PMS อาการแบบผู้หญิง ๆ ที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร

          นอกจากปวดท้อง ปวดหัว อารมณ์แปรปรวนแล้ว มาดูกันสิว่าอาการก่อนมีประจำเดือนหรือ PMS ส่งผลอย่างไรกับท้องไส้ของเราบ้าง
PMS

          อาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS เป็นอาการเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาการจะหนักหรือเบานั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนนั้นนอกจะส่งผลถึงสภาวะจิตใจแล้ว ยังส่งผลต่อร่างกายอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะระบบย่อยอาหารและขับถ่ายที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากไปเสียหน่อย

           แล้วผลกระทบเหล่านั้นมีอะไรบ้าง วันนี้ได้เวลาที่เราจะมาเรียนรู้ถึงผลกระทบของอาการก่อนมีประจำเดือนที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารกันแล้วค่ะ ซึ่งกระปุกดอทคอมนำมาฝากจากเว็บไซต์ allwomenstalk.com สาว ๆ ที่กำลังมีอาการเหล่านี้อยู่ก็อย่าเพิ่งโทษว่าเป็นเพราะอาหารเลยเนอะ ลองมาอ่านกันก่อนจะได้เข้าใจมากขึ้น  

ท้องผูก

          อาการท้องผูกเป็นอาการที่เห็นได้ชัดที่สุด และเป็นอาการที่สาว ๆ ไม่ชอบมันเลยสักนิดเดียว เพราะทำให้คุณสาว ๆ รู้สึกอึดอัดและทำให้หงุดหงิดเอาได้ง่าย ๆ โดยส่วนใหญ่ก็มักจะโบ้ยว่าเป็นความผิดของอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นสาเหตุทำให้เกิดท้องผูกได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงตกไข่ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลง และกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ในระบบย่อยอาหารที่ทำหน้าที่ช่วยทำให้ถ่ายง่ายขึ้นทำงานด้อยประสิทธิภาพลงส่งผลทำให้เกิดอาการท้องผูก

          ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องผูก ในช่วงนี้ก็ควรจะรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ อย่างเช่น มันเทศ ฟักทอง ข้าวโอ๊ต ลูกเกด อาหารเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณถ่ายได้ง่ายขึ้นมากกว่าการรับประทานอาหารจำพวกถั่วและเมล็ดพืช หรือผักในตระกูลกะหล่ำ นอกจากนี้การรับประทานซุปร้อน และการดื่มชาก็ช่วยลดอาการท้องผูกได้อีกด้วยค่ะ



ท้องเสีย

          คงมีคุณสาว ๆ จำนวนไม่น้อยที่มักจะท้องเสียก่อนมีประจำเดือนเสมอ อย่าแปลกใจเลยค่ะ มันไม่ใช่อาการที่เกิดจากอาหารที่คุณสาว ๆ รับประทานเข้าไปหรอก แต่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายก่อนมีประจำเดือน โดยอาการท้องเสียนี้เกิดมาจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยการเพิ่มขึ้นของฮอรโมนดังกล่าวจะมาพร้อมกับระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ที่มากเกินไปด้วยนั่นเอง ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลให้มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน

           นอกจากนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและเซโรโทนินที่มากจนเกินไปก็ทำให้ท้องเสียได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องเสียในช่วงก่อนมีประจำเดือนก็คือ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีรสชาติหวาน และเผ็ดจัด รวมถึงอาหารที่มีไขมันมากเกินไป ลดการบริโภคผลไม้และผลิตภัณฑ์จากนมต่าง ๆ ลงด้วยค่ะ

มีแก๊สในกระเพาะอาหาร

          แก๊สในกระเพาะอาหาร เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์เท่าไรสำหรับคุณสาว ๆ ใช่ไหมคะ แน่นอนว่ามันเกิดจากอาหารสุดแสนอร่อยที่เรารับประทานเข้าไป แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารก็คืออาการ PMS หรืออาการก่อนมีประจำเดือนค่ะ เพราะอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเทอโรน ทำให้ระบบการย่อยอาหารของคุณมีความเร็วไม่คงที่

          ฉะนั้นถ้าคุณสาว ๆ เป็นคนหนึ่งที่มักจะมีแก๊สในกระเพาะอาหารในช่วงก่อนมีประจำเดือนละก็ ควรจะหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหนัก ๆ และมาทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่ายดูนะคะ นอกจากนี้หากเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารก็ให้หายี่หร่า โป๊ยกั๊ก มารับประทานหลังทานอาหาร เพราะเจ้าสมุนไพรสองชนิดนี้ให้ประสิทธิภาพในการลดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ดีกว่ายาที่ขายยู่ในต้องตลาดเสียอีกล่ะค่ะ นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อุดมไปด้วยกำมะถันอย่างเช่นไข่, หัวหอม, กระเทียม, และบรอกโคลี ซึ่งเป็นอาหารที่จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารด้วยจะดีที่สุดค่ะ

