โรคอุจจาระร่วง โรคใกล้ตัวที่รู้จักกันดี อย่าคิดว่าโรคนี้ทำอะไรเราไม่ได้ ไม่ระวัง รักษาไม่ถูก อาจเกิดอาการแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้
บางคนอาจคิดว่า "อาการอุจจาระร่วง" ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ก็แค่เพียงท้องเสียและอาเจียน หายารับประทาน ดื่มน้ำเกลือแร่ก็หาย แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลยค่ะ เพราะโรคอุจจาระร่วงนั้น มีอาการที่ต้องสังเกตอย่างใกล้ชิด และไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง หากมัวแต่ชะล่าใจก็อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่อาจถึงแก่ชีวิตได้
ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคอุจจาระร่วงกันให้มากขึ้น โดยมี น.อ.นพ.ธนาสนธิ์ ธรรมกุล หน่วยโรคติดเชื้อ กองอายุกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย มาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไว้ในนิตยสารหมอชาวบ้าน เพื่อบอกให้รู้ว่า โรคนี้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ไตวาย หรือถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ รู้ไว้ก่อนจะได้รักษาและป้องกันได้อย่างถูกทางค่ะ
สาเหตุของอุจจาระร่วง
อุจจาระร่วงมักเกิดจากสารพิษหรือเชื้อโรคซึ่งอาจจะมีอยู่ตั้งแต่แรกในอาหารหรือน้ำที่เราดื่มหรือปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งมือที่ปนเปื้อนแล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงหรือกินอาหาร ซึ่งเรามักเรียกกลุ่มอาการอุจจาระร่วงที่มีสาเหตุมาจากอาหารหรือน้ำว่า โรคอาหารเป็นพิษ
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอาการอุจจาระร่วงได้ เช่น บางคนดื่มนมแล้วไม่ย่อย ยาบางชนิด เช่น ยาที่เป็นน้ำเชื่อม ยาปฏิชีวนะ หรือโรคลำไส้บางชนิดก็ทำให้มีอุจจาระร่วงได้ บางครั้งท่านอาจจะสงสัยว่าทั้ง ๆ ที่กินอาหารสุกแล้วก็ยังเกิดอาหารเป็นพิษทำให้ท้องเสียและอาเจียนได้
ทั้งนี้ เพราะสารพิษบางชนิดที่ตกค้างอยู่ในอาหารหรือน้ำมีความทนทานต่อความร้อน กรณีนี้มักพบในอาหารปรุงสุกแล้วปล่อยทิ้งค้างไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้เก็บรักษาให้เหมาะสม เช่น ข้าวผัดหลังผัดทิ้งไว้ค้างคืนโดยไม่ได้ใส่ตู้เย็นที่อุณหภูมิเหมาะสมแล้วนำมาอุ่น เชื้อจุลชีพที่เจริญในระหว่างนี้อาจปล่อยสารพิษไว้ เมื่อนำมาอุ่นความร้อนสามารถทำลายเชื้อจุลชีพได้ แต่ไม่สามารถทำลายสารพิษที่ตกค้างได้
ดังนั้นนอกจากต้องใส่ใจกับความสุกความสะอาดของอาหารและสุขอนามัยของผู้ปรุงอาหารหรือบริการแล้ว ขั้นตอนในการเก็บรักษาอาหารเพื่อนำมาบริโภคซ้ำก็มีความสำคัญเช่นกัน ในทางการแพทย์เราให้คำนิยามของอาการอุจจาระร่วงว่าคือการถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมงหรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งหรือมากกว่านั้น
ผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แน่นท้อง บางรายอาจมีไข้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเนื่องจากการขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง กระหายน้ำ หน้ามืด ในรายที่มีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงอาจมีปัสสาวะออกน้อย ซึมลง สับสน ความดันโลหิตต่ำได้
อาการของอุจจาระร่วง
อาการอุจจาระร่วงแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่น และกลุ่มที่มีอาการอุจจาระร่วงเป็นอาการเด่น
กลุ่มที่ 1 มีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่น มีสาเหตุใหญ่อยู่ 2 สาเหตุ คืออาการเป็นพิษจากสารพิษที่ทนความร้อนและการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหาร กรณีที่เกิดจากสารพิษที่ทนต่อความร้อน ผู้ป่วยมักมีอาการหลังกินอาหารประมาณ 6-24 ชั่วโมง โดยมักมีประวัติกินอาหารที่ทิ้งค้างไว้นาน ผู้ป่วยมักเริ่มต้นด้วยอาการอาเจียนมากร่วมกับปวดท้อง ต่อมาจึงถ่ายอุจจาระร่วงซึ่งมักเป็นไม่รุนแรง
