x close

อาหารเป็นพิษ ความทรมานทางกาย เป็นแล้วกี่วันหาย กินอะไรได้บ้าง

          อาหารเป็นพิษ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อาการไม่สบายจากพิษของอาหาร รักษายังไงให้หาย ป่วยแล้วกินอะไร ไม่ควรกินอะไรบ้าง รู้ไว้จะได้ไม่ซ้ำเติมอาการให้หนักกว่าเดิม

          เคยได้ยินคำว่าอร่อยปาก ลำบากกายกันบ้างไหมคะ คำนี้นี่แหละที่อธิบายสภาวะอาหารเป็นพิษได้ตรงประเด็นที่สุด เพราะอาการอาหารเป็นพิษทั้งปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน บางคนถ่ายบ่อยมาก ๆ ไข้ก็ขึ้นไปอีก...ทรมานสุด ๆ ก็เมื่อป่วยอาหารเป็นพิษนี่แหละค่ะ

          เอ...แต่ถ้าป่วยอาหารเป็นพิษกี่วันถึงจะหาย ระหว่างอาหารเป็นพิษควรกินอะไร ไม่ควรกินอะไรบ้าง ที่สำคัญวิธีรักษาอาหารเป็นพิษควรทำยังไงดี มาอ่านกันเลยดีกว่า

อาหารเป็นพิษ คืออะไร


          อาหารเป็นพิษ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Food poisoning คือ อาการป่วยจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค หรือสารพิษบางชนิด ก่อให้เกิดอาการท้องเดิน และอาการป่วยอื่น ๆ ขึ้นได้

อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษ สาเหตุเกิดจากอะไร


          อาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมี โลหะหนัก เชื้อแบคทีเรียจากเนื้อสัตว์ พืชผักที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ รวมไปถึงอาจพบเชื้อโรคก่ออาการอาหารเป็นพิษได้จากอาหารกระป๋อง อาหารทะเล หรืออาหารค้างคืนที่ไม่ได้อุ่นก็ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

          - 10 เมนูต้องระวัง กินแล้วเสี่ยงอาหารเป็นพิษ
          - กินไข่ดิบอันตราย ไม่อยากอาหารเป็นพิษ ท้องเสียเกือบตาย อย่ากิน ! 
          - เตือนกินแซลมอน-ปลาดิบ ระวังจุลินทรีย์ปนเปื้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ 
          - 10 อาหารที่ทำให้ท้องเสีย ไม่อยากเพลียต้องเลี่ยงให้ไกล

อาหารเป็นพิษ อาการเป็นอย่างไร


          อาการอาหารเป็นพิษสามารถสังเกตได้จากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ตามนี้เลยค่ะ

          - ปวดท้องบิดเป็นพัก ๆ

          - คลื่นไส้ พะอืดพะอม

          - อาเจียน (มักมีเศษอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษออกมาพร้อมกับอาเจียนด้วย)

          - ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง

          - อ่อนเพลีย

          - มีไข้ (บางราย)

          - ปวดศีรษะ (บางราย)

          - ปวดเมื่อยเนื้อตัว (บางราย)

          ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจถ่ายเป็นเลือดหรือถ่ายปนมูกร่วมด้วย และหากอาการรุนแรงมักจะมีอาการท้องเดินรุนแรง อาเจียนบ่อยครั้ง กระทั่งร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงได้ และอาจพบอาการอาหารเป็นพิษในผู้ที่รับประทานอาหารชนิดเดียวกัน โดยอาการแสดงอาจจะเป็นพร้อม ๆ กันหรือไล่เลี่ยกันก็ได้

อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษ กินคาร์บอนหรือยาปฏิชีวนะ หายไหม


          การรักษาอาการอาหารเป็นพิษในรายที่อาการไม่รุนแรง มักจะหายได้เองเพราะร่างกายมีระบบขับเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อนออกมาพร้อมอุจจาระหรืออาเจียนอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีอาการท้องเสียจึงไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะเป็นการกักเก็บเชื้อไว้ในร่างกายจนทำให้ไม่หายสักที

          ทั้งนี้หากมีอาการอาหารเป็นพิษอาจไม่จำเป็นต้องกินคาร์บอนหรือยาปฏิชีวนะเสมอไป เพราะอย่างที่บอกว่าอาหารเป็นพิษสามารถหายได้เอง แต่สำหรับคนที่มีอาการท้องเสียมาก ถ่ายเหลวเกิน 6 ครั้งต่อวัน ถ่ายมีเลือดปนหรือถ่ายเป็นน้ำซาวข้าว อาเจียนอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง กระหายน้ำ ปากคอแห้ง และมีอาการหน้ามืดร่วมด้วย เคสนี้ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดนะคะ

          อย่างไรก็ตาม อาการท้องเดิน ถ่ายเหลว อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นได้เช่นกัน เช่น อุจจาระร่วง บิด หรืออหิวาตกโรค ซึ่งมีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ ดังนั้นหากสังเกตว่าตัวเองมีอาการรุนแรง หรือมีไข้สูง ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยจะได้รักษาได้ถูกโรคค่ะ และแพทย์อาจจะให้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษา

อาหารเป็นพิษ
 

อาหารเป็นพิษ ทำไงดี รักษายังไง


          เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ ควรดูแลร่างกายเบื้องต้นโดยปฏิบัติตามนี้

          - ควรดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปกับอุจจาระหรืออาเจียน โดยให้ผสมผงน้ำตาลเกลือแร่กับน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในฉลาก จิบครั้งละน้อย ๆ จนครบ 1 แก้วน้ำดื่ม หรืออย่างน้อยควรจิบให้ได้สักครึ่งแก้ว แต่ทั้งนี้ก็ควรระวังอย่าดื่มมากเกินไปจนอาเจียน

อาหารเป็นพิษ

          - หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ตามขนาดที่ระบุไว้ในฉลาก

          - ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด ขาดน้ำมาก ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลำบาก แขนขาอ่อนแรง หน้ามืด ชัก หมดสติ หรืออาการไม่ทุเลาลงภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพาตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งแพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ

          อย่างไรก็ตาม ขอย้ำอีกครั้งว่าอย่ากินยาหยุดถ่ายนะคะ เพื่อให้ร่างกายได้ขับถ่ายสารพิษที่ปนเปื้อนอาหารออกมาจากร่างกายได้หมดจด

อาหารเป็นพิษ กี่วันหาย


          โดยปกติแล้วอาการอาหารเป็นพิษที่ไม่รุนแรงจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง แต่หากยังมีอาการอาหารเป็นพิษต่อเนื่องเกิน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและไม่ควรซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด

อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษ กินอะไรได้บ้าง

    
          สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอาหารเป็นพิษควรกินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย อย่าง ข้าวต้ม โจ๊ก ต้มจืด กล้วย น้ำมะพร้าว ผักต้ม ขนมปัง และอาหารรสจืด เป็นต้น

อาหารเป็นพิษ ห้ามกินอะไร


          อาหารที่ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษไม่ควรกินเลย เพราะอาจทำให้อาการกำเริบและเป็นหนักขึ้นได้  ก็คือ อาหารรสจัด อาหารย่อยยาก อาหารไขมันสูง อาหารทอด ๆ นม ชีส โยเกิร์ต เครื่องดื่มคาเฟอีนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ก็ควรเลี่ยงด้วยนะคะ

อาหารเป็นพิษ ป้องกันได้

 
อาหารเป็นพิษ

          เราสามารถป้องกันอาการอาหารเป็นพิษได้ โดยปฏิบัติตามนี้เลยค่ะ

          - ดูแลสุขอนามัยด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

          - ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง

          - ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

          - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืน โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ เพราะจะบูดเสียง่ายมาก

          - ล้างผัก-ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน โดยควรล้างผัก-ผลไม้ด้วยน้ำไหล หรือหากแช่ด่างทับทิมได้ก็จะดีมาก

          - รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และไม่ควรทิ้งเนื้อสด ๆ ไว้นอกตู้เย็น เพราะอาจเป็นการเพิ่มเชื้อแบคทีเรียในเนื้อสดนั้นได้

          - แยกอาหารดิบและอาหารสุกออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค

          - เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู และสัตว์ชนิดอื่น ๆ

          หลัก ๆ แล้วการป้องกันอาหารเป็นพิษก็เพียงแค่ระมัดระวังเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยของอาหารที่จะรับประทานเข้าไปเท่านั้นเองนะคะ พร้อมทั้งเลือกรับประทานอาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน นั่นก็คือการปรุงอาหารให้สุก ที่สำคัญคือรับประทานอาหารในขณะที่ปรุงสุกมาใหม่ ๆ หรือหากจะกินอาหารที่ทำทิ้งไว้ อย่างน้อยก็ควรนำมาอุ่นใหม่เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคอีกทีเสียก่อน


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 5 มิถุนายน 2561


ขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาหารเป็นพิษ ความทรมานทางกาย เป็นแล้วกี่วันหาย กินอะไรได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 29 ธันวาคม 2564 เวลา 09:58:15 511,172 อ่าน
TOP