11 โรคหน้าร้อนที่พบได้บ่อย รู้ไว้หน่อย จะได้ป้องกันก่อนป่วย !

          โรคหน้าร้อนที่คนไทยต้องระวัง เพราะความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวและอาการเจ็บป่วยแบบนี้ มันมากับความร้อน



          ชาวเมืองร้อนอย่างเรา ๆ นอกจากจะต้องรับมือกับอากาศร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังต้องระวังโรคหน้าร้อนให้ดี เพราะอากาศที่อบอ้าวแบบนี้แหละ เป็นบ่อเกิดของโรคหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคที่มากับความร้อนโดยตรง หรือโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ว่าแต่มีโรคที่มากับฤดูร้อนอะไรบ้างที่พบได้บ่อยและเราควรระวังไว้ จะได้ปลอดภัยต่อโรคภัยไข้เจ็บตลอดซัมเมอร์ กระปุกดอทคอมรวบรวมมาเตือนกันตรงนี้แล้ว

โรคหน้าร้อน โรคที่มากับฤดูร้อน มีอะไรบ้าง


1. ผิวหนังไหม้แดด


          ร้อนจัดแบบนี้ใครจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ เห็นทีต้องระวังอาการผิวแสบร้อนจากแดดให้มาก โดยอาการไหม้แดดจะเกิดเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสีผิวของแต่ละคน ยิ่งผิวขาวมากเท่าไรก็จะยิ่งไหม้เร็วเท่านั้น อาการจะเริ่มจากคันผิว ผิวแสบแดง ปวดแสบปวดร้อน ผิวบวมแดง ไปถึงขั้นพุพองเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ซึ่งถ้ามีอาการถึงขั้นนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะหากแผลแตกจะทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังได้เลย

          วิธีป้องกันก็คือ พยายามอย่าอยู่กลางแดดจัด และต้องไม่ลืมทาครีมกันแดดแม้จะไม่ได้อยู่กลางแจ้ง เพราะรังสียูวีสามารถสะท้อนจากพื้นขึ้นมาทำลายผิวได้อยู่ดีนะคะ แต่ถ้าใครมีอาการผิวแสบร้อนจากแดดแล้วอยากรู้ว่าควรจะรักษาอย่างไร เราก็มีคำตอบมาบอกกันตรงนี้ด้วย

          - ผิวแสบร้อนจากแดด รักษาง่าย ๆ ด้วยวิธีใกล้ตัว 
          - ผิวไหม้แแดดอย่าได้แคร์ ฟื้นฟูง่าย ๆ ด้วย 9 สูตรธรรมชาติ 
          - ผิวเสียจากแดด ดำ คล้ำ หยาบกร้าน ปัญหานี้แก้ได้ 
 

2. โรคลมแดด หรือฮีตสโตรก


โรคหน้าร้อน

          ทุกปีเราจะได้ยินข่าวมีคนเสียชีวิตด้วยโรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป เช่น การตากแดดนาน ๆ ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 17-70 เลยทีเดียว

          โดยอาการที่สังเกตได้ คือ จะไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน อาจมีอาการทางสมอง เช่น เห็นภาพหลอน สับสน ชักหรือหมดสติ ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจำเป็นต้องหยุดพักทันที และรีบพบแพทย์โดยด่วน

          ถ้าไม่อยากเป็นโรคดังกล่าว ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด

          - รู้จัก ฮีตสโตรก โรคที่เกิดช่วงหน้าร้อน 
          - 10 วิธีป้องกันเป็นลมแดด (ฮีตสโตรก) ถ้าต้องตากแดดร้อนจัดนาน ๆ 

3. เพลียแดด


          สาเหตุเกิดจากการอยู่ในสภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึง 40 องศาเซลเซียสเหมือนกับโรคลมแดด แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้รู้สึกปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นตะคริวและมีไข้ได้ แต่คนมีอาการเพลียแดดยังคงมีสติอยู่ และเป็นสัญญาญเตือนว่า ต้องรีบแก้ไขก่อนที่จะเกิดลมแดด ซึ่งอันตรายมากกว่าเพราะทำให้เสียชีวิตได้

4. ผดร้อน


โรคหน้าร้อน

          ตุ่มเล็ก ๆ แดง ๆ ที่ขึ้นตามผิวหนัง อาจไม่ใช่อาการแพ้เหงื่อ แต่เป็นผดร้อนที่เกิดขึ้นได้จากการอุดตันของต่อมเหงื่อในสภาพอากาศร้อนเช่นนี้ โดยส่วนใหญ่มักจะขึ้นในบริเวณตามซอกต่าง ๆ ของร่างกายที่เสียดสีกัน อาทิ บริเวณต้นขาด้านใน ใต้รักแร้ หัวเข่า เป็นต้น ถึงจะเป็นอาการทางผิวหนังที่ไม่อันตราย แต่ก็ก่อให้เกิดอาการคันหรือแสบได้

