โรค มะเร็งผิวหนัง คุณเสี่ยงแค่ไหน?



โรคมะเร็งผิวหนัง ...คุณเสี่ยงแค่ไหน? (Lisa)

          การโดนแดดมากๆ ผิวไหม้แดดบ่อยตั้งแต่เด็ก การเปลี่ยนไปของภาวะโลกร้อน ยาสมุนไพรที่มีสารหนู พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นปัจจัยให้เป็น มะเร็งผิวหนัง ได้ทั้งนั้น

          ดาราสาว นิโคล คิดแมน เคยเป็น มะเร็งผิวหนัง ชนิด Melamoma ที่ขา แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็จำเป็นต้องเอาออกเพื่อไม่ให้ลุกลามต่อไป ทั้งนี้ โรค มะเร็งผิวหนัง มักพบในชาวตะวันตกที่มีผิวขาว แต่ก็พบได้ในคนไทยและพบในคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น พญ.ประภาวรรณ เชาวะวณิช แพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษ สถาบันโรคผิวหนัง จึงได้ตอบข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ

Q : โรคมะเร็งผิวหนัง เกิดขึ้นได้อย่างไร

          A : เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหารและยา รวมทั้งแสงแดดด้วยในเรื่องพันธุกรรมนั้นก็คือ ปกติเมื่อผิวโดนแสงแดดผิวหนังก็จะมีการซ่อมแซมนี้เสียไป ก็จะมีความเสี่ยงกับ มะเร็งผิวหนัง มากกว่าปกติ

Q : ยาเกี่ยวข้องกับ มะเร็งผิวหนัง อย่างไร

          A : คือสมัยก่อนมีการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งมีสารหนูปนเปื้อน เมื่อคนใช้กินไปนานๆ ก็จะปรากฏที่ผิวหนัง แล้วก็กลายเป็น มะเร็งผิวหนัง ได้ เพราะจากการชักประวัติคนไข้มักพบว่าคนไข้เคยกินยาสมุนไพร ยาหม้อ หรือยาต้มมาก่อน

Q : คนไทยมักเป็น มะเร็งผิวหนัง ในช่วงวัยใด

          A : เมื่อก่อนมักพบในคนไข้ที่มีอายุมาก แต่ปัจจุบันพบคนไข้โรค มะเร็งผิวหนัง อายุน้อยลง คืออายุประมาณ 30 กว่าปี และยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร แต่ก็พบประวัติว่าเคยโดนแสงแดดมามากทั้งๆ ที่เป็นคนมีผิวค่อนข้างคล้ำ จึงเป็นข้อเตือนใจว่าคนผิวคล้ำก็เป็น มะเร็งผิวหนัง ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนผิวขาวเท่านั้น ส่วนคนทั่วไปเมื่อมีอายุมากขึ้น กลไกร่างกายจะไม่ดีเหมือนคนวัยหนุ่มวัยสาว คนวัยชราจึงมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าคนอายุน้อย คือไม่จำเป็นต้องโดนแสงแดดมากเท่านั้น




Q : นอกจากผู้สูงอายุแล้ ยังมีบุคคลประเภทใดที่เสี่ยงกับ มะเร็งผิวหนัง ได้อีก

          A : ส่วนใหญ่มักเป็นคนผิวขาวอย่างขาวตะวันตกผู้ที่มีผิวไหม้แดดบ่อยเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือผู้ที่มีไฝจำนวนมาก คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง หรือในกรณีที่ไฝเปลี่ยนไป ทั้งสี ขนาด หรือมีเลือดออกและรักษาไม่หาย ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง

Q : แล้วคนไทยควรป้องกัน มะเร็งผิวหนัง อย่างไรดี

          A : ต้องพยายามหลบแดดในช่วงที่รังสียูวีแรง คือช่วงเวลา 10.00-15.00 น. โดยเฉพาะในเมืองไทยแสงแดดจะแรงตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็น จึงควรหลบแดด เช่นใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม เพราะถึงแม้จะทาครีมกันแดดก็ยังต้องป้องกันตัวเองจากรังสียูวีอีกชั้นหนึ่ง โชคดีที่คนไทยไม่นิยมอาบแดดก็จะมีความปลอดภัยกว่าในขณะที่ผิวของฝรั่งมีเม็ดสีเมลานินน้อยกว่าคนไทยคือเม็ดสีเมลานินจะช่วยกรองแสงยูวีระดับหนึ่ง เมื่อฝรั่งมีเม็ดสีเมลานินน้อยกว่าแล้วชอบอาบแดด ก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงกับการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น

Q : ลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็น มะเร็งผิวหนัง

           A : มะเร็งผิวหนัง หลักๆ ที่พบคือ Basal Cell Carcinoma และ Squamous Cell Carcinoma เมื่อชักประวัติคนไข้บางรายก็จะพบว่าเป็นตุ่มเหมือนเม็ดสิวนานหลายปี แล้วก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma จะเป็นแบบช้าๆ ไม่ค่อยอันตรายมาก แต่ถ้าทิ้งไว้นานก็จะทำให้เป็นมากขึ้นหรืออีกชนิดหนึ่งคือไฝกลายเป็นมะเร็ง โดยสังเกตจากไฝที่โตเร็ว สีไฝเปลี่ยนไป เจ็บ หรือมีเลือดออกต้องสงสัยไว้ก่อนและควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจดู คือถ้าเป็นตุ่มที่ผิดปกติ เป็นนานและขยายใหญ่ขึ้น ไม่หาย ไม่ว่าจะเป็นตุ่มที่มีสีหรือไม่ก็ตาม ให้สงสัยไว้ก่อน เพราะมะเร็งบางชนิดเป็น Melanoma ที่ไม่มีสีก็มี มะเร็งผิวหนังชนิด Squamous Cell Carcinoma และ Basal Cell Carcinoma ที่พบส่วนใหญ่มักพบนอกร่มผ้า บริเวณที่โดนแดดแต่ก็พบในร่มผ้าได้โดยเฉพาะคนที่เคยได้รับสารหนู

