ปวดท้อง มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง มาดูอาการปวดท้องที่ต้องพึงใส่ใจ

          อาการปวดท้อง เป็นสิ่งที่ต้องพบเจอกันอยู่เสมอ ไหนจะทั้งอาการ ปวดท้องข้างซ้าย ปวดท้องข้างขวา การปวดท้องเหล่านี้มีสาเหตุนะ เรามาเรียนรู้สาเหตุ วิธีป้องกันและการรักษากันเถอะ

ปวดท้อง

          ปวดท้อง เป็นอาการที่เกือบทุกคนจะต้องเคยพบเจอ ซึ่งบางครั้งแค่กินยาก็หาย แต่บางคนไม่ว่าจะทำวิธีไหนก็ไม่หายปวดสักที ไม่ว่าจะปวดจี๊ด ปวดเกร็งเป็น ๆ หาย ๆ ว่าแล้วก็ชักจิตตกไม่รู้ว่าจะเป็นโรคร้ายอะไรหรือเปล่านะสิ เอาเป็นว่าวันนี้กระปุกดอทคอมขออาสาพาไปดูสาเหตุของการปวดท้องที่เว็บไซต์ health.com นำมาบอกให้รู้กัน ใครที่กำลังปวดท้องรีบเช็กด่วน

นิ่วในถุงน้ำดี


          นิ่วเกิดจากผลึกและสิ่งแปลกปลอมที่มีการตกตะกอนเป็นก้อนอยู่ในถุงน้ำดีซึ่งมีหน้าที่ผลิตน้ำย่อยที่ช่วยในการย่อยไขมัน โดนก้อนนิ่วเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ลำไส้บวมและไปขวางท่อลำไส้จนเกิดอาการปวดขึ้นที่บริเวณช่องท้องช่วงบนด้านขวา โดยมักจะมีอาการหลังจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง


ตับอ่อนอักเสบ


          การอักเสบของตับอ่อนมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป และอาจทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงในช่องท้องส่วนบนหรือส่วนกลาง ซึ่งบางคนอาจเกิดอาการปวดบริเวณช่องท้องส่วนขวาลามไปยังแผ่นหลังได้ โดยวิธีการบรรเทาอาการปวดก็คือการโน้มตัวไปข้างหน้า หรือนอนหงายกับพื้น ก็จะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง อย่างไรก็ตาม นายแพทย์อุซามะห์ อัลลาราดี นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารจากโรงพยาบาลเฮนรี่ฟอร์ดในเมืองดีทรอยด์ ได้แนะนำว่าให้ควรระมัดระวังอาการข้างเคียงอันได้แก่ อาการปวดเรื้อรัง คลื่นไส้ และอาเจียนอีกด้วย

โรคกรดไหลย้อน


ปวดท้อง

          โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่มีอาการเกิดขึ้นบริเวณกระเพาะอาหารส่วนบนและหลอดอาหารส่วนล่าง โดยเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดที่หลอดอาหารส่วนปลายอ่อนแอลงจนทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร การรับประทานอาหารมากเกินไปหรืออาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้อาการแย่ลง ดังนั้นจึงควรเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมและรับประทานยาลดกรดเมื่อมีอาการ ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ค่ะ


แพ้แลคโตส


          การแพ้แลคโตสคืออาการที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลที่อยู่ในนมได้ โดยทั่วโลกมีผู้เป็นโรคนี้มากกว่าล้านคน และในบางพื้นที่นั้นมีคนที่มีอาการแพ้แลคโตสมากกว่าคนทั่วไปเสียอีก ผู้ที่มีอาการนี้จะไม่สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิดได้ และหากมีการรับประทานเข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย เรอ มีแก๊สในกระเพาะอาหารและอาหารไม่ย่อยค่ะ

ผลข้างเคียงจากยา


          ไม่มียาชนิดใดที่จะไม่มีผลข้างเคียง และบางครั้งผลข้างเคียงก็คืออาการปวดท้องนั่นเอง ซึ่งยาในกลุ่ม bisphosphonate เป็นยาที่ใช้ในการรักษาความหนาแน่นของกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงนั่นก็คืออาการบวมและอาการปวดบริเวณของหลอดอาหารส่วนล่างได้ นอกจากนี้ ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs อย่างเช่นแอสไพรินยังอาจส่งผลทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย

เยื่อบุลำไส้อักเสบ


          อาการเยื่อบุลำไส้อักเสบเป็นอาการที่เกิดจากการที่บริเวณเยื่อบุของลำไส้ใหญ่เกิดแผล ทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในถุงเยื่อบุลำไส้จนเกิดอาการอักเสบขึ้น ทำให้เป็นตะคริวในช่องท้องส่วนล่าง ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวินะและการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการบวมและเลือดออกในช่องท้องจนอาจจะต้องรักษาด้วยการทำการผ่าตัดค่ะ

ปวดท้อง

แพ้โปรตีนกลูเตน


          แม้ว่าธัญพืชจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ที่แพ้โปรตีนกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้ในธัญพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือข้าวไรย์ ธัญพืชเหล่านี้อาจทำให้คุณปวดท้องได้เหมือนกัน โดยอาการนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคเซลีแอค (celiac disease) อาการก็คือเมื่อโปรตีนกลูเตนเข้าสู่ร่างกาย โปรตีนชนิดนี้ก็จะไปทำความเสียหายให้กับลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้เล็กไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ และไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลด หรือแม้แต่การขาดสารอาหาร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด อาการปวดท้องอย่างรุนแรงและอาการอ่อนเพลีย
 

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่


          ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในเฉพาะเพศหญิง ซึ่งเกิดจากการที่เยื่อบุในโพรงมดลูกนั้นไปเจริญเติบโตในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูกเชิงกราน อาการเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จะทำให้เกิดอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ และส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากอีกด้วย แถมอาการนี้ยังวินิจฉัยพบได้ยาก จำเป็นจะต้องให้สูตินรีแพทย์ที่เชี่ยวชาญทำการอัลตราซาวด์จึงสามารถวินิจฉัยอาการนี้ได้ โดยวิธีการรักษาที่ดีที่สุดก็คือการผ่าตัด เพราะการรับประทานยาแก้ปวดและรักษาด้วยฮอร์โมนนั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้แค่เพียงบรรเทาอาการลงเท่านั้นค่ะ


โรคเกี่ยวกับไทรอยด์


          ถึงแม้ว่าต่อมไทรอยด์จะอยู่บริเวณลำคอแต่มันก็สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้ เพราะต่อมไทรอยด์นั้นควบคุมการทำงานหลายอย่างในร่างกาย ระบบทางเดินอาหารก็เช่นกัน

          โดยหากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานเร็วขึ้นและส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงและตะคริวในช่องท้องได้ และในขณะเดียวกัน ถ้าหากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยก็อาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูกและแก๊สในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน

พยาธิ


          ถ้าพูดถึงพยาธิคงไม่มีใครคิดอยากจะเอามันใส่มาไว้ในร่างกายของเราเป็นแน่ แต่หารู้ไม่ว่าพยาธิเหล่านี้สามารถอาศัยอยู่ในท้องของเราได้โดยเพียงแค่เราดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ไม่สะอาด หรือแม้แต่หายใจ ไข่พยาธิก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้แล้ว ! ซึ่งถ้าหากปล่อยเอาไว้เรื้อรังก็อาจทำให้ลำไส้เกิดการอุดตันและทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะค่ะ และไม่รับประทานอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ จะดีที่สุดจ้า


ไส้ติ่งอักเสบ 


ปวดท้อง

          ไส้ติ่งอักเสบ เป็นอาการที่คนจำนวนไม่น้อยต้องเคยพบเจอมาก่อน ซึ่งมักจะพบในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว และอาการอักเสบเหล่านี้ก็รุนแรงถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดอย่างกะทันหันเลย ถ้าหากไม่ทำการรักษาก็อาจจะทำให้เกิดการไส้ติ่งแตกจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เราสามารถสังเกตอาการได้โดยจะเริ่มปวดที่ช่องท้องส่วนกลางลามไปถึงช่องท้องด้านขวาส่วนล่าง และถ้าหากปวดมากขึ้นก็ควรไปพบแพทย์จะดีที่สุดค่ะ


แผลในกระเพาะอาหาร 


          แผลในกระเพาะอาหารและแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปวดท้องได้ โดยปกติแล้วอาการปวดที่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหารจะอยู่ในบริเวณช่องท้องส่วนกลางบน และบางครั้งก็เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร ซึ่งผู้ที่มีแผลในลำไส้เล็กส่วนบนมักจะตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง โดยสาเหตุสำคัญนั้นมาจากจากแบคทีเรีย แต่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา NSAID และ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. pylori) ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งให้เท่านั้น