          อย่างไรก็ตาม อาการผดร้อนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง และป้องกันได้ด้วยตามวิธีต่อไปนี้

          - ผดร้อน อาการทางผิวหนังจากอากาศร้อน รู้จักไว้ก็ป้องกันได้ 
          - 15 สมุนไพรแก้ผดผื่นคันหน้าร้อน หายได้ด้วยของดีใกล้ตัว 


5. อาหารเป็นพิษ 

โรคหน้าร้อน

          อาหารเป็นพิษเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในช่วงหน้าร้อนที่เราเผลอทานอาหารปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอาหารที่ทำล่วงหน้านาน ๆ เช่น ข้าวกล่อง หรืออาหารค้างคืนที่ไม่ได้เก็บแช่ไว้ในตู้เย็น อาการของโรคมักเกิดขึ้นภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อเข้าไป เริ่มตั้งแต่มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ถ้าถ่ายอุจจาระมากจะเกิดอาการขาดน้ำและสารเกลือแร่ในร่างกาย ร่างกายอ่อนเพลีย

          หากพบว่ามีอาการในระยะแรก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมาก ๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โดยห้ามกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะเป็นการกักเชื้อให้อยู่ในร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากเกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก อาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้

          วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษ คือควรกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่ทานอาหารที่เก็บไว้ค้างคืนนาน ๆ เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคโดยไม่จำเป็น

          - ทำอย่างไรดี...เมื่ออาหารเป็นพิษ 
          - 10 เมนูต้องระวัง ทานแล้วเสี่ยงอาหารเป็นพิษ 

6. โรคบิด


          เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน เพราะติดต่อได้ง่ายจากการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคเข้าไป ซึ่งแม้มีเชื้อโรคเพียง 10-100 ตัว ก็ทำให้มีอาการได้แล้ว โดยจะรู้สึกปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายกับอาการถ่ายอุจจาระไม่สุด ถ่ายออกมาเป็นมูกหรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องแบบเบ่งร่วมด้วย

          แม้โรคบิดจะพบได้มาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท แต่ก็สามารถป้องกันได้ไม่ยาก โดยการบริโภคอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำคลองและน้ำดิบ นอกจากนี้ควรขับถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระกระจายออกไป

7. โรคอุจจาระร่วง 


โรคหน้าร้อน

          เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ เชื้อก่อโรคเหล่านี้สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปเช่นกัน อาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นอาการสำคัญของโรคอุจจาระร่วง อาจถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด โดยทั่วไปมักจะอาเจียนร่วมด้วย ความรุนแรงของอาการแตกต่างกันได้มาก บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางรายอาจมีอาการรุนแรงมาก ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันที

          ทั้งนี้หากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายมาก ๆ ควรทานผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) หรือต้มน้ำเกลือดื่มเองโดยใช้น้ำสุก 1 ขวด (750 มล.) ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะและเกลือครึ่งช้อนชา ดื่มทดแทนการเสียน้ำ

          - อุจจาระร่วง ใครว่าไม่อันตราย ไม่ระวังก็ถึงตายได้เหมือนกัน 
 

8. อหิวาตกโรค  


          อหิวาตกโรค (Cholera) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในลำไส้ ทำให้เกิดท้องร่วงเฉียบพลันอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วจนเข้าขั้นอันตราย ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ในรายที่มีอาการรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจจะทำให้เสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมงได้เลย ถือเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523

          โรคนี้ติดต่อได้จากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ปะปนอยู่ พบมากในอาหารทะเลดิบ หรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแสดงอาการขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมงถึง 5 วัน อาจเริ่มจากถ่ายอุจจาระเหลววันละหลายครั้ง มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หรือในบางคนมีอาการรุนแรงกว่านั้น เช่น ท้องเดิน ถ่ายคล้ายน้ำซาวข้าว มีมูกมาก มีกลิ่นคาว อาจจะถ่ายได้โดยที่ไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งอาจจะถ่ายออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว หากเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจอาการของโรคนี้ให้ชัดเจน

          - อหิวาตกโรค โรคระบาดที่ยังอันตราย ชะล่าใจอาจเสียชีวิต 

9. ไข้ไทฟอยด์ 


          ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย ติดต่อจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาหารที่ทำให้เกิดโรคคือ อาหารจำพวกนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีไข้สูง ทานยาลดไข้ไม่หาย ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา โรคจะดำเนินสู่ระยะที่ 2 คือ ไข้จะขึ้นสูง 40 องศาเซลเซียส หัวใจเต้นช้า เพ้อ บางครั้งรู้สึกกระสับกระส่าย หรืออาจปรากฏจุดแดงคล้ายยุงกัดที่หน้าอกส่วนล่างและท้อง เกิดอาการท้องเสียถ่ายบ่อยเป็นสีเขียว ม้ามและตับโตกว่าปกติ กดแล้วเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือท้องน้อยด้านขวา

