เตือนทานแซลมอน-ปลาดิบ ระวังจุลินทรีย์ปนเปื้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ


ทานแซลมอน-ปลาดิบ ระวังจุลินทรีย์ปนเปื้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ

           กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจคุณภาพปลาแซลมอนนำเข้า พบโลหะหนักต่ำกว่าเกณฑ์ แต่พบเชื้อจุลินทรีย์ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษ พร้อมแนะผู้บริโภคเลือกซื้ออย่างระมัดระวัง
 
           เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคเนื้อปลาแซลมอน ทั้งแบบปรุงสุกและแบบปลาดิบ หรือ ซาซิมิ ซึ่งขณะนี้มีการส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อปลาแซลมอน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังความปลอดภัย โดยการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก 3 ชนิด ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีการปนเปื้อน คือ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม ในเนื้อปลาแซลมอนที่นำเข้าตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบัน พบว่าเนื้อปลาแซลมอนที่นำเข้ามีปริมาณโลหะหนักต่ำมากและไม่เกินค่าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 โดยผลการตรวจสอบมีดังนี้
 
           1. ตรวจหาปริมาณปรอท 78 ตัวอย่าง ตรวจพบ 46 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 59 ปริมาณที่พบตั้งแต่น้อยกว่า 0.01-0.04 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

           2. ตรวจหาปริมาณตะกั่ว 62 ตัวอย่าง ตรวจพบ 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8 ปริมาณที่พบน้อยกว่า 0.10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมทุกตัวอย่าง

           3. ตรวจหาปริมาณแคดเมียม 153 ตัวอย่าง ตรวจพบ 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 2 โดยปริมาณที่พบตั้งแต่น้อยกว่า 0.02-0.12 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

 
           นพ.อภิชัย กล่าวว่า ในส่วนของซาซิมินั้น ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารญี่ปุ่นเมนูซาชิมิ ที่ทำจากปลาทะเลดิบจากภัตตาคาร/ร้านอาหารญี่ปุ่น ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2556 จำนวน 32 ร้าน แบ่งเป็น จากซูเปอร์มาร์เกต 10 แห่ง และมินิมาร์ท 1 แห่งใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งหมด 52 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และพยาธิตัวกลม โดยตรวจหาจุลินทรีย์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต ได้แก่ จำนวนจุลินทรีย์รวม และอีโคไล กับกลุ่มจุลินทรีย์ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ 5 ชนิด ได้แก่
 
           1. เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus)

           2.
วิบริโอ คอเลอเร (Vibrio cholerae)

           3.
ซาลโมเนลล่า (Salmonella spp.)

           4.
ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส (Listeria monocytogenes)

           5.
สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)

           6.
พยาธิตัวกลมกลุ่มอนิสซาคิส (Anisakidae)


ทานแซลมอน-ปลาดิบ ระวังจุลินทรีย์ปนเปื้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ
 
           พบว่า จุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิตเกินเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร จำนวน 37 ตัวอย่าง ส่วนจุลินทรีย์ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษเกินเกณฑ์ 7 ตัวอย่าง แต่ตรวจไม่พบพยาธิกลุ่มอนิสซาคิสทุกกลุ่มตัวอย่าง
 
          นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า การปนเปื้อนของจุลินทรีย์อาจเกิดจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม หรือปนเปื้อนจากน้ำทะเลตามธรรมชาติ รวมไปถึงการปนเปื้อนขณะแล่และหั่นปลาดิบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนมาจากอาหารดิบอื่น ๆ โดยการใช้อุปกรณ์เครื่องครัว เช่น มีด เขียงและภาชนะร่วมกัน โดยไม่ได้ล้างให้สะอาด แต่บางกรณีการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลาและอีโคไล ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในอุจจาระของคน และสัตว์ ซึ่งอาจมาจากผู้ประกอบการมีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ล้างมือให้สะอาดภายหลังการเข้าห้องน้ำ
 
           อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อปลาทะเลที่แล่ขายนั้น ควรเลือกรับประทานปลาทะเลดิบที่จำหน่ายในภัตตาคารหรือร้านอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับหรือร้านที่มั่นใจว่าใช้ปลาดิบที่เป็น sashimi-grade หรือ sushi-grade fish ซึ่งเป็นปลาทะเลที่เตรียมไว้สำหรับบริโภคเป็นปลาดิบโดยเฉพาะ ส่วนเนื้อปลาทะเลที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ควรสอบถามแหล่งที่มาของปลา และเลือกปลาที่เตรียมแบบ sashimi grade บรรจุในภาชนะที่ปิดเรียบร้อย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและเก็บรักษาในอุณหภูมิแช่เย็นตลอดอายุการจำหน่าย และควรรีบรับประทานให้หมดภายในวันที่ซื้อ และในส่วนของผู้ประกอบอาหารและผู้แล่ปลา ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร และถ้ามีบาดแผลที่มือให้ปิดพลาสเตอร์และใส่ถุงมือขณะประกอบอาหาร เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อสู่อาหาร


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
thannews.th.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนทานแซลมอน-ปลาดิบ ระวังจุลินทรีย์ปนเปื้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2558 เวลา 13:46:43 15,462 อ่าน
TOP
x close