x close

อาหารผู้ป่วยโรคไต เลือกกินอะไรดี กินอะไรต้องระวัง !

          อาหารผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีอะไรที่ควรระวังหรือต้องหลีกเลี่ยง มาอ่านไว้ใช้ดูแลตัวเอง

อาหารผู้ป่วยโรคไต

          เมื่อป่วยเป็นโรคไต ประสิทธิภาพการทำงานของไตจะลดลง ส่งผลให้ขับของเสียออกจากร่างกายได้น้อย ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตต้องดูแลตัวเองให้ดีไม่แพ้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหารที่ต้องใส่ใจให้มาก เพราะอาหารบางชนิดมีสารหรือแร่ธาตุบางอย่างในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งก่อให้เกิดโทษกับผู้ป่วยโรคไต

          เราลองมาดูกันว่า อาหารประเภทไหนที่ผู้ป่วยโรคไตควรกิน หรือควรระวังให้มาก เพื่อชะลอความเสื่อมของไต

1. อาหารประเภทโปรตีน

          โปรตีน คือ สารอาหารจำเป็นในการเสริมสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อในร่างกาย เมื่อเรากินโปรตีนเข้าไป ร่างกายจะเปลี่ยนโปรตีนเป็นกรดอะมิโนและไนโตรเจน ซึ่งส่วนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ไนโตรเจน จะถูกขับออกมาในปัสสาวะตามปริมาณที่กินเข้าไป ดังนั้น ถ้าเรากินโปรตีนมากก็จะมีของเสียผ่านไตมาก ทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น

          ด้วยเหตุนี้ เราควรกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสูงในปริมาณที่เหมาะสม ปริมาณโปรตีนที่แนะนำ คือ 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัวที่เหมาะสม 1 กิโลกรัม หรือขึ้นอยู่กับระยะของโรค และควรเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพสูง ได้แก่ เนื้อปลา โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เนื่องจากมีไขมันต่ำและยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อไก่ (ไม่ติดหนัง-มัน) นมไขมันต่ำ เป็นต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง

2. ข้าว-แป้ง

          อาหารจำพวก ข้าว-แป้ง เป็นแหล่งให้พลังงานที่สำคัญที่สุด เช่น ข้าวเจ้า ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี เป็นต้น แต่ในแป้งเหล่านี้ยังคงมีโปรตีนอยู่บ้าง หากผู้ป่วยต้องจำกัดโปรตีนต่ำมาก ๆ อาจต้องใช้แป้งปลอดโปรตีน เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ เพิ่มเติมจากข้าวได้ หรือกินขนมที่ทำจากแป้งปลอดโปรตีนได้ เช่น ซาหริ่ม สาคูเปียก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานที่เพียงพอ แต่หากผู้ป่วยเป็นเบาหวานด้วยก็ควรใช้น้ำตาลเทียมแทน 

อาหารผู้ป่วยโรคไต

3. อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง

          ไขมันทั้งหลายเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคไตควรเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นไข่แดง เครื่องในสัตว์ และจำกัดไขมันอิ่มตัวทั้งจากพืชและสัตว์ จำพวก กะทิ น้ำมันปาล์ม มันหมู มันไก่ รวมถึงไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม เนยขาว ที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ประกอบเบเกอรี่ต่าง ๆ หากจะประกอบอาหารควรใช้น้ำมันแบบไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา เป็นต้น

4. อาหารแปรรูป

          ควรเน้นกินอาหารที่มาจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด งดเว้นอาหารแปรรูปทั้งหลาย เช่น หมูแฮม กุนเชียง ไส้กรอก หมูยอ

อาหารผู้ป่วยโรคไต

5. โซเดียม

          โซเดียมคือศัตรูตัวร้ายของผู้ป่วยโรคไต ดังนั้น ต้องเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมมาก เช่น เครื่องปรุงรสต่าง ๆ รวมทั้งอาหารหมักดองเค็ม และใช้เครื่องเทศ สมุนไพร มะนาว และน้ำตาล ในการช่วยชูรสอาหาร

          หากใครมีความดันโลหิตสูงหรือมีอาการบวม ต้องจำกัดโซเดียมให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (ใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารได้ประมาณ 3 ช้อนชาต่อวัน หรือเกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน) โดยเลี่ยงอาหารที่ปรุงรสเค็มจัด จากการใช้เครื่องปรุงรสต่าง ๆ รวมถึงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอก แฮม เบคอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น

          ทั้งนี้ ถ้าหากต้องจำกัดปริมาณโซเดียมต่ำมาก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง แนะนำให้ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นตัวแต่งกลิ่นอาหาร ให้อาหารน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ ใบสะระแหน่ กระชาย รากผักชี ขิง ผักชี พริกไทยดำ ใบกระวาน อบเชย กานพลู เป็นต้น

อาหารผู้ป่วยโรคไต

6. อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง

          หากตรวจเลือดแล้วมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงไข่แดง (กินแต่ไข่ขาว) นมทุกรูปแบบ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง งดกินเครื่องในสัตว์ ปลาทั้งกระดูก ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีดำ รวมถึงเมล็ดพืช ถั่วต่าง ๆ เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ งดอาหารที่ใช้ยีสต์ เช่น ขนมปังปอนด์ แป้งซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท เพราะยีสต์มีฟอสเฟตอยู่มาก งดอาหารที่ใช้ผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมหน้าแตก โดนัท

อาหารผู้ป่วยโรคไต

7. อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง

          หากตรวจเลือดแล้วพบว่ามีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงผักสีเขียวเข้ม หรือสีเหลืองเข้ม เช่น บรอกโคลี มันฝรั่ง มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง ผักที่รับประทานได้ เช่น ฟักเขียว บวบ แตงกวา มะเขือยาว เป็นต้น (ผักสำหรับผู้ป่วยโรคไต กินอะไรได้บ้าง ผักชนิดไหนควรเลี่ยง) หันไปกินผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ เช่น มังคุด ชมพู่ องุ่นเขียว เงาะ แอปเปิล (ผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคไตกินได้ ปลอดภัย อาการไตไม่กำเริบ)
 
8. อาหารที่มียูริกสูง

          หากมีระดับยูริกในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงแหล่งอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ปีกสัตว์ น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์ ยอดผักอ่อน ๆ พวกยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง รวมถึงต้องรับประทานอาหารไขมันต่ำด้วย เพราะอาหารไขมันสูงทำให้กรดยูริกขับถ่ายทางปัสสาวะได้ไม่ดี

อาหารผู้ป่วยโรคไต

9. น้ำตาล ของหวาน ๆ

          ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตแต่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน สามารถกินขนมหวานได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงขนมใส่กะทิ หรือขนมอบที่มีเนย เนยแข็ง เพราะขนมอบมักใส่ผงฟู ซึ่งเป็นสารจำพวกฟอสเฟต (ฟอสฟอรัส) สูง ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วย และระดับน้ำตาลในเลือดยังสูงอยู่ ควรหลีกเลี่ยงขนมหวานจัดซึ่งมีน้ำตาลมาก ไม่ควรใช้น้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

10. เครื่องดื่ม

          เนื่องจากความสามารถในการขับปัสสาวะของผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังนั้นจะลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการบวม มีความดันโลหิตสูง หากมีอาการบวมน้ำ ให้ดื่มน้ำไม่ควรเกินวันละ 700-1,000 ซี.ซี. หรือ 3-4 แก้วต่อวัน แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการบวม สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ

          น้ำดื่มที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด คือ น้ำเปล่า หรือหากอยากดื่มน้ำสมุนไพร ก็พอดื่มได้บ้าง แต่ต้องไม่หวานจัด เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น ปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับความเสื่อมของไต

อาหารผู้ป่วยโรคไต

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตยังต้องปฏิบัติตัวด้วยการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น โดย

          - งดบุหรี่ กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นเหตุให้ไตรกลีเซอไรด์สูงได้

          - กินใยอาหารให้มาก อย่าปล่อยให้ท้องผูก เพราะหากขับถ่ายยากจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และยังมีผลต่อโพแทสเซียม อาจทำให้โพแทสเซียมถูกดูดซึมได้มากขึ้น

          - ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ

          - นอนหลับพักผ่อนให้สนิท โดยควรนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน และควรเข้านอนตั้งแต่ก่อน 4 ทุ่ม

          ทั้งนี้ กลุ่มงานโภชนวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี ยังได้จัดทำหนังสือตำรับอาหารสำหรับโรคไตเรื้อรัง เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยมีเมนูแนะนำ อาทิ

          - ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ผัดขี้เมา

          - ลาบไข่ขาว

          - ไข่ขาวราดหน้าเปรี้ยวหวาน

          - ทับทิมกรอบไข่ขาว

          - ผักม้วน 5 สี น้ำแดง

          สามารถติดตามเมนูและอ่านวิธีทำเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานโภชนวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี

          การรับประทานอาหารให้เหมาะสม จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตและช่วยให้เข้าสู่ระยะฟอกเลือดช้าลง อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องการรับประทานอาหารแล้ว ผู้ป่วยโรคไตควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ พยายามลดกิจกรรมหรือนิสัยที่อาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น เช่น งดสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น เช่น รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ตรวจสุขภาพประจำปี ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุด วันที่ 26 ธันวาคม 2559


ขอบคุณข้อมูลจาก
สสส.
กลุ่มงานโภชนวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี
โรงพยาบาลพระราม 9

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาหารผู้ป่วยโรคไต เลือกกินอะไรดี กินอะไรต้องระวัง ! อัปเดตล่าสุด 1 พฤษภาคม 2566 เวลา 07:46:42 670,095 อ่าน
TOP