อาการลำไส้ใหญ่อักเสบไม่ค่อยแสดงตัวมากนัก ทำให้หลายคนคิดว่าเป็นพฤติกรรมขับถ่ายตามความเคยชินของตัวเราเอง ทั้งที่จริง ๆ แล้วมีโอกาสเสี่ยงเป็นลำไส้อักเสบอยู่มาก
โรคลำไส้อักเสบ เป็นโรคฮิตของวัยทำงาน เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพนัก ทั้งกินไม่ตรงเวลา กินอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ ก่อให้เกิดอาการอักเสบในลำไส้ และทำให้เสี่ยงลำไส้อักเสบเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว
โรคสำไส้อักเสบเป็นที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์ในชื่อภาษาอังกฤษว่า IBD หรือ Inflammatory Bowel Disease เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีชื่อเรียกโรคนี้อย่างเป็นทางการ ทว่าอาการของผู้ป่วย IBD สามารถเรียกรวม ๆ ได้ว่า อาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง เนื่องจากเป็นกลุ่มอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ที่มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 15-30 ปี เกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และหากมีอาการลำไส้อักเสบเรื้อรังยาวนาน อาจเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เลย
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว คำว่า "โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง" มักจะหมายถึง 2 โรค คือ
- โรคโครห์น (Crohn’s disease) เป็นการอักเสบเรื้อรังที่มักเกิดในระบบทางเดินอาหาร สามารถเกิดได้ตั้งแต่ปาก ถึง ทวารหนัก แต่ส่วนใหญ่จะเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น เป็นแล้วอาจทำให้ลำไส้อุดตัน และผนังลำไส้อักเสบเป็นแผลลึกจนทะลุไปถึงอวัยวะอื่นที่อยู่ติดกันได้ รวมทั้งอาจมีภาวะโลหิตจางร่วมด้วย
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) หรือโรคยูซี จะเกิดที่ผนังลำไส้ใหญ่เท่านั้น เมื่อเกิดการอักเสบแล้วจะกลายเป็นแผลเล็ก ๆ และบวม ทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่สามารถดูดซึมน้ำจากอุจจาระได้ จึงเกิดอาการท้องเสีย หากเป็นมากอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ต้องบอกว่าสาเหตุของโรคลำไส้ใหญ่เกิดจากพฤติกรรมรับประทานอาหารของเราที่ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองลำไส้เป็นเวลานาน บวกกับภาวะความเครียดที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการกินด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหากเครียดแล้วกินไม่เป็นเวลา เครียดแล้วหาอาหารขยะรับประทานจนเสพติด หรือความเครียดส่งผลให้ลำไส้แปรปรวน ทำงานผิดปกติไป ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายก็จะปรวนแปรตามไปด้วย ก่อให้เกิดอาการท้องเดิน ปวดท้องบิดบ่อย ๆ จนเข้าใจผิดว่าเป็นปัญหาการขับถ่ายของตัวเอง ไม่ได้เอะใจว่าเป็นอาการของลำไส้อักเสบ
ลำไส้อักเสบ อาการเป็นอย่างไร
เพราะอาการลำไส้อักเสบไม่ได้แสดงออกชัดเจนมากนัก ส่วนใหญ่เลยมักจะคิดว่าเป็นอาการท้องเสีย ท้องเดินธรรมดา งั้นลองมาเช็กกันค่ะว่า ลำไส้อักเสบ อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- ปวดท้องกะทันหัน เนื่องจากลำไส้บีบตัว
- ปวดท้องเวลาเดิมซ้ำ ๆ
- ถ่ายอุจจาระบ่อย (5-10 ครั้งต่อวัน)
- บางครั้งปวดถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก
- ท้องเสียบ่อย ท้องเสียมาหลายวันแล้วยังไม่หาย
- ปวดท้องบิด
- ลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น อุจจาระเหลวเป็นน้ำ มีมูกเลือดปน กลิ่นเหม็นผิดปกติ หรืออุจจาระมีสีซีดกว่าเดิม
- บางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย
- คลื่นไส้ อาเจียน (บางราย)
- หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- บางรายที่เป็นหนักจะมีอาการท้องเดินและอาเจียนพร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม อาการลำไส้อักเสบมักจะค่อยเป็นค่อยไป แต่จะเป็นเรื้อรัง เนิ่นนาน จนคนไข้ไม่คิดว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบ ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษา ระยะหลัง ๆ อาจถ่ายมีเลือดปน หรือท้องเสียกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อย ๆ ทำให้เกิดแผลในลำไส้และการรักษาก็จะยากขึ้น นอกจากนี้ การเกิดแผลและการเสียดสีบริเวณที่อักเสบเป็นเวลานาน ก็ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ลำไส้อักเสบ รักษาได้ไหม
โรคลำไส้อักเสบรักษาได้ค่ะ โดยการรักษาจะมีอยู่ 3 แนวทางด้วยกัน ดังนี้
1. ประคองตามอาการ
เช่น หากถ่ายบ่อยครั้งก็จะให้น้ำเกลือ ORS เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หรือให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ร่วมกับให้ยาแก้ปวด และยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
2. รักษาที่ต้นเหตุ
วิธีนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุของโรค เช่น หากลำไส้อักเสบเพราะติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ หรือให้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อเกิดการติดเชื้อราในลำไส้ รวมไปถึงในกลุ่มผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน หรือโรคภูมิต้านทานตนเอง ก็จะได้ทำการรักษาโรคที่เป็นอยู่เป็นหลัก เพื่อให้อาการลำไส้อักเสบบรรเทาลง
3. ผ่าตัด
ในกรณีที่ใช้ยารักษาแล้วแต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจจะพิจารณาวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาพังผืดในลำไส้ออก (ในรายที่เป็นมานานและไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้ลำไส้ตีบ และเป็นเหตุให้มีปัญหาสุขภาพจากภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารจากอาหารที่กินเข้าไปได้
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคลำไส้อักเสบเบื้องต้นคือการปรับพฤติกรรมการกิน หันมารับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่ให้วิตามินและแร่ธาตุมากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ผนังลำไส้ และช่วยปรับระบบการย่อยอาหารให้คงที่นั่นเอง
ลำไส้อักเสบ กินอะไรได้บ้าง
ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบควรกินอาหารดังต่อไปนี้
- ผลไม้สุกเนื้อนิ่ม เช่น มะละกอ กล้วยสุก และผักใบเขียว เช่น คะน้า กวางตุ้งต้มสุก เพื่อให้ได้โฟเลตและใยอาหารที่ละลายน้ำได้
- ฟักทอง แครอตต้มสุก เพื่อให้ได้วิตามินเอและเบต้าแคโรทีน
- ปลาที่มีไขมันดีสูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน เพื่อให้ได้วิตามินดีและบี 12
- อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ปลา กุ้ง หอย ผักกูด ผักโขม เพื่อชดเชยการสูญเสียเลือด
ลำไส้อักเสบ กับอาหารที่ต้องระวัง
ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบไม่ควรกินอาหารดังต่อไปนี้
- ผักผลไม้ดิบที่ย่อยยาก ถั่วและธัญพืชเปลือกแข็ง
- ผลไม้รสจัด มีความเป็นกรดสูง เช่น สับปะรด
- อาหารไขมันสูง และนม-เนย
- อาหารรสจัดทุกชนิด
- อาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์
ทั้งนี้คนที่เป็นลำไส้อักเสบมักพบว่ามีโลหิตจางด้วย เนื่องจากมีเลือดออกบริเวณที่อักเสบตลอดเวลา จึงควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง เพื่อให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กมาใช้ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พยายามอย่าเครียด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และหมั่นออกกำลังกาย รวมไปถึงพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ
อ้อ ! และหากพบความผิดปกติในระบบขับถ่าย การย่อยอาหาร ถ่ายมีมูกเลือดปน ปวดถ่ายบ่อย ๆ กรณีนี้ลองให้แพทย์ตรวจเช็กอาการกันสักนิดจะดีกว่า เพราะโรคลำไส้อักเสบรู้ตัวเร็วก็รักษาได้ง่ายขึ้น
***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 2 พฤษภาคม 2561
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์