          ส่วนการรักษาและป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์จะทำได้อย่างไร ลองมาติดตามจากกระทู้นี้ต่อค่ะ
          - รู้จัก ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย 

10. ไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ 


ไวรัสตับอักเสบเอ

          ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ สามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร ดื่มนม หรือน้ำที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งอย่างน้ำลาย หรืออุจจาระของคนที่มีเชื้อโรคนี้ (ไม่ต่างจากการติดต่อของโรคบิด อหิวาต์ และไทฟอยด์) ดังนั้นหากกินอาหารร่วมกับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ โดยไม่ใช้ช้อนกลาง หรือแม้กระทั่งดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้หลอดร่วมกันกับผู้มีเชื้อก็อาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ รวมไปถึงการทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุกดี เช่น นม สลัด หอยปรุงไม่สุก

          อาการที่พบได้ก็คือ จะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายภายในท้อง จากนั้นก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด ในบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย อย่างไรก็ตามคนที่เป็นโรคอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย 1-2 อาทิตย์ แต่กรณีที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการนานหลายเดือน มาดูวิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ซึ่งขอบอกว่าโรคนี้ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

          - ไวรัสตับอักเสบ เอ ดูดน้ำหลอดเดียวกันก็เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ๆ 

11. โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ


พิษสุนัขบ้า

          โรคนี้ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก โดยสัตว์นำโรคที่พบมากสุด คือ สุนัข รองลงมาเป็น แมว และอาจพบในสัตว์เลี้ยงอื่น เช่น หมู ม้า วัว ควาย และสัตว์ป่า เช่น ลิง ชะนี กระรอก กระแต ได้เช่นกัน

          เมื่อติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ผู้นั้นจะมีอาการ 3 ระยะคือ ปวดเมื่อยตัว มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบบริเวณที่ถูกกัด จากนั้นจะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท คือ หงุดหงิด กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวเสียง กลัวน้ำ น้ำลายไหล กลืนอาหารลำบาก บางรายอาจชัก เป็นอัมพาต หมดสติ


          ผู้ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการภายใน 15-60 วัน บางรายอาจนานเป็นปี ซึ่งเป็นที่น่าหนักใจที่โรคนี้ยังไม่มีตัวยารักษาโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเกือบทุกรายภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ ดังนั้นหากถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วรีบพบแพทย์ในทันที...

          - โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่อร้ายแรงที่อยู่ไม่ไกลตัว 

โรคหน้าร้อน ป้องกันได้ !


อากาศร้อน

          ตัดตัวเองออกจากกลุ่มเสี่ยงของโรคฤดูร้อนที่ว่ามานี้ได้ ด้วยการรักษาสุขอนามัยของตัวเองตามนี้เลย

          - ทานอาหารร้อน ปรุงสุกใหม่ ๆ เลี่ยงอาหารค้างคืน อาหารที่เสียง่าย
          - ใช้ช้อนกลาง
          - ล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
          - ดื่มน้ำสะอาด ไม่ดื่มน้ำดิบหรือน้ำคลอง โดยควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
          - ระวังเรื่องความสะอาดของน้ำแข็ง
          - ลดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะยิ่งอากาศร้อนมาก การดูดซึมแอลกอฮอล์จะสูง ร่างกายจะสามารถซึมผ่านแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน จนปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้น ปัสสาวะบ่อย ขาดน้ำ และน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ
          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
          - พักผ่อนให้เพียงพอ
          - ขับถ่ายในห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

          อยู่ในประเทศเขตร้อนชื้นแบบนี้ก็คงหนีอากาศร้อนไปไม่พ้น แต่จะทำอย่างไรให้ร่างกายของเราสู้กับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวและอยู่รอดปลอดสารพัดโรคในช่วงหน้าร้อนนี้ เราก็มีคำแนะนำดี ๆ มาฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับหน้าร้อน


          - ดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อน เตรียมให้พร้อมก็ลืมคำว่าป่วยไปได้เลย !
          - วิธีคลายร้อนง่าย ๆ รับมือซัมเมอร์สุดฮอต โอ๊ย...จะทนไม่ไหวแล้ว
          - วิธีคลายร้อนให้นอนหลับสบาย เอาตัวรอดได้แม้ปรอทแทบแตก
          - อาหารคลายร้อนสุดเด็ด จัดด่วน ๆ ก่อนร่างกายจะเพลียหนัก
          - ออกกำลังกายกลางอากาศร้อนจัด ฟังชัด ๆ อันตรายกว่าที่คิด !


ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป , สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
11 โรคหน้าร้อนที่พบได้บ่อย รู้ไว้หน่อย จะได้ป้องกันก่อนป่วย ! อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2567 เวลา 12:04:46 98,762 อ่าน
TOP
x close