ส่วนกรณีของการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหารมักพบในเด็ก ส่วนใหญ่ติดต่อทางน้ำดื่ม และอาหาร มีระยะฟักตัวประมาณ 18-72 ชั่วโมง มักเริ่มด้วยไข้ต่ำ ๆ ไอ หวัดเล็กน้อย ซึ่งมักเป็นอยู่ 1-2 วัน ต่อจากนั้นจะมีอาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย และมีอาการอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ แต่จะไม่มีมูกเลือด
กลุ่มที่ 2 มีอาการอุจจาระร่วงเป็นอาการเด่น อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มที่อุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำกับกลุ่มที่ถ่ายเป็นมูกปนเลือด ทั้ง 2 กลุ่มส่วนมากเกิดการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มที่อุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปสร้างสารพิษในลำไส้ ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ เช่น อหิวาตกโรค
ส่วนกลุ่มที่ถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด มักจะมีอาการไข้ ปวดท้อง หรือปวดเบ่งที่ทวารหนัก ถ่ายบ่อย โดยถ่ายแต่ละครั้งปริมาณไม่มาก ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น "โรคบิด" เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ลุกลามเข้าไปในผนังลำไส้ ทำให้มีลำไส้อักเสบ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการอุจจาระร่วง มักเป็นชนิดที่อาการไม่รุนแรง อาจมีถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำปนเนื้อประมาณ 5-6 ครั้งต่อวัน ไม่มีอาการของการขาดน้ำหรือเกลือแร่ เช่น ไม่มีอาการอ่อนเพลียกระหายน้ำ หน้ามืด หรือซึมลง มักจะไม่มีไข้หรือมีเพียงไข้ต่ำ ๆ อาจจะมีปวดท้องหรืออาเจียนมากในระยะแรก แต่อาการมักจะดีขึ้นได้เองใน 1-2 วัน
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจดูแลตัวเองไปก่อนได้โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ มุ่งเน้นที่การทดแทนน้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ โดยการดื่มน้ำเกลือแร่ และกินยารักษาตามอาการ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านจุลชีพ การกินอาหารถ้าอุจจาระร่วงไม่มากสามารถกินอาหารได้ตามปกติ แต่ถ้ามีอาการมากแนะนำให้กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป น้ำผลไม้ นมถั่วเหลือง ส่วนนมสดไม่ควรดื่มเพราะอาจทำให้อุจจาระร่วงมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และไม่ควรกินอาหารที่มีไขมันมาก
กินยาอะไรใช้บรรเทาอาการ
ยาที่อาจกินได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ ได้แก่ ยากลุ่มที่มีการออกฤทธิ์ดูดขับสารพิษ เช่น kaolin, pectin, activated charcoal ซึ่งเป็นยาที่ปลอดภัย แต่ลดปริมาณอุจจาระได้ไม่มาก ไม่ทำให้อุจจาระร่วงหายเร็วขึ้น แต่ทำให้อุจจาระมีลักษณะเป็นเนื้อมากขึ้น
ส่วนยากลุ่มที่ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น loperamide (lmodium) สามารถทำให้ถ่ายอุจจาระน้อยครั้งลง ยานี้ห้ามใช้ในรายที่ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดหรือมีไข้สูง อาจกินในรายที่ต้องทำงานต่อเนื่อง ไม่สามารถหยุดงานได้หรือต้องเดินทางไกล แต่ถ้ากินมากเกินไปอาจทำให้ท้องอืด แน่นท้อง จึงไม่ควรกินเกิน 1-2 เม็ดต่อวัน
กรณีที่กินแล้วไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการปวดมวนท้องอาจกินยา hyoscine (buscopan) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการบีบเกร็งของลำไส้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเนื่องจากอาการปวดท้องอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่มีอันตราย ดังนั้น ถ้าปวดท้องรุนแรง มีไข้ถ่ายมีมูกปนเลือด หรือกินยาแล้วไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
