10 อาหารที่ทำให้ท้องเสีย ไม่อยากเพลียต้องเลี่ยงให้ไกล

          ไม่ใช่แค่อาหารหมดอายุหรืออาหารปนเปื้อนเชื้อโรคเท่านั้นที่ทำให้ท้องเสีย แต่อาหารอร่อย ๆ บางอย่างก็กระตุ้นอาการนี้ได้เช่นกัน

อาหารที่ทำให้ท้องเสีย
 
          เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากท้องเสียกันเท่าไร เพราะเป็นแล้วก็ปวดมวนท้อง หรือวิ่งเข้าห้องน้ำกันจนเพลีย ทว่าแม้เราจะเลือกกินอาหารที่สด สะอาด ดูแล้วน่าจะปลอดภัย ก็อาจหนีไม่พ้นอาการท้องเสียไปได้ โดยเฉพาะถ้ากินอาหาร 10 ชนิดต่อไปนี้ ที่กระตุ้นอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้ในบางคน หรือหากท้องเสียอยู่แล้วมากินเข้าไปก็จะยิ่งถ่ายบ่อยขึ้นด้วย

1. อาหารไขมันสูง


อาหารที่ทำให้ท้องเสีย

          ของทอดทั้งหลายหรืออาหารมัน ๆ เช่น ฟาสต์ฟู้ด ขาหมู ข้าวมันไก่ อาหารที่ใส่กะทิ วิปปิ้งครีม ครีมชีส หรือเบเกอรี่ เป็นอาหารที่อร่อยก็จริง แต่หากกินเข้าไปมาก ๆ ไขมันร้ายที่แฝงอยู่ในอาหารพวกนี้ก็อาจกระตุ้นอาการท้องเสียได้ เนื่องจากเป็นอาหารที่ร่างกายย่อยยาก และเมื่อเจ้าไขมันไม่ถูกย่อยอย่างสมบูรณ์ ร่างกายก็จะพยายามขับออกมาไว ๆ ทำให้เราท้องเสียหลังกินเข้าไปไม่นาน

2. อาหารรสจัด


          สายแซ่บที่ชอบกินอาหารรสเผ็ดจัดอาจต้องทรมานกับอาการท้องเสียด้วย เพราะพริกมีสารแคปไซซินที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และยังมีงานวิจัยที่พบว่า นอกจากอาการท้องเสีย สารชนิดนี้ยังส่งผลให้เกิดอาการปวดแสบท้อง คลื่นไส้และอาเจียนได้ในบางคน โดยเฉพาะคนที่ไม่คุ้นชินกับอาหารรสเผ็ด แถมถ้าท้องเสียเพราะอาหารรสจัด เวลาถ่ายก็จะรู้สึกแสบร้อนที่รูทวารหนักจากความเผ็ดร้อนของแคปไซซิน และหากเราดื่มน้ำแก้เผ็ดเข้าไปมาก ๆ อุจจาระก็จะค่อนข้างเหลว ทำให้การขับถ่ายยิ่งคล่องตัวไปด้วย

3. อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง


          อาหารหรือเครื่องดื่มน้ำตาลสูงก็เป็นตัวการทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน รวมไปถึงรสหวานจากน้ำตาลฟรุกโตสในผลไม้ เช่น แอปเปิล หรือองุ่น ด้วยนะคะ เพราะน้ำตาลชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ และลำไส้ไม่สามารถย่อยได้ เมื่อรับประทานเข้าไปมาก ๆ จึงอาจทำให้มีอาการท้องเสีย อีกทั้งการมีน้ำตาลเกินขนาดที่ร่างกายควรได้รับก็จะทำให้ร่างกายพยายามขับส่วนที่ไม่ได้ใช้ออกไป และน้ำตาลยังจะเข้าไปกระตุ้นให้สารน้ำเข้าสู่ลำไส้ ทำให้ลำไส้มีปริมาณน้ำมากขึ้น การขับถ่ายจึงคล่องตัวขึ้น ดังนั้นบางคนที่ดื่มน้ำหวานเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า จึงอาจมีอาการถ่ายท้องอย่างเฉียบพลันนั่นเอง

4. สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล


น้ำตาล

          น้ำตาลเทียมหรือสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น แอสปาร์แตม, แซกคาริน, ซูคราโลส, แมนนิทอล, ซอร์บิทอล หรือไซลิทอล เป็นสารที่ร่างกายดูดซึมไม่ค่อยดี บางคนเมื่อกินเข้าไปจึงอาจตกค้างในลำไส้ ทำให้แบคทีเรียในลำไส้เพิ่มจำนวนขึ้นมาเพื่อพยายามย่อยอาหารชนิดนี้ ซึ่งกระบวนการย่อยดังกล่าวก็จะทำให้มีอาการท้องเสียได้

          อีกทั้งสารให้ความหวานแทนน้ำตาลทั้งหลายยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ด้วย ดังนั้นถ้าสงสัยว่าตัวเองท้องเสียเพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาล แนะนำให้เลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง ลูกอม เครื่องดื่มไดเอต รวมทั้งเครื่องปรุงประเภทโลว์ชูการ์ทั้งหลายดูนะคะ