PMS

ท้องร้องโครกคราก

          เสียงร้องโครกครากบางทีก็ไม่ได้เกิดจากความหิวหรอกนะคะ ยิ่งในช่วงก่อนมีประจำเดือนแล้ว อาจจะได้ยินมันบ่อยสักหน่อย ซึ่งเสียงร้องโครกครากเหล่านี้ เกิดจากสารเคมีในร่างกายที่ชื่อว่าโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสารเคมีที่จะถูกหลั่งออกมากในขณะที่เยื่อบุโพรงมดลูกกำลังลอกตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่ นอกจากนี้เจ้าสารเคมีชนิดนี้ก็อาจจะทำให้เกิดตะคริว และแก๊สในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย ทางที่ดีในช่วงก่อนมีประจำเดือนควรจะหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ย่อยยากอย่างเช่น โปรตีนกลูเตน เนื้อแดง อาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาล ผลไม้ที่มีรสชาติหวาน ผักในตระกูลกะหล่ำ ธัญพืช ถั่ว เมล็ดพืช และผลิตภัณฑ์จากนม และหมั่นดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ จะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ค่ะ

ลำไส้แปรปรวน

          อาการลำไส้แปรปรวน เป็นสาเหตุของการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องอืด ท้องเสีย และระบบย่อยอาหารในร่างกายมีปัญหา สาว ๆ หลายคนมักจะคิดว่าตัวเองเป็นโรคลำไส้แปรปรวนทั้ง ๆ ที่จริงแล้วมันก็เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเท่านั้น ซึ่งอาการลำไส้แปรปรวนสามารถพบได้บ่อยในช่วงที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน แต่ก็จะไม่รุนแรงนัก ซึ่งถ้าหากคุณประสบกับปัญหาลำไส้แปรปรวนบ่อยเกินไปละก็ ทางที่ดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการในช่วงมีรอบเดือนค่ะ

หิวบ่อย

หิวบ่อยขึ้น

          เคยสังเกตกันไหมคะว่าในช่วงก่อนมีประจำเดือนทำไมเราถึงหิวบ่อยและกินเยอะมากผิดปกติ ไม่ว่าจะกินไปเท่าไรก็รู้สึกว่ามันไม่เพียงพอสักที อยากจะบอกเลยค่ะว่ามันเป็นสาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเทอโรน ซึ่งทำให้สารอาหารบางชนิดในร่างกายของคุณลดลงจนร่างกายต้องหามาทดแทน สารอาหารเหล่านั้นได้แก่ แมกนีเซียมและธาตุเหล็ก ส่งผลทำให้คุณต้องทานมากขึ้น ซึ่งอาหารที่คุณควรจะรับประทานในช่วงนี้ควรจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อย่างเช่นธัญพืชต่าง ๆ และควรหลีกเลี่ยงของหวาน ผลไม้อบแห้ง ซีเรียล หรือเนยอัลมอนด์นะคะ เพราะถึงแม้จะทำให้คุณอิ่มแต่มันก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกัน

          ส่วนใครที่คิดว่าช็๋อกโกแลตเป็นสิ่งที่ไม่สมควรแตะต้องในช่วงมีรอบเดือนละก็ เปลี่ยนความคิดได้เลยนะคะ เพราะจริง ๆ แล้วเจ้าช็อกโกแลตนี่ล่ะมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างมาก ไม่ว่าจะแมกนีเซียม หรือ ธาตุเหล็ก ฉะนั้นทานไปเถอะค่ะ แต่ก็ควรจะเลือกเป็นดาร์กช็อกโกแลต จะได้ไม่มีความอ้วนมาทักทาย

คลื่นไส้

          ไม่ต้องแปลกใจค่ะถ้าจะรู้สึกคลื่นไส้หรือพะอืดพะอมในช่วงก่อนจะมีประจำเดือน นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนของคุณกำลังอยู่ในช่วงผกผัน อย่ากังวลไปเลยค่ะแค่เพียงเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่ย่อยง่ายสักระยะจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงมีประจำเดือน โดยอาหารที่เหมาะกับทางเดินอาหารของคุณสาว ๆ มากที่สุดในช่วงนี้ก็คืออาหารเหลวและเย็น และถ้าหากเติมสะระแหน่ลงไปในอาหารและชาที่ดื่มด้วยละก็ จะยิ่งช่วยลดอาการคลื่นไส้ ท้องผูกและท้องเสียได้ด้วยล่ะ นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด คาเฟอีน และอาหารที่มีไขมันหรือหวานมากเกินไปด้วยนะ จะได้ไม่ต้องมานั่งพะอืดะอมไปทั้งวัน

          อาการเหล่านี้เป็นอาการที่คุณสาว ๆ อาจจะต้องพบเจอกับมันทุกเดือน แต่ก็สามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ลงได้ถ้าหากเราเลือกรับประทานอาหารให้ถูกและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นอย่ารอช้าค่ะ รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารช่วงก่อนมีประจำเดือนซะ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาวิ่งหาห้องน้ำบ่อย ๆ เวลาเป็นประจำเดือนไงล่ะ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
PMS อาการแบบผู้หญิง ๆ ที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร อัปเดตล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2561 เวลา 10:35:49 227,634 อ่าน
TOP
x close