ผู้ป่วยอุจจาระร่วงที่ควรปรึกษาแพทย์ ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีอาการนานกว่า 2 วัน
- มีอาการของการขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น กระหายน้ำ ปากแห้ง เพลีย เวียนศีรษะ หน้ามืด ปัสสาวะออกน้อย
- มีอาการปวดท้องหรือปวดเบ่งรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมูกปนเลือด
- และผู้ป่วยที่มีไข้สูง
นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจพิจารณาพบแพทย์เร็วขึ้น
น้ำเกลือชนิดกิน
1. ผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) ซองเล็ก (สำหรับผสมน้ำ 1 แก้ว) ราคาซองละ 3 บาท ของใหญ่ (สำหรับผสมน้ำ 1 ขวดน้ำปลากลม) ราคาของละ 5 บาท)
สรรพคุณ : ใช้ทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ในรายที่มีอาการท้องร่วง หรือในรายที่อาเจียนมาก หรือเสียเหงื่อมากก็ได้ นอกจากนี้ ยังใช้ป้องกันการช็อกจากการเสียน้ำมากได้ด้วย
ขนาดและวิธีใช้ : เทผงยาทั้งซองลงในน้ำดื่ม 1 แก้ว (สำหรับซองเล็ก) หรือ 1 ขวด (สำหรับซองใหญ่) ใช้ดื่มบ่อย ๆ แทนน้ำเมื่อเริ่มมีอาการท้องร่วง ถ้าถ่ายบ่อยให้ดื่มบ่อยครั้งขึ้น ถ้าอาเจียนด้วย ให้ดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง
ให้ดื่มแทนน้ำตามปริมาณอุจจาระและปัสสาวะที่ถ่ายออกไป หรือจนกว่าปัสสาวะออกมากและใสหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
คำเตือน : คนที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ หรือบวม ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้บวมและเหนื่อย เมื่อละลายยาในน้ำแล้ว อย่าทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง ยาจะบูดเสีย ไม่ควรใช้
2. น้ำเกลือชาวบ้าน
สรรพคุณ : ใช้ทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่เช่นเดียวกับผงน้ำตาลเกลือแร่ โดยสามารถผสมเองตามสูตรผสม ดังนี้
- น้ำสุก 1 ขวด (ขวดน้ำปลากลม 750 มล.)
- น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (หรือ 2 กำมือ)
- เกลือ ครึ่งช้อนชา (1-2 หยิบมือ)
นำมาผสมกันหรือต้มรวมกันก็ได้
ขนาดและวิธีใช้ : เช่นเดียวกับผงน้ำตาลเกลือแร่
การป้องกันอาการอุจจาระร่วง
ได้แก่ กินอาหารและน้ำที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่อาหารสดที่ซื้อมา การเก็บรักษา การเตรียมหรือปรุงอาหาร สถานที่ในการเตรียมอาหาร การล้างมือบ่อย ๆ ขณะเตรียมอาหาร โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสของสด อาหารที่ปรุงสุกแล้วควรเก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ถ้าปล่อยทิ้งค้างไว้นานควรเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม
นอกจากนี้ การล้างมือก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการป้องกันอาหารอุจจาระร่วง ทั้งนี้เพราะมือของเราอาจสัมผัสกับเชื้อจุลชีพที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม จึงควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังกินอาหาร และภายหลังกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจทำให้มือปนเปื้อน เช่น หลังเข้าห้องน้ำ หลังปิดปากและจมูก เมื่อไอหรือจาม
ได้รู้จักกับสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกันของโรคอุจจาระร่วงกันไปแล้ว คงจะทำให้พอที่จะรับมือกับโรคนี้กันได้แบบสบาย ๆ เลยใช่ไหมคะ แต่ก็ควรจะสังเกตอาการให้ดี เพราะหากรักษาด้วยตนเองแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรจะรีบไปพบแพทย์ก่อนที่อาการจะหนักนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก