มะเร็งไฝ เม็ดผิวหนังที่ขึ้นอยู่ตามร่างกาย จุดดำ ๆ ที่เป็นไฝหรือขี้แมลงวัน อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว
มะเร็งผิวหนังในรูปแบบไฝมะเร็งที่เคยได้ยินกัน
อาจทำให้คนที่มีไฝบนร่างกายเกิดข้อสงสัยขึ้นมาได้ว่า
ต้องดูยังไงถึงรู้ว่าไฝนั้นอาจเป็นเซลล์ของมะเร็งร้าย
หรือเป็นไฝที่ไม่ก่ออันตรายใด ๆ ซึ่งวันนี้คนมีไฝจะหายข้องใจกันแล้วล่ะค่ะ
เพราะเราได้นำข้อสังเกตไฝว่าแบบไหนเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงมะเร็งผิวหนังมาฝาก
จะรอช้าอยู่ทำไม ไปเช็กไฝกันเลย
ไฝ (Melanoma) เกิดจากการรวมตัวกันของสารเมลานิน หรือเซลล์ผิวหนังซึ่งมีหน้าที่สร้างสารสีดำไว้เพื่อปกป้องผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งไฝที่เกิดขึ้นบนผิวหนังมีโอกาสเกิดความผิดปกติอย่างมะเร็งผิวหนังได้ โดยอาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น ผิวหนังถูกแสงแดดจัด ๆ ทำร้ายติดต่อกันนานแรมปี หรือถูกสารเคมีสะสม
นอกจากนี้ไฝที่ไม่ก่ออันตรายยังอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน โดยหากไฝนั้นมีการเสียดสีจากเสื้อผ้าเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งผิวหนังในที่สุด
ไฝแบบไหน อาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง
นอกจากการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อที่เป็นไฝไปตรวจพิสูจน์แล้ว เรายังสามารถสังเกตความผิดปกติของไฝที่อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งผิวหนังได้จากสัญญาณต่อไปนี้
ภาพจาก National Cancer Institute
1. ไฝมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น
2. ไฝมีสีเข้ม ดำสนิท หรือมีสีไม่สม่ำเสมอ
3. ไฝที่มีลักษณะขรุขระ ขอบไฝไม่เรียบ
4. ส่วนตรงกลางของไฝจะหนานูน ต่างกับด้านข้างของเม็ดไฝที่มีรอยบุ๋มเป็นวงโดยรอบ
5. ไฝที่มีเม็ดไฝเล็ก ๆ กระจายอยู่โดยรอบ
6. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของไฝใหญ่กว่าขนาดของยางลบติดปลายดินสอ
ทั้งนี้หากพบไฝบริเวณริมฝีปาก ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และไฝเม็ดนั้น ๆ มีขนาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เคสนี้ต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่ไฝจะพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังค่อนข้างสูง
ได้ทราบกันไปแล้วว่าไฝแบบไหนจะเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง คราวนี้มาตามดูปัจจัยที่ทำให้บุคคลเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนังกันบ้าง เช็กซิคุณมีปัจจัยเสี่ยงตามนี้หรือเปล่า
1. ผิวขาวจัด หรือเป็นคนเผือก
2. ตากแดดจัด ๆ เป็นประจำ หรือค่อนข้างบ่อย และแต่ละครั้งที่ออกแดดจะตากแดดเป็นเวลานาน
3. ถูกแสงแดดทำร้ายผิวมากจนเกินไป
4. อยู่ในพื้นที่แดดจัด และอยู่ในเขตร้อน
5. มีไฝบนร่างกาย
6. มีรอยโรคมะเร็งผิวหนังมาก่อน หรือมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
7. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
8. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
9. ผิวหนังถูกรังสีอัลตราไวโอเลตทำร้ายอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
10. เคยเข้ารับบริการทำสีผิวแทน ด้วยเครื่องฉายแสงทำสีแทนเทียม
11. เคยเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสี
12. ได้รับสารหนูสะสมอย่างต่อเนื่องยาวนาน
13. คนที่เป็นโรคหนังแข็ง
14. อยู่ในพื้นที่ที่มีสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ
คนที่มีไฝอยู่ตามร่างกายก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเครียดเกินไป ค่อย ๆ ลองสังเกตดูสิว่าไฝของคุณมีลักษณะผิดปกติหรือเข้าข่ายไฝก่อมะเร็งมากน้อยแค่ไหน หรือหากไม่มั่นใจลองไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก็จะชัวร์กว่าค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
University Of Utah Health Care
Southern Tier Dermatology & Aesthetics