x close

มะเร็งผิวหนัง BCC อันตรายที่ต้องระวังจากแสงแดดจัด

 มะเร็งผิวหนัง

          มาทำความรู้จักกับมะเร็งผิวหนังชนิด BCC ที่เกิดขึ้นจากการตากแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ ให้มากขึ้น เพื่อหาทางป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงค่ะ

          ในปัจจุบันนี้มะเร็งผิวหนังเริ่มเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมากขึ้น สืบเนื่องมากจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และแสงแดดที่ดูเหมือนจะร้อนแรงขึ้นทุกวัน ๆ โดยมะเร็งผิวหนังถูกแบ่งออกเป็นหลายชนิด ซึ่งชนิดที่คนไทยสามารถพบได้บ่อยก็คือ Basal Cell Carcinoma (BCC) และ Squamous Cell Careinoma (SCC) แต่ในวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปรู้จักกับมะเร็งผิวหนังชนิด BCC หรือ Basal Cell Carcinoma กันให้มากขึ้น ว่ากันว่ามะเร็งผิวหนังชนิดนี้เกิดจากการตากแดดแรง ๆ เป็นเวลานาน ซึ่งคนที่อยู่เมืองร้อนอย่างประเทศไทยก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเลย

มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma (BCC) คืออะไร

          มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma หรือที่มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า มะเร็งผิวหนังชนิด BCC เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ที่อายุน้อยกว่านี้เช่นเดียวกัน มะเร็งผิวหนังชนิดนี้จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

          - Nodular BCC
          - Pigmented BCC
          - Superficial BCC
          - Morpheaform BCC
          - Fibroepithelioma of Pinkus (FEP)

          มะเร็งผิวหนังชนิด BCC นี้เป็นโรคมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงต่ำและไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่ระบบโลหิต จึงไม่ทำให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่อาจจะลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองได้ จึงไม่ควรจะชะล่าใจและรีบทำการรักษาก่อนจะลุกลามนะคะ

สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง BCC

          มะเร็งผิวหนังชนิด BCC มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาจากการตากแสงแดดจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติผิวไหม้แดดในวัยเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ คนที่มีผิวขาว คนที่มีผมสีแดงหรือมีกระ หรือผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่เคยมีประวัติเป็นโรคผิวหนัง แม้แต่ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีหรือได้รับสารหนูเป็นเวลานานก็ทำให้เสี่ยงได้เช่นกันค่ะ โดยโรคนี้เกิดจากการที่ Basal Cell ในชั้นล่างสุดของหนังกำพร้าเจริญเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ จนทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่บริเวณผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง

กลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนัง BCC

          โรคนี้สามารถเกิดได้กับคนที่ต้องสัมผัสแสงแดดบ่อย ๆ แต่คนเอเชียที่มีผิวสีเข้มมีโอกาสเป็นน้อยกว่าคนยุโรปผิวสีอ่อน โดยที่มีรายงานว่า แม้โรคมะเร็งผิวหนังชนิดนี้จะไม่ค่อยพบในเด็ก แต่ก็สามารถพบได้บ้างในวัยรุ่น และคนไข้ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี ก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมะเร็งชนิด BCC ก็มักจะเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนที่รับแสงแดดมาก โดยเฉพาะใบหน้า หู คอ หนังศีรษะ ไหล่ และหลัง แต่บางทีก็เกิดกับแผลเปิดที่เรื้อรัง หรือในบริเวณที่ผิวอักเสบเป็นเวลานานค่ะ

อาการของโรค

          อาการของมะเร็งผิวหนังชนิด BCC โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการเกิดบริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อสีคล้ำ เริ่มแรกอาจจะมองดูเหมือนกระ แต่จะมีการเติบโตเร็วและแตกเป็นแผลเรื้อรังได้ นอกจากนี้ลักษณะของมะเร็งผิวหนัง BCC ยังมีแบ่งย่อยออกไปได้อีกดังนี้

          * Nodular BCC เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบบ่อยที่สุด โดยแผลจะเป็นก้อนนูนขรุขระ มีขอบนูนม้วน ตรงกลางอาจแตกเป็นแผล

          * Pigmented BCC เป็นชนิดย่อยลงมาจาก nodular BCC แผลมีสีดำสนิทที่สุด เป็นก้อนนูนขรุขระ มีขอบนูน

          * Superficial BCC มะเร็งชนิดนี้มักจะพบตามลำตัว มีแผลลักษณะเป็นผื่นแดงนูนหนาขอบเขตชัดเจน มองผิวเผินคล้ายผื่นผิวหนังอักเสบ

          * Morpheaform BCC เป็น มะเร็งผิวหนังชนิด BCC ที่ลุกลามและอันตรายที่สุด โดยแผลมองคล้ายแผลเป็นแบนๆ หรือนูนเล็กน้อย มีสีออกขาวคล้ายสีงาช้าง

          * Fibroepithelioma of Pinkus (FEP) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งสีออกชมพู ส่วนใหญ่มักพบที่หลัง ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสีที่ไม่มีสี

มะเร็งผิวหนัง

วิธีการรักษา

          มะเร็งผิวหนังชนิด BCC เป็นชนิดของมะเร็งที่อาการมักจะลุกลามลึกลงไปเฉพาะที่ แต่ไม่มีการแพร่กระจาย ซึ่งถ้าหากกลับมาเป็นซํ้าหลังการรักษา ก็อาจจะทําให้มะเร็งมีความรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นเป้าหมายการรักษาคือการกําจัดต้นตอของโรคให้ออกให้หมดตั้งแต่แรก ซึ่งวิธีรักษาก็มีหลายวิธีได้แก่

          - การใช้ความเย็น (cryotherapy)
          - การขูดออกแล้วจี้ตามด้วยไฟฟ้า curettage, electrodesiccation, radiation therapy
          - การผ่าตัด (wide excision)
          - การผ่าตัดด้วยวิธี Mohs micrographic surgery (MMS)

          โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งผู้ป่วย, ชนิดของ BCC และแพทย์ผู้รักษา โดยปัจจัยจากผู้ป่วย ก็ได้แก่ อายุ การวินิจฉัยร่วม เป็นต้น ส่วนปัจจัยจากแพทย์ ก็ขึ้นกับความชํานาญและความสามารถของแพทย์ของแต่ละท่าน ในการทําหัตถการแต่ละชนิด โดยมีการศึกษาพบว่า MMS มีอัตราการกลับซํ้าน้อยสุดเพียง 1% ส่วนการใช้ความเย็น การขูดออกแล้วจี้ตามด้วยไฟฟ้า เหมาะสําหรับรอยโรคขนาดเล็กขอบเขตชัดเจนและอยู่ตื้น ขณะที่การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักกรณีที่แนะนําให้ตัด ส่วนการฉายรังสีเหมาะสําหรับในรายที่ไม่สามารถทําการผ่าตัดได้เท่านั้น ส่วนการผ่าตัดโดยวิธี MMS เหมาะสําหรับ BCC ที่ร้ายแรง นอกจากนี้การติดตามผู้ป่วยหลังการรักษาเป็นสิ่งสําคัญเพื่อติดตามว่ามีการเกิดซํ้าหลังการรักษาหรือไม่ เนื่องจากมีโอกาสถึง 45% ที่จะเป็น Recurrent BCC ใหม่ภายใน 5 ปีหลังการรักษา

วิธีการป้องกัน

          วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และไม่ตากแดดเป็นเวลานาน แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานก็ควรสวมหมวก กางร่ม ใส่แว่นกันแดด สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว โดยใส่เสื้อผ้าสีอ่อน และการทาครีมกันแดด ซึ่งจะต้องมีค่าป้องกันแสงแดด เอสพีเอฟ (SPF, Sun protection factor, ป้องกันแสงชนิด ยูวีบี/UVB เป็นส่วนใหญ่) ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป และค่าพีเอ (PA,Protection grade for UVA,ป้องกันแสงชนิดยูวีเอ/UVA เป็นส่วนใหญ่) +++ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิเช่น การสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ เรื้อรัง และการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือ โรคเอดส์ อีกด้วยค่ะ

          โรคมะเร็งผิวหนังชนิด BCC แม้จะไม่ใช่โรคที่เป็นอัตราย แต่ก็ไม่ควรที่จะประมาท เพราะเจ้าโรคนี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึงแม้รักษาหายแล้ว ทางที่ดีเราก็อย่านำพาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงเลยจะดีกว่าเนอะ เพราะถ้าหากเป็นแล้วไม่ใช่แค่เพียงเงินทองเท่านั้นที่เราจะเสีย แต่ยังเสียเวลา และเสียสุขภาพของเราอีกด้วย ฉะนั้นถ้าวันนี้จะออกไปไหนมาไหนกลางแดดละก็ หยิบหมวกหรือไม่ก็ร่มไปด้วยจะดีกว่านะคะ 
 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, haamor.com 








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งผิวหนัง BCC อันตรายที่ต้องระวังจากแสงแดดจัด อัปเดตล่าสุด 1 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 15:12:03 16,232 อ่าน
TOP