เคี้ยวหมากฝรั่งไม่มีน้ำตาลมากเกินไป


          ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่เชื่อเถอะค่ะว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลมากเกินไปก็อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดท้องและท้องเสียได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าถึงแม้ว่าฉลากจะระบุว่าปราศจากน้ำตาล แต่แท้จริงแล้วในหมากฝรั่งนั้นก็ยังมีสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอยู่ และถ้าหากบริโภคมากเกินไปก็อาจทำให้ท้องเสียได้ โดยบทความวารสาร BMJ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2008 ได้กล่าวถึงหญิงวัย 21 ปี ที่เคี้ยวหมากฝรั่งถึงวันละ 16 แท่ง ทำให้น้ำหนักลดลงถึง 11 ปอนด์ (5 กิโลกรัม) แต่ก็มีอาการปวดท้องและท้องเสียร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีหญิงวัย 45 ปี ที่มีอาการใกล้เคียงกันเพราะเคี้ยวหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลวันละเกือบ 20 แท่ง และรับประทานของหวานที่มีส่วนผสมของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลทุกวัน

ความเครียด


          ความเครียดนอกจากจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว ความดันโลหิตสูง และนอนไม่หลับแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาภายในช่องท้องอีกด้วย โดยการศึกษาในปี 2012 ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร the journal Gut พบว่า ภาวะซึมเศร้ามีความเชื่อมโยงกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดความอยากอาหารน้อยลง น้ำหนักลด หรือแม้แต่เกิดภาวะลำไส้แปรปรวน นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยอีกว่า อาการปวดท้องเรื้อรังก็สามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ค่ะ

อาหารเป็นพิษ 


ปวดท้อง

          อาหารเป็นพิษมีสาเหตุมาจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ทำให้เราเกิดอาการปวดท้อง และท้องเสีย รวมถึงอาการอาเจียน โดยประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าในปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษถึง 20 คน จาก 7 รัฐ ที่ได้รับเชื้อซาลโมเนลลา (salmonella) จากการปนเปื้อนในเนื้อวัว ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีอาการแค่เพียง 1 - 2 วันเท่านั้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบร่วมด้วยก็อาจจะทำให้อาการยาวนานขึ้น และบางรายอาจมีอาการที่รุนแรง


โรคลำไส้อักเสบ


          โรคลำไส้อักเสบ เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นได้ทั้งในลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ซึ่งอาจจะรวมถึงอาการลำไส้บวมอีกด้วย อาการลำไส้อักเสบสามารถทำให้เกิดแผลและการอุดตันในลำไส้ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องและท้องเสีย บางรายอาจมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก ถ้าหากมีอาการเรื้อรังก็อาจเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคมะเร็งได้


ลำไส้แปรปรวน


          แม้ลำไส้แปรปรวนแตกต่างจากโรคลำไส้อักเสบ แต่ก็อาจจะนำไปสู่อาการปวดท้องเรื้อรังและการทำงานของลำไส้ที่ผิดปกติเช่นอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย เพียงแต่จะไม่มีอาการเลือดออกทางทวารหนัก ซึ่งอาการลำไส้แปรปรวนนี้จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยสามารถรักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวด และเช่นเดียวโรคลำไส้อักเสบ หากเรื้อรังเป็นเวลานานอาจจะทำให้เป็นโรคมะเร็งได้ในที่สุด

มะเร็ง


          มะเร็งเป็นความผิดปกติที่อันตราย ซึ่งสามารถเกิดกับทุกอวัยวะในร่างกายได้ แม้แต่ในช่องท้องไม่ว่าจะเป็นตับอ่อน กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี หรือรังไข่ โดยโรคมะเร็งสามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้สูญเสียความอยากอาหาร น้ำหนักลด อาเจียน ท้องอืดเรื้อรังได้อีกด้วย ดังนั้นถ้าหากไม่มีการขับถ่ายผิดปกตินานเกิน 3-4 วัน ก็ควรที่จะสังเกตอาการให้มากขึ้นด้วยค่ะ

          อาการปวดท้องไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยสำหรับเรานะคะ เพราะถึงแม้ว่าจะปวดเพียงนิดเดียว แต่เราก็ไม่ควรละเลยไม่ว่าจะเป็นการปวดท้องน้อย ปวดท้องข้างซ้าย หรือบริเวณอื่นและที่สำคัญเราควรจะสังเกตร่างกายของเราอยู่เสมอ ถ้าหากเกิดความผิดปกติขึ้นมาละก็ อย่าลืมไปพบแพทย์นะคะ ถ้าปล่อยเรื้อรังอาจจะสายเกินแก้ค่ะ
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดท้อง มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง มาดูอาการปวดท้องที่ต้องพึงใส่ใจ อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2567 เวลา 14:58:38 334,475 อ่าน
TOP
x close