอกาสในการสำลักได้ด้วย ดังนั้นในช่วงที่ป่วยก็งดกินไปก่อนนะคะ
8. ข้าวเหนียว
หากมีอาการไอหนัก ไอไม่หยุด หรือมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย ควรหลีกเลี่ยงการกินข้าวเหนียวไปก่อน เพราะข้าวเหนียวเป็นอาหารที่กลืนยาก อาจทำให้ระคายเคืองคอได้ อีกทั้งหากกินข้าวเหนียวกับหมูปิ้ง ไก่ปิ้ง ไก่ทอด ซึ่งเป็นอาหารมัน ๆ อาจทำให้ยิ่งมีอาการไอ มีเสมหะและคันคอยิ่งขึ้นไปอีก
9. อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและชีส
ไม่ว่าจะขนมปังทาเนยปิ้ง ขนมปังชีส แฮมเบอร์เบอร์ชีส ชีสทอด หรือของกินเล่นและเบเกอรี่ที่มีเนยและชีสเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ เนยและชีสอาจทำให้คันคอได้ ดังนั้นพยายามหลีกเลี่ยงไว้ก่อนดีกว่า
ไอห้ามกินอะไรบ้าง ผลไม้ น้ำเย็น กินได้ไหม รู้ไว้จะได้เลี่ยง !
กลุ่มที่มีอาการพะอืดพะอม อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ มีลมในกระเพาะ หรือถ่ายเหลว ห้ามกินอะไร
1. อาหารหมักดองต่าง ๆ
อาหารหมักดอง เช่น ปูเค็ม ปลาร้า ผลไม้ดอง ผักดอง กิมจิ อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจกระตุ้นอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวให้รุนแรงได้
2. นม
หลายคนดื่มนมแล้วมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเสีย ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้อยู่แล้วควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมไปก่อน
3. โยเกิร์ต
โยเกิร์ตก็เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์จากนม ดังนั้นในขณะที่มีอาการถ่ายเหลวก็ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน
4. น้ำแข็ง
ไม่ว่าจะน้ำแข็งในเครื่องดื่ม หรือน้ำแข็งในขนมหวาน น้ำปั่นต่าง ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงให้ไกล เพราะน้ำแข็งไม่เพียงแต่กระตุ้นอาการไอ ทำให้หลอดลมหดตัวเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้
5. อาหารย่อยยาก
เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อย่างเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อเป็ด เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ อาหารปิ้งย่าง รวมไปถึงเนื้อมะพร้าว ที่เป็นอาหารย่อยยาก อาจเพิ่มอาการพะอืดพะอม แน่นท้องมากขึ้นได้
6. อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
ในช่วงที่ไม่สบายควรหลีกเลี่ยงอาหารสดต่าง ๆ ผักสด สลัดผัก สลัดผลไม้ และอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อนทั้งหลาย เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และอาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
7. ผลไม้สดสำเร็จรูป
โดยเฉพาะผลไม้ที่ปอกและหั่นให้พร้อมรับประทานมาแล้ว ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือมีโอกาสเน่าเสียได้ง่าย หากไม่ปอกและหั่นแบบสดใหม่ ดังนั้นถ้ามีอาการท้องเสียควรหลีกเลี่ยงผลไม้สำเร็จรูปไปก่อน รวมไปถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอย่างส้ม เกรปฟรุต เสาวรส เลมอน มะนาว เพราะรสเปรี้ยวอาจทำให้ลำไส้เกิดการระคายเคืองได้ในบางคน ก่อให้เกิดอาการท้องเสียมากขึ้นได้
8. ถั่ว
ในถั่วมีน้ำตาลที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ดังนั้นหากกินเข้าไปร่างกายก็จะพยายามย่อยน้ำตาลชนิดนี้ด้วยการหยุดหลั่งเอนไซม์ และให้แบคทีเรียในลำไส้ทำหน้าที่ย่อยแทน ก่อให้เกิดแก๊สในลำไส้ ทำให้รู้สึกจุกเสียด แน่นเฟ้อได้
9. สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล
ซอร์บิทอล (Sorbitol) หรือสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล มักจะพบมากในหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล น้ำอัดลมบางชนิด และขนมที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทุกชนิด ซึ่งในบางคนกินแล้วจะมีอาการท้องเสีย
10. อาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย
อาหารที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนฝุ่น มลภาวะต่าง ๆ อาหารค้างคืน อาหารที่ทำไว้นาน ๆ ผสมในภาชนะเดิมซ้ำ ๆ เช่น ยำ ส้มตำ ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ข้าวขาหมูที่หั่นบนเขียงเดิมซ้ำ ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคจากอาหารเหล่านี้
กลุ่มที่มีอาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย
1. เครื่องดื่มชูกำลัง
แม้จะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลังต่าง ๆ ให้ดี เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มักมีคาเฟอีนที่อาจกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้รู้สึกใจสั่น นอนไม่หลับ จนเป็นสาเหตุให้พักผ่อนไม่เพียงพอได้
2. อาหารมื้อใหญ่ ๆ
การรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ มื้อใหญ่ อาจทำให้อาหารไม่ย่อย เกิดท้องอืด ท้องเฟ้อ พะอืดพะอม หรือท้องผูกได้ ดังนั้นควรรับประทานอาหารเบา ๆ ย่อยง่ายและแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ เพื่อเติมพลังงานให้ร่างกายจะดีกว่า
นอกจากนี้หากมีโรคประจำตัวอยู่ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นความรุนแรงของโรคประจำตัวด้วย เช่น
นอกจากนี้หากมีโรคประจำตัวอยู่ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นความรุนแรงของโรคประจำตัวด้วย เช่น
- อาหารผู้ป่วยโรคไต เลือกกินอะไรดี กินอะไรต้องระวัง !
- โรคไขมันพอกตับ กับอาหารที่ควรกิน ควรเลี่ยง
- เปิดเมนูอาหารโรคความดันโลหิตสูง ควรกิน-ห้ามกินอะไร ช่วยควบคุมความดัน
- ไขมันในเลือดสูง ควรเลี่ยงหรือกินอะไรที่ช่วยลดไขมัน
หรือหากไม่มีโรคประจำตัว และอยากรู้ว่าติดโควิดกินอะไรดีถึงช่วยบรรเทาอาการ ก็ลองดูได้จากด้านล่างนี้เลย
อาหารสำหรับผู้ป่วยโควิด กินอะไรช่วยบรรเทาและไม่ซ้ำเติมอาการให้ยิ่งหนัก
บทความเกี่ยวกับโควิด 19
- อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง พร้อมวิธีเช็กเบื้องต้น สัญญาณไหนต้องรีบรักษา
- รวมวิธีดูแลรักษาโควิดเบื้องต้น เมื่อจำเป็นต้องกักตัวที่บ้าน
- โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ
- เช็กอาการหลังหายจากโควิด 19 มีอะไรบ้างที่อาจกระทบสุขภาพไปอีกยาว (Long Covid)
- วิธีกินฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ควรใช้อย่างไร ต้องกินวันละเท่าไร
- เปิดคลิปฝึกหายใจฟื้นฟูปอด-ขับเสมหะ เพิ่มความสตรองสู้โควิด
- วิธีกินกระชายขาว สำหรับคนติดโควิดหรือยังไม่ป่วย รู้ไว้ใช้ให้ปลอดภัย
- เช็กลิสต์ยาที่ควรมีช่วงโควิด ติดบ้านไว้ใช้ดูแลตัวเอง-รักษาอาการเบื้องต้น
- ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กินคู่กันได้ไหม ไขข้อสงสัยเรื่องสมุนไพรรักษาโควิด
- ตรีผลา สรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกัน กับคุณประโยชน์อนันต์ที่ควรรู้
- โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรยับยั้งโควิด 19 สรรพคุณดีอย่างไร รักษาโรคอะไรได้บ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (1), (2) , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม, โรคปอดและทางเดินหายใจ หมอวินัยโบเวจา, หมอชาวบ้าน