5. อาหารไฟเบอร์สูง


ผักกะหล่ำ

          เรารู้กันดีว่าไฟเบอร์ช่วยในการขับถ่าย ดังนั้นหากรู้สึกว่าท้องไส้ไม่ค่อยจะดีก็อย่าเพิ่งกินอาหารไฟเบอร์สูงจะดีกว่า เพราะไฟเบอร์อาจไปจับตัวกับน้ำในลำไส้ และพากันเอาอาหารที่ตกค้างอยู่ในลำไส้เคลื่อนตัวออกมาสู่โลกกว้างได้ โดยเฉพาะผักตระกูลกะหล่ำและตระกูลผักกาด ที่มีน้ำตาลชนิดที่ลำไส้ไม่สามารถย่อยได้ อีกทั้งยังมีกำมะถัน ที่อาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด หากกินเข้าไปในปริมาณมากด้วย

6. ถั่ว


          ถั่วจัดเป็นอาหารในกลุ่ม High FODMAPs ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตชนิดย่อยยากและน้ำตาลหลากหลายโมเลกุลในตัวเอง จึงอาจทำให้การทำงานของลำไส้แปรปรวนและก่อเกิดอาการท้องอืด ท้องเสีย มีลม มีกรดแก๊สในกระเพาะได้ โดยเฉพาะหากกินถั่วปริมาณมาก ๆ

7. กลูเตน


          กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในอาหารประเภทข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งร่างกายบางคนไม่สามารถย่อยโปรตีนชนิดนี้ได้ เมื่อกินกลูเตนเข้าไปจึงอาจมีอาการท้องเสียตามมา

8. ผลิตภัณฑ์จากนม


นม

          ทราบไหมคะว่าคนไทยส่วนหนึ่งไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ย่อยโปรตีนแลคโตสในนมวัว ดังนั้นหากรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไปก็จะเกิดอาการท้องเสีย ท้องอืด แน่นเฟ้อ และมีปัญหาระบบย่อยอาหารอื่น ๆ เพราะร่างกายเกิดปฏิกิริยาบางอย่างเพื่อที่จะพยายามย่อยแลคโตสให้ได้ จึงทำให้ระบบการย่อยอาหารแปรปรวนนั่นเอง เช่นนั้นแล้วหากรู้ตัวว่าแพ้นมวัว ก็พยายามเลี่ยงหรือลดอาหารเหล่านี้จะดีกว่า หรือหันไปดื่มนมแลคโตสฟรี และนมจากธัญพืชแทนก็ได้

9. กาแฟ และอาหารที่มีคาเฟอีน


           คาเฟอีนมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ทั้งยังมีส่วนกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และงานวิจัยจาก International Foundation for Gastrointestinal Disorders (IFFGD) ยังพบว่า การดื่มกาแฟหรือชา 2-3 แก้วต่อวัน มีส่วนก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้ในบางคน ยิ่งหากดื่มกาแฟที่ใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือใส่นม ก็อาจทำให้รู้สึกอยากถ่ายมากขึ้นไปอีก ซึ่งหากเราดื่มกาแฟแล้วท้องเสียก็ควรเลี่ยงอาหารอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีนไว้หน่อย อย่างชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ

10. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์


            เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเป็นอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ในกระเพาะอาหาร เมื่อดื่มเข้าไปจึงทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ง่าย โดยเฉพาะหากคืนไหนดื่มเบียร์หรือไวน์ เช้าขึ้นมาจะรู้สึกมึนนิด ๆ แฮงก์หน่อย ๆ แถมด้วยอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวได้ง่ายกว่าปกติ เพราะเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะกระตุ้นให้สารน้ำเข้าสู่ลำไส้มากขึ้นนั่นเอง


          อย่างไรก็ตาม อาหารบางชนิดถ้ากินในปริมาณที่พอเหมาะก็ไม่ได้ทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือบางคนกินจนชิน ร่างกายปรับตัวได้ดีแล้วก็ไม่เกิดอาการท้องเสียเช่นกัน แต่หากในบางจังหวะเกิดท้องเสียขึ้นมา หรือมีธุระที่ต้องจัดการและไม่อยากมีปัญหากับการเข้าห้องน้ำบ่อย ก็พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องเสียไปก่อนนะคะ


บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องเสีย

          - ท้องเสียกินอะไรถึงจะหาย อาการไม่สบายกายที่แก้ได้ด้วยอาหาร
          - ท้องเสียบ่อย เช็กหน่อย...ป่วยเป็นอะไรได้บ้าง
          - ท้องเสียก่อนเป็นเมนส์ทุกที อาการนี้เกิดจากอะไร มีวิธีไหนป้องกันได้บ้าง
          - ท้องเสียกินน้ำมะพร้าวได้ไหม ช่วยให้หายท้องเสียได้หรือเปล่า ?
          - ท้องเสียบ่อย น้ำหนักลด กินเท่าไรก็ไม่อ้วน ระวังป่วยไทรอยด์เป็นพิษ
          - ผัก ผลไม้+สมุนไพรแก้ท้องเสีย บรรเทาถ่ายไม่หยุดด้วยสูตรธรรมชาติ


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
medicalnewstoday.com
healthline.com
prevention.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 อาหารที่ทำให้ท้องเสีย ไม่อยากเพลียต้องเลี่ยงให้ไกล อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2567 เวลา 16:46:26 477,973 อ่าน
TOP
x close