อย่างไรก็ตาม ในคนที่ประจำเดือนมามากเป็นปกติอยู่แล้ว ประจำเดือนก็อาจไหลไปทางท่อรังไข่และอุ้งเชิงกราน ทำให้ระบบขับถ่ายระคายเคือง กระตุ้นให้สาว ๆ ท้องเสีย หรือบางคนมีทั้งอาการท้องเสียและท้องผูกสลับกันไป รวมถึงมีอาการปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย มีอารมณ์ปรวนแปรได้ง่าย ซึ่งก็ล้วนเป็นอาการผิดปกติก่อนเป็นประจำเดือนที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า PMS (Premenstrual Syndrome) นั่นเอง โดยอาการ PMS อาจถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น ความเครียด โรคทางอารมณ์อย่างโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล การขาดสารอาหาร หรือพฤติกรรมรับประทานอาหารบางชนิด
เข้าใจค่ะว่า เวลาปวดประจำเดือน แถมท้องเสีย หรือบางคนมีอาการคลื่นไส้อีก ก็เริ่มจะกลัวว่าร่างกายภายในเรายังปกติดีไหม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายในสักหน่อยหรือเปล่า ซึ่งอาการ PMS จริง ๆ แล้วไม่ใช่อาการที่น่ากังวลเท่าไร แค่อาจทำให้มีอาการหงุดหงิดง่าย เศร้า เหวี่ยงวีนเก่ง ร่วมกับอาการผิดปกติทางกายอย่างมีสิวขึ้น ตัวบวม เหนื่อยล้า กินจุขึ้น เจ็บเต้านม ปวดศีรษะ ท้องผูกหรือท้องเสีย ซึ่งอาการจะเกิดเพียงไม่กี่วันก็หายเป็นปกติได้
ทว่าอาการ PMS ก็อาจพัฒนาเป็น PMDD (Premenstrual Dysphoric disorder) หรือกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน ซึ่งจะมีความรุนแรงทางด้านอารมณ์มากกว่า PMS โดยอาจจะมีอารมณ์ก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึมเศร้า หดหู่ใจ สิ้นหวัง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า อยากฆ่าตัวตาย หรืออยากทำร้ายผู้อื่น ซึ่งเคสนี้ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนเลยนะคะ
สำหรับสาว ๆ ที่ไม่อยากเจออาการ PMS เลย เรามีวิธีปฏิบัติตัวเพื่อเลี่ยงอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือนมาแนะนำ ดังนี้
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช อาหารรสจืดต่าง ๆ
2. ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เพื่อกระตุ้นสารแห่งความสุข และลดความเครียด
3. รับประทานวิตามินบี 6 วิตามินอี แคลเซียม และแมกนีเซียม ตามคำแนะนำของแพทย์
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
5. พยายามอย่าเครียด
6. ใช้ฮอร์โมนลดอาการ PMS เช่น ยาคุมกำเนิด เพื่อปรับฮอร์โมนเพศให้สมดุล โดยแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก่อนปรับฮอร์โมนนะคะ
ถ้าวิธีไหนเลี่ยงได้ ลดได้ ก็พยายามทำดีกว่าเนอะ อย่าให้อาการท้องเสียก่อนเป็นประจำเดือนมารบกวนสุขภาพและจิตใจของเราเลย
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นิตยสารชีวจิต