Q : การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดป้องกัน มะเร็งผิวหนัง ได้มากน้อยแค่ไหน

          A : ครีมกันแดดไม่อาจป้องกัน มะเร็งผิวหนัง ได้รอยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งโดยที่เราควรต้องหลบแดดในช่วงที่แดดร้อนแรง นอกจากโรค มะเร็งผิวหนัง แล้ว แสงแดดแรงๆ ยังทำให้เป็นฝ้า กระรอยด่างดำ จึงควรทาครีมกันแดดและหลบแดดด้วย

Q : มีวิธีรักษา มะเร็งผิวหนัง มีกี่อย่าง

          A : มีวิธีรักษาหลายวิธีซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและระยะที่เป็น คือถ้าเป็น มะเร็งผิวหนัง ส่วนบนอาจจะพ่นไอเย็น (Cryotherapy) หรือตัดรอยโรคทิ้ง หรือถ้าบางคนเป็นในตำแหน่งที่อันตราย หรือเป็นแบบลึกก็จะมีวิธีพิเศษที่เรียกว่า Mohs Surgery

Q : มะเร็งผิวหนัง จะลุกลามและเป็นอันตราย

          A : ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง คือถ้าเป็นชนิด Basal Cell Carcinoma ก็จะใช้วิธีรักษาแบบ Mohs Surgery ได้ผลดี 99% ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด ชนิด และตำแหน่งคือแค่ตัดออกเท่านั้น แต่ถ้าเป็น Melanoma แบบไฝดำหรือ Squamous Cell Carcinoma จะค่อนข้างอันตรายคือมีการดำเนินโรคเร็ว แพร่กราจายเร็วไปยังอวัยวะภายในได้ จึงต้องตัดออกและตรวจคัดกรองขั้นต่อไป

Q : การมีไฝบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น บริเวณขอบเสื้อใน ขอบกางเกง ควรเอาออกดีมั้ย

          A : เอาออกก็ดี คือไฝบางชนิดควรตัดออกเพราะมันมีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ แต่ถ้าเป็นไฝเม็ดเล็กเม็ดน้อยก็ไม่ค่อยมีความเสี่ยง ไฝที่มีความเสี่ยงสูงก็คือไฝที่มีลักษณะแบบปานดำตั้งแต่เกิดและมีขน

Q : ภาวะโลกร้อนมีผลทำให้เป็น มะเร็งผิวหนัง มากขึ้นมั้ย

          A : อาจมีผลในแง่ที่ว่า แสงยูวีจะลงมาบนพื้นโลกมากขึ้น เพราะชั้นบรรยากาศบางลง ถ้าเรารับแสงยูวีมากขึ้น ก็จะมีความเสี่ยงกับการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้นด้วย

Q : แล้วสารเคมีทำให้เป็น มะเร็งผิวหนัง ได้มั้ย

          A : เป็นได้โดยเฉพาะสารหนู

Tips

วิธีสังเกตไฝ 

          หากไฝเปลี่ยนไป เป็นสัญญาณอันตราย คุณควรตรวจไฝที่ผิวหนังเป็นประจำสม่ำเสมอ รวมทั้งไฝที่เท้าและนิ้วเท้าด้วย

          หากเป็นไฝต้องมีสีเดียว หากมีสีน้ำตาลปนดำหรือสีแดงให้สงสัยไว้ก่อน 

          ไฝต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน 

          หากไฝมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 5 มม. หรือโตขึ้นเรื่อยๆ ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง 

อาหารปกป้องผิวหนัง 

          ผักช่วยป้องกันผิวจากอันตรายของแสงแดดได้ส่วนหนึ่ง เช่น...

          มะเขือเทศ มีสารไลโคปืนในการต่อสู้กับรังสีอัลตร้าไวโอเลตและปกป้องผิวได้บ้าง ควรหุงต้มมะเขือเทศหรือกินซอสมะเขือเทศ และรับประทานร่วมกับไขมันก็จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมไลปืนได้ดียิ่งขึ้น 

          แครอต มีเบต้าแคโรทีนซึ่งจะช่วยป้องกันรังสียูวี และมีกรดโฟลิกที่จะช่วยสร้างเซลล์ผิวข้อแนะน้ำก็คือ ควรนึ่งแครอตและและเหยาะน้ำมันเล็กน้อยเพื่อช่วยในการดูดซึม

ข้อแนะนำจาก พญ.ประภาวรรณ เชาวะณิช

          ครีมกันแดดปกป้องผิวได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องหลบแดดด้วย ถ้ามีอาการผิดปกติก็ต้องรีบไปพบแพทย์ คือถ้าพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก็จะง่ายต่อการรักษาเพราะคนไข้บางคนจะอาย ไม่ยอมมาตรวจหรือบางคนไม่แน่ใจ คิดว่าเป็นเม็ดสิว เป็นมานาน โตช้า จึงไม่สนใจควรต้องหมั่นมาตรวจเพราะพบมะเร็งผิวหนังมากขึ้นและพบในคนอายุน้อยลง ส่วนเรื่องสมุนไพรก็ควรเลือกที่มีมาตรฐานรับรอง ไม่ซื้อยาหม้อหรือยาต้มกินเองเพราะเราไม่รู้ว่ามีสายหนูหรือไม่



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรค มะเร็งผิวหนัง คุณเสี่ยงแค่ไหน? อัปเดตล่าสุด 30 เมษายน 2558 เวลา 10:30:59 9,238 อ่าน
TOP
x close