เช็กสัญญาณโรคมะเร็งผิวหนัง เป็นแผลเรื้อรังไม่หาย ไฝเปลี่ยนไป อาจใช่ !

          อยู่ ๆ ไฝก็มีลักษณะเปลี่ยนไป หรือเป็นแผลฟกช้ำบนร่างกายนานแล้วไม่ยอมหาย สัญญาณใกล้ตัวแบบนี้อาจบ่งชี้ว่าเราเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังอยู่ก็เป็นได้

          แม้มะเร็งผิวหนัง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Skin Cancer จะไม่ค่อยเกิดกับคนไทยเท่าไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังเอาซะเลย เพราะเดี๋ยวนี้ปัจจัยหลาย ๆ อย่างในชีวิตประจำวันก็ทำให้เราเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าแต่ก่อน ดังนั้นหากมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับผิวหนังก็อย่าได้นิ่งนอนใจ พร้อมกับมาเช็กสัญญาณโรคมะเร็งผิวหนังเอาไว้ดีกว่า

มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังคืออะไร
   
          มะเร็งผิวหนังเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด โดยส่วนมากจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง ทั้งนี้มะเร็งผิวหนังมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ได้แก่

1. มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma-BCC)

          มะเร็งผิวหนังชนิดนี้พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในชาวตะวันตกที่มียีนส์ผิวขาว มักเกิดบนผิวหนังที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ พบได้ในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป


2. มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma-SCC)

          เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 มักเกิดกับผิวหนังบริเวณที่โดนแสงแดดประจำ แต่ก็สามารถเกิดได้กับผิวบริเวณที่ไม่โดนแสงแดดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวสีคล้ำ และพบได้ในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งเพศหญิงและเพศชาย

3. มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma)

มะเร็งผิวหนัง

          เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงมาก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย และเกิดได้กับคนอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่จะพบมากในอายุ 45-60 ปี
   
          ส่วนการแบ่งระยะของโรคมะเร็งผิวหนังก็จะเหมือนโรคมะเร็งอื่น ๆ คือ แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะด้วยกัน โดยวิเคราะห์ระยะของโรคได้จากขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง และการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จากนั้นจึงจะระบุได้ว่าเป็นมะเร็งผิวหนังระยะที่เท่าไร

มะเร็งผิวหนัง เกิดตรงส่วนไหนได้บ้าง
   
          โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบมะเร็งผิวหนังได้ที่ศีรษะ ประมาณ 80-90% และที่ใบหน้าในส่วนตา หู จมูก ประมาณ 65% ซึ่งมะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่เจริญอย่างช้า ๆ ไร้ทิศทาง และมีการแพร่กระจายไปทางกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก ดังนั้นหากตรวจเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ โอกาสในการรักษาก็จะยิ่งมากขึ้น

มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง เกิดจากอะไร

          สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า การระคายเคืองต่อผิวหนังเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังได้ โดยปัจจัจจัยที่ก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังก็มี ดังนี้

          - แสงแดดและรังสีอุลตราไวโอเลต ทั้ง UVA และ UVB
          - สารเคมี เช่น สารหนูที่ปนเปื้อนในยาหม้อ ยาสมุนไพร
          - แผลเป็นจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวกที่มีการระคายเคืองนาน ๆ อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้
          - หูด ไฝ ปาน อาจกลายเป็นมะเร็งได้
          - ไวรัสหูด (Human Papilloma Virus) บางชนิด
          - โรคทางพันธุกรรมบางโรค
          - ภาวะผิวเผือก ผิวขาวจนเกินไป
          - การได้รังสีรักษา
          - ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น คนที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
          - การสูบบุหรี่

มะเร็งผิวหนัง อาการเป็นอย่างไร
         
          เราจะสังเกตอาการมะเร็งผิวหนังได้อย่างไร กรมการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนังได้แจ้งจุดสังเกตอาการ ดังนี้
   
มะเร็งผิวหนัง
ภาพจาก กรมการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง

          หากมีอาการดังข้างต้น และเป็นแผลที่ไม่หายภายใน 4 สัปดาห์ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจอาการโดยเร็วที่สุด หรือหากพบว่ามีไฝเกิดขึ้นบนร่างกาย ก็อย่านิ่งนอนใจ        


มะเร็งผิวหนัง อันตรายขนาดไหน
   
          แม้มะเร็งผิวหนังจะมีความรุนแรงของโรคไม่เท่ามะเร็งชนิดอื่น ๆ เพราะมะเร็งบางชนิดก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากละเลยสัญญาณเตือน ปล่อยให้มะเร็งผิวหนังลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ ความรุนแรงของโรคก็จะยิ่งมากขึ้น การรักษาก็จะยากขึ้นไปตามลำดับ จนอาจอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นขอย้ำอีกทีว่าควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายให้ไว จะได้รักษาทันไม่ว่าโรคไหน ๆ ก็ตาม

มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง รักษาอย่างไร
   
          การรักษามะเร็งผิวหนังแพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็งผิวหนัง ขนาด และตำแหน่งของมะเร็ง แล้วจึงจะตัดสินใจเลือกวิธีรักษามะเร็งผิวหนัง แต่โดยทั่วไปการรักษามะเร็งผิวหนังก็จะคล้ายมะเร็งชนิดอื่น ๆ ดังนี้

1. กำจัดเซลล์มะเร็งร้ายด้วยการตัดออกให้หมด

          วิธีที่ดีที่สุดในการตัดต้นตอเซลล์มะเร็งคือการตัดเนื้อส่วนที่เป็นมะเร็งออกไปจากร่างกาย อย่างมะเร็งผิวหนังก็เช่นกัน หากตรวจพบว่าเซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แพทย์อาจทำการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็งบนผิวหนังออกไป

2. ฉายแสง ร่วมกับเคมีบำบัด       

          ในกรณีที่ตรวจพบว่ามะเร็งผิวหนังมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่น ๆ ก็อาจต้องผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นมะเร็งออก พร้อมกับฉายแสง ร่วมกับใช้วิธีเคมีบำบัดควบคู่กันไป

มะเร็งผิวหนัง ป้องกันอย่างไรดี
   
ครีมกันแดด

          เราสามารถป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

          - หลีกเลี่ยงแสงแดดจัดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น.
          - ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป โดยเฉพาะหากต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ ควรทากันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
          - ไม่ควรใช้ยาหม้อ ยาสมุนไพร โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
          - หมั่นสังเกตไฝ หูด ก้อนเนื้อบนร่างกาย หากพบว่ามีความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์
          - หากมีแผลเรื้อรัง และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์

          สิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งผิวหนังก็คือการดูแลตัวเองให้ดี ฟิตร่างกายให้สมบูรณ์ แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ แม้จะไม่มีไฝ หูด ก้อนเนื้อ แต่หากเป็นแผลนานแล้วไม่หาย ก็ต้องเอะใจแล้วไปพบแพทย์ด้วยนะคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง, โรงพยาบาลผิวหนัง อโศก, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลเปาโล, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กสัญญาณโรคมะเร็งผิวหนัง เป็นแผลเรื้อรังไม่หาย ไฝเปลี่ยนไป อาจใช่ ! อัปเดตล่าสุด 5 มิถุนายน 2563 เวลา 11:02:44 65,913 อ่าน
